Friday, February 24, 2017

#8 Led Zeppelin :: Led Zeppelin II (1969)


"ทำไมคนบางพวกถึงชอบฟังดนตรีเฮฟวี่ ทั้งๆที่ธรรมชาติของมนุษย์น่าจะชอบอะไรที่ให้ความสุขแก่โสต ไม่ใช่เสียงสนั่นหวั่นไหวและความรุนแรงก้าวร้าว นักร้องแหกปากตะโกนอะไรก็ไม่รู้ คนพวกนี้โรคจิตหรือเปล่า?"
---------
จิมมี่ เพจ อดีตนักกีต้าร์ประจำห้องอัดมือฉมังและสมาชิกวง The Yardbirds และลูกวงที่เขาสรรหามาจากสรวงสวรรค์อย่าง โรเบิร์ต แพลนต์, จอห์น พอล โจนส์ และ จอห์น บอนแฮม ได้ประกาศให้โลกรับรู้ตั้งแต่อัลบั้มแรกของพวกเขาในต้นปี 1969 แล้วว่าพวกเขาคือของจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ตั้งแต่วินาทีแรก รากฐานอันหนักแน่นจากเพลงบลูส์และโฟล์ค ฝีมือและพลังอันเชี่ยวกรากของสมาชิกทุกคน และวิสัยทัศน์ทางดนตรีของเพจที่รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์เองด้วย ทำให้ Led Zeppelin อัลบั้มเปิดตัวของพวกเขาเป็นปรากฎการณ์แห่งดนตรีร็อค

พวกเขาบันทึกเสียงอัลบั้มแรกกันด้วยเวลาเพียง 30 ชั่วโมง (เพจยืนยันหนักแน่นในข้อมูลตรงนี้ เพราะเขาเป็นคนจ่ายค่าห้องอัดเอง) แต่มันเป็นในช่วงหลังจากที่พวกเขาฟอร์มวงกันมาแล้วระยะหนึ่งและออกทัวร์ยุโรปมาด้วยกันพักหนึ่งแล้ว ฝีมือและความเข้าขาในกันและกันจึงอยู่ในระดับสื่อสารกันทางจิต แต่ก็เหมือนหลายๆศิลปินที่ทำงานชุดแรกออกมาได้อย่างสุดยอด ปัญหาคือพวกเขายังจะมีอะไรที่จะไปต่ออีกไหมในอนาคต ไม่ต้องพูดกันให้ไกล ก็อัลบั้มที่สองนี่แหละ...!!

แววว่างานชุดต่อมาของ Zep น่าจะมีปัญหาก็คือพวกเขาแทบไม่มีเวลาเป็นชิ้นเป็นอันในการทำอัลบั้มนี้เลย ด้วยเวลาทั้งหมดของพวกเขาหมดไปกับการทัวร์คอนเสิร์ตอันหนักหน่วง (และผลพวงพลอยได้พลอยเสียจากการทัวร์นี้ อาทิ สาวๆ เหล้ายาปลาปิ้ง และการทำลายโรงแรม อันเป็นความสามารถระดับตำนานอีกประการหนึ่งของวง) เพจและลูกทีมอาศัยการแต่งเพลงในห้องพักโรงแรม, ไอเดียลูกริฟฟ์ที่มักจะคิดได้ในขณะอิมโพรไวส์เพลง Dazed and Confused บนเวทีเมื่อคืนก่อนหน้า, บันทึกเสียงตามเมืองต่างๆแล้วแต่จะมีเวลาที่ไหนเมื่อไหร่ โดยแต่ละห้องอัดก็มีสภาพแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่โอลิมปิก และ มอร์แกนสตูดิโอในลอนดอน, เอแอนด์เอ็ม,ควอนตัม,มิเรอร์ซาวนด์ในแอลเอ, ห้องอัดเล็กๆที่ขนานนามกันว่า "กระท่อม" ในแวนคูเวอร์ แพลนต์เล่าเรื่องนี้ไว้อย่างสนุกว่า "มันโคตรจะบ้าบอ, เราแต่งเพลงกันในโรงแรมแล้วก็ไปอัดแบ็คกิ้งแทร็คในลอนดอน, ไปใส่เสียงร้องในนิวยอร์ค,อัดเสียงฮาร์โมนิก้าทับลงไปที่แวนคูเวอร์ แล้วก็มากลับมามิกซ์ตอนสุดท้ายในนิวยอร์ค"

