"ผลการทดลองปรากฏว่า....."
Revolver อัลบั้มที่ 7 ของ The Beatles ซึ่งถ้าจะนับจริงๆมันเป็นอัลบั้มที่เจ็ดในช่วงเวลาแค่ 3 ปีเท่านั้นนับจากแผ่นลองเพลย์แผ่นแรก Please Please Me ตอนต้นปี 1963 สามปีที่ผ่านมาแม้จะไม่ได้อยู่ในห้องอัดเสียงกันนานนักแต่พวกเขาก็ได้เรียนรู้อะไรต่างๆมากมายในสตูดิโอนับจากวันแรกที่แม้แต่ใส่หูฟังเล่นกีต้าร์ไปด้วยก็ยังทำไม่ค่อยถนัด จวบจนวันนี้ที่พวกเขาถึงขั้นชี้นิ้วสั่งวิศวกรบันทึกเสียงได้
จะบอกว่า Revolver เป็นงานแนว"ทดลอง"ของสี่เต่าทองก็ว่าได้ มันเป็นการทดลองที่มีสมมุติฐานง่ายๆว่า ดนตรีป๊อบ-ร็อคนั้นไม่มีพรมแดนใดๆที่จะก้าวข้ามไปไม่ได้ พวกเขาลองอะไรแปลกๆหลายอย่างในการบันทึกเสียง ดนตรีในแต่ละเพลงก็หลากหลายไปคนละแนวแทบจะสิ้นเชิง ด้านเนื้อหาก็ทำได้น่าสนใจ ใช้คำสั้นกระชับและมีมุมมองที่ไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อนในแทบทุกเพลง
หน้าปกเป็นฝีมือภาพลายเส้นของ Klaus Voorman เพื่อนเก่าสมัยเยอรมันของพวกเขาผนวกกับงานตัดปะ collage ที่เคลาส์ทำเอง เป็นปกอัลบั้มของ Beatles ที่ผมว่า cool ที่สุดแล้วครับ คือมันอาจจะไม่อลังการเท่า Sgt. Pepper's หรือคลาสสิกแบบ Abbey Road แต่มันเท่น่ะ...
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกที่ผมจะรู้สึกอย่างเดียวกันกับตัวงานดนตรีข้างใน
จอร์จ แฮริสันไม่ค่อยได้มีบทบาทนักในฐานะนักแต่งเพลงในวง แต่งานนี้เพลง Taxman ของเขากลับได้รับเกียรติตัดริบบิ้น เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวกับคนขับแท็กซี่ แต่ต่อว่าการขูดรีดภาษีของรัฐบาลอังกฤษยุคนั้นได้อย่างมันส์ปากเขาล่ะ ว่ากันว่าจอห์นมีส่วนช่วยเขียนเนื้อด้วยบางส่วน เสียงเบสของพอลโดดเด่นขึ้นกว่างานเก่าๆอย่างชัดเจน (อาจเป็นเพราะเขาเปลี่ยนมาใช้ rickenbacker หรืออาจเป็นเพราะฝีมือเอ็นจิเนียร์คนใหม่-Geoff Emerick) แถมท่อนโซโลกีต้าร์พอลก็ยังรับบทนำอีก (ข่าววงในบอกว่าจอร์จพยายามเล่นอยู่หลายชั่วโมงแต่ไม่เวิร์ค ก็เลยต้องให้พอลลองบ้าง ซึ่งเขาทำได้อย่างง่ายดาย สร้างความเซ็งให้จอร์จพอสมควร) จอร์จยังได้โควต้าอีกสองเพลง เขาส่งเพลงแขกเต็มตัว Love You To เข้าประกวด จอร์จเล่นซีต้าร์ ริงโก้เคาะแทมโบรีน ร่วมกับนักดนตรีอินเดียอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนอีกเพลงของจอร์จไปโผล่ที่หน้าสอง I Want To Tell You