ถ้าพวกเขาจะตั้งชื่อให้อัลบั้มนี้เป็นชื่ออื่นนอกจาก II มันก็อาจจะเป็น Zep On The Move และแม้ว่าจะอัดเสียงกันหลายต่อหลายที่ ซาวนด์ของอัลบั้มกลับฟังดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวไม่แปลกแยก มันไม่ใช่อัลบั้มที่มีซาวนด์เนี้ยบนิ้ง (ในแง่ของ fidelity ผลงานชุดนี้อ่อนด้อยกว่าชุดแรก) แต่ II มีความดิบสดของสุ้มเสียงที่ไม่เหมือนอัลบั้มใดๆของ Zep และความรีบเร่งฉุกละหุกตลอดการผลิต กลับทำให้มันเต็มไปด้วยความทรงพลังและเซ็กซี่ที่ทุกคนสัมผัสได้ทั้งในดนตรีและเนื้อหา

นอกจากเพจเองที่ทำให้สุ้มเสียงของ Led Zeppelin II ออกมาได้ยอดเยี่ยมแบบนี้ก็ต้องของคุณ Eddie Kramer เอ็นจิเนียร์ชื่อดัง (เขาเพิ่งมิกซ์อัลบั้ม Electric Ladyland ให้จิมี่ เฮนดริกซ์) ที่มานั่งมิกซ์กับเพจด้วยสองวันเต็มๆ เครเมอร์เล่าถึงการมิกซ์เสียงในช่วงกลางเพลง Whole Lotta Love ที่ทั้งหลอนทั้งพลิ้วกันอุตลุตว่า "ไอ้ตรงช่วงที่ทุกๆอย่างกำลังอลหม่านนั่น จริงๆแล้วก็คือการผนวกพลังของผมกับเพจพล่านกันไปทั่วคอนโซลเล็กๆ หมุนปุ่มทุกปุ่มที่มนุษย์ชาติเคยรู้จักกันมา"

เมื่อพูดถึง Whole Lotta Love มันคือมหากาพย์อีกด้านของ Zep ที่แม้แต่ Stairway To Heavenก็ยังมิอาจสยบ ริฟฟ์สั้นๆของเพจในแทร็คนี้คือความยิ่งใหญ่ของดนตรีฮาร์ดร็อคที่เทียบได้กับสี่โน๊ตในซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเบโธเฟน, บอนแฮมได้โชว์ฝีมือกลองระดับอัจฉริยะที่ไม่ได้มีแต่ความหนักหน่วงเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ใครเข้าใจ, และแพลนต์..กับ every inch of his love.....อาจจะมีผู้ชายที่ร้องเพลงได้เซ็กซี่มากมายในโลก แต่จะมีใครเซ็กซี่แบบดิบเถื่อนและมีระดับในตัวเองได้เหมือนโรเบิร์ต? ถ้าเพลงนี้จะมีปมด้อยหรือราคีก็ตรงข้อหาหยิบยกบางส่วนมาจากเพลง You Need Love ของ Willie Dixon แต่ก็ตกลงกันไปนอกศาลเรียบร้อยไปนานแล้ว Led Zeppelin II มีปัญหากับการละเมิดลิขสิทธิ์ตรงนี้อยู่หลายเพลงทีเดียว

เคล็ดลับที่ไม่ลับที่เพจมักกล่าวถึงเสมอคือหลักการ 'light and shade' (มีเบา...มีหนัก) ในการบรรเลงของ Zep และWhat is and What should never be ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ว่ากันว่าแพลนต์แอบแต่งเพลงนี้ให้กิ๊กคนโปรดของเขา (เพื่อความสมดุลย์กับ Thank You ที่แต่งให้ภรรยาในอีกไม่กี่แทร็คถัดมา) อารมณ์เพลงนี้ออกไปทาง jazzy พลิ้วๆมาก ก่อนที่จะมาลง 'shade' ในช่วงคอรัสให้สมเป็นวงฮาร์ดร็อคสักหน่อย

The Lemon Song ก็เป็นอีกเพลงที่มีแหล่งอ้างอิงจากเพลงบลูส์เก่าๆ คราวนี้เป็น 'Killing Floor' ของ Howlin' Wolf และเนื้อร้องบางส่วนจาก Travellin' Riverside Blues ของ Robert Johnson แต่ฝีมือการบรรเลงของพวกเขาในแทร็คนี้ถือว่ามหาเทพ โดยเฉพาะลูกโซโล่ติดสปีดของเพจและการร่ายมนต์เบสสุดล้ำตลอดเพลงของโจนส์