ฝีมือการแต่งเพลงของพอล แมคคาร์ทนีย์รุดหน้าเข้าขั้นเทพเจ้า แต่ละเพลงในอัลบั้ม Revolver ของพอลเหมือนจะพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง Eleanor Rigby ที่เล่นกับเครื่องสายและเนื้อหาอย่างกล้าหาญ Here, There And Everywhere เป็นคลาสสิกป๊อบที่ทั้งจอห์นและพอลก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเพลงที่ดีที่สุดของพอล Yellow Submarine เพลงsing-along ที่ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ ฟังครั้งเดียวก็ต้องร้องตามได้ ริงโก้รับบทร้องนำ กลางเพลงพวกเต่าทองเล่นกับซาวนด์เอ็ฟเฟ็คกันสนุก Good Day Sunshine เพลงง่ายๆของพอลที่แต่งและบันทึกเสียงกันอย่างรวดเร็วเป็นเพลงเปิดหน้าสอง For No One บัลลาดคลาสสิกแสนเศร้า โดยเฉพาะเสียงเฟรนช์ฮอร์นหม่นหมองนั่น (อลัน ซีวิลเป็นคนเป่า ปกติเขาเป็นนักดนตรีคลาสสิกวง Philharmonia พอมาเป่าเพลงนี้เขาก็ดังไม่รู้เรื่องไปเลย) พอลเล่นกับเครื่องเป่าอีกครั้งในเพลงที่ออกจะฟังกี้หน่อยๆ Got To Get You Into My Life ซึ่งพอลอุทิศให้ที่รัก...กัญชา พอลเริ่มต้นเครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิตกับทรัมเป็ต นั่นอาจจะทำให้เขากลับมาเล่นกับพวกเครื่องเป่าอยู่หลายครั้งในดนตรีของ Beatles
จอห์น เลนนอน เพลงของเขาอาจจะมีคุณค่าหรือความงดงามทางดนตรีสู้พอลไม่ได้ แต่หลายเพลงใน Revolver เขาก็ขโมยซีนไปไม่น้อย ตั้งแต่เพลงยานคางที่มีกีต้าร์ย้วยยอกย้อน I'm Only Sleeping ร็อคดิบๆเจือกีต้าร์โทนอินเดีย She Said She Said (ริงโก้ฟาดกลองได้ราวกับ Elvin Jones) ป๊อบไร้สาระแต่ทำนองสุกสว่างอย่าง And Your Bird Can Sing (เพลงนี้ตัวจอห์นเองเกลียดมาก) หรือจะเป็นเพลงอุทิศให้พ่อค้ายาอย่าง Dr. Robert อันมีเสียงประสานหลอนโคตร
และเพลงสุดท้าย Tomorrow Never Knows ก็คือมหากาพย์แห่งการทดลองทางกการบันทึกเสียงแห่งยุค พวกเขาประเคนความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีล่าสุด ณ ตอนนั้นลงไปในเพลงนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำดับเบิลแทร็คเสียงร้องแบบเทียม การส่งผ่านเสียงร้องผ่านลำโพงของออร์แกนเพื่อให้ฟังดูเหมือนองค์ดาไลลามะส่งเสียงเทศน์ลงมาจากยอดเขาตามที่จอห์นปรารถนา การเล่นกับเทปลูปอย่างเมามัน แถมเนื้อหาฟังแล้วอยากจะฉีดเอฟรีดินเข้าปากคนร้องให้ตายๆไปซะ!
ถ้า Revolver เป็นงานทดลอง ผลการทดลองที่ได้ก็คงเป็นไปตามสมมุติฐานครับ พวกเขาก้าวข้ามพรมแดนไปได้ทั้งหมด มันเป็นอัลบั้มที่แสดงให้โลกรู้ว่า จงกล้าที่จะทำตามจินตนาการอันเพริดแพร้วนั้นเถิด แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำ หรือแม้แต่เคยคิดมาก่อน
No comments:
Post a Comment