Thank You เพลงช้าหวานที่แพลนต์แต่งเสียเยิ้มให้มัวรีนภรรยาสุดเลิฟ โจนส์เล่นออร์แกนในแทร็คนี้เสียงร้องของโรเบิร์ตบางช่วงฟังคล้ายร็อด สจ๊วต

ถึงตอนนี้ถ้าเป็นแผ่นเสียงก็ต้องพลิกมาเป็นหน้าบีที่เปิดตัวอย่างสุดสะท้านฟ้าด้วย Heartbreaker ช้า,หนัก เหมือนรถตีนตะขาบที่บดขยี้ไปข้างหน้า นี่คือเพลงโชว์เคสของเพจที่มีท่อน unaccompanied (คนอื่นหยุดหมด) มันลือลั่น ก่อนที่จะโซโล่อย่างเมามันส์พร้อมกับผองเพื่อน ต่อกันแบบแทบไม่เว้นช่องไฟด้วย Livin' Lovin' Maid (She's Just A Woman) ที่น่าจะเป็นเพลงที่"โจ๊ะ"ที่สุดของพวกเขา อาจจะดูง่ายไปหน่อยสำหรับ Zep แต่ก็ไม่บ่อยที่จะเห็นพวกเขาสนุกกันแบบนี้ในบทเพลง สมาชิกของวงส่วนมากจะไม่ค่อยชอบเพลงนี้ แต่ผมชอบนะ มันดูสนุกสนานและติดดินในแบบบ้านๆดี ที่ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาก็เล่นกันได้

Ramble On เนื้อหาได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของJ.R.R. Tolkien (Lord of The Rings) (จึงไม่น่าประหลาดใจที่เนื้อเพลงดูสละสลวยสวยงามเป็นพิเศษ) อคูสติกกีต้าร์โดดเด่น และคาแรกเตอร์ของบทเพลงที่ชี้ไปถึงอนาคตของพวกเขาใน Led Zeppein III

น่าเสียดายที่เพลงโชว์กลองของบอนแฮม Moby Dick กลับไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ช่วงโซโล่กลองของเขาดูเหงาๆ แทร็คนี้อาจจะเหมาะกับการเล่นไลฟ์มากกว่า ซึ่งบองโซ่มักจะโชว์การฟาดกลองด้วยมือเปล่า เรียกโลหิตออกมาเป็นขวัญตาผู้ชมเสมอ

และปิดท้ายด้วย Bring It On Home เพลงบลูส์ของ Willie Dixon ที่แพลนต์และเพจนำมาแต่งต่อโดยไม่ได้ให้เครดิตแก่ดิกซันอีกครั้ง นำมาซึ่งการฟ้องร้องอีกครา เป็นแทร็คที่ Zep ชอบนำมาเล่นในคอนเสิร์ตจนกระทั่งปี 1973
--------
ดนตรีเฮฟวี่ ไม่ได้มีแต่ความรุนแรงเพียงอย่างเดียว จริงล่ะ เฮฟวี่บางแขนงอาจจะอัดและแหกปากกันอย่างไม่ลืมหูลืมตาทุกวินาที แต่นั่นเป็นเพียงส่วนน้อย เฮฟวี่ส่วนใหญ่จะมีหนักมีเบา มีความคิดสร้างสรรค์ของการเรียบเรียงดนตรีให้รับใช้สิ่งที่พวกเขาต้องการนำเสนอในเนื้อหา ไม่เถึยงว่า คนชอบเฮฟวี่ส่วนหนึ่งก็ย่อมเป็นคนที่รู้สึกว่าเสียงกีต้าร์ที่รวดเร็วกรีดบาด,เบสกลองถล่มทลายและเสียงร้องสูงปรี๊ดทรงพลังเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุข และอาจเป็นการบำบัดอย่างหนึ่งต่อใจที่ถูกกดดันจากสภาพแวดล้อมสารพัด แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด เพลงเฮฟวี่มักจะเป็นงานสร้างสรรค์ที่เกิดจากใจ และต้องการให้มันคงอยู่ไปตลอด ทั้งด้านเนื้อหาและดนตรี และนั่นคือคุณค่าที่แท้จริงของดนตรีสายหนักนี้ และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้คนชอบเพลงเฮฟวี่ เข้าใจไหม มิตรสหาย?
ถ้ายังไม่เข้าใจก็เอาไปฟังซะ Led Zeppelin II.

No comments:

Post a Comment