Wednesday, February 8, 2017

#27 Yes :: The Yes Album (1971)

<ครั้งแรกที่ใช่>
มันน่าจะเป็นอัลบั้มที่ยังไม่พร้อมดีนัก
การดีไซน์ปกและโลโก้ของโรเจอร์ดีนยังมาไม่ถึง
ริค เวคแมนยังเล่นคีย์บอร์ดให้วง Strawbs อยู่
ตำแหน่งตรงนี้ยังเป็นเสียงโบราณๆจากออร์แกนของ Tony Kaye.
Steve Howe ก็เพิ่งมาถึง
มันไม่ควรจะเป็นอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Yes
ตำแหน่งนั้นน่าจะเป็นสำหรับ Close To The Edge มากกว่า
แต่ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่างทำให้ผมเลือกชุดนี้อยู่อันดับสูงกว่า
เหตุผลนั้นอาจจะอยู่ในรีวิวเก่าๆอันนี้ที่ผมเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน
ลงใน 'Bloggang' (ใครยังจำได้?)
เชิญอ่านครับ
*******************
Yes: The Yes Album (1971) *****
Produced by Yes, Eddie Offord
Genre: Progressive Rock
จอน แอนเดอร์สัน ร้อง/เพอร์คัสชั่น
คริส สไควร์ เบส/ร้อง
สตีฟ ฮาว กีต้าร์/ vachalia/ ร้อง
โทนี่ เคย์ เปียโน/ออร์แกน/มู๊ก
บิล บรูฟอร์ด กลอง/เพอร์คัสชั่น

เยสเป็นวงดนตรีแนวซิมโฟนิคโปรเกรสซีพร็อคและเป็นหนึ่งในห้าของวงดนตรีที่เป็นเสาหลักของวงการดนตรีโปรเกรสซีพ อัลบั้มนี้บันทึกเสียงกันที่ลอนดอนในหน้าหนาวของปี 1970และออกจำหน่ายในปี 1971 โปรดิวซ์โดย เยสและเอ็ดดี้ ออฟฟอร์ด ชื่ออัลบั้มดูเหมือนจะเป็นอัลบั้มแรกของพวกเขา แค่ความจริงเป็นอัลบั้มที่สาม การตั้งชื่ออย่างนี้แสดงความมั่นใจในผลงานชุดนี้ และมันก็เยี่ยมจริงๆเป็นอัลบั้มคลาสสิกชุดแรกของพวกเขาก่อนที่จะมีงานเด็ดๆตามมาอีกหลายแผ่น

Peter Banks มือกีต้าร์ (เขาเป็นคนคิดชื่อวงด้วยหลักการที่ว่าชื่อยิ่งสั้นยิ่งพริ้นท์บนหน้าปกได้ตัวใหญ่ขึ้น-ลองดูหน้าปกแรกของพวกเขาสิครับ) ถูกเชิญออกจากวงด้วยข้อหาไม่ขยันมาซ้อมเท่าที่ควร โรเบิร์ต ฟริปป์แห่ง King Crimson ได้รับเทียบเชิญแต่ฟริปป์ปฏิเสธ ตำแหน่งนี้สุดท้ายจึงมาตกที่ Steve Howe สตีฟเป็นมือกีต้าร์ที่เหมาะสำหรับดนตรีของเยสเป็นที่สุด เขาเล่นได้มหากาฬทั้งบู๊และบุ๋น ริฟฟ์แบบฮาร์ดร็อค คันทรี่โฟล์คแบบเช็ต แอทกินส์ หรือ คลาสสิคัลกีต้าร์ก็ไม่ยั่น ขอให้บอกมาเถอะ เยสให้เกียรติเขาด้วยการปล่อยให้สตีฟโชว์เดี่ยวในเพลง The Clap (เวอร์ชั่นเป็นทางการในอัลบั้มเป็นการแสดงสด แต่ในเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์เมื่อปี 2003 จะมีเพลงแถมในแบบสตูดิโอเวอร์ชั่น-ตลกดี)

เยสชุดนี้ถึงแม้จะไม่ใช่ยุคคลาสสิกไลน์อัพ เพราะขาดพ่อมดคีย์บอร์ด ริค เวคแมนไป (เขาจะมาในอัลบั้มหน้า) โทนี่ เคย์ เล่นคีย์บอร์ดในชุดนี้ แม้เขาจะไม่มีลีลาที่น่าตื่นตะลึงหรือเทคนิคในการใช้ซินเธอะไซเซอร์ได้ล้ำเท่าริค แต่ผมก็ชอบสไตล์โบราณของเขานะ การใช้ Moog ของเขาก็ฟังดูเข้ากับบทเพลงดี แต่สำหรับผู้ที่ต้องการจะฟังว่าถ้าริคมาเล่นเพลงในชุดนี้จะเป็นอย่างไรก็สามารถหาฟังได้ในเวอร์ชั่นแสดงสดที่จะออกตามมา อาทิเช่นในYessongs 5 เพลงในหกจากชุดนี้เป็นเพลงคลาสสิคของเยสที่พวกเขานำมาเล่นในการแสดงสดอย่างสม่ำเสมอ แม้ทุกวันนี้


Yours Is No Disgrace เยสเปิดอัลบั้มด้วยเพลงยาว 9 นาที 41 วินาที สตีฟ โทนี่ และ บิล ดวลเครื่องมือกันอย่างสนุกถึงสองช่วง ดนตรีน่าตื่นเต้นตลอดความยาว

Starship Trooper ผู้เชี่ยวชาญยกให้นี่เป็นเพลงระดับชั้นเลิศเพลงแรกของเยส ความยาวเก้านาทีกว่าเช่นกัน แบ่งเป็นสามท่อนที่แต่งโดยสามสมาชิก เนื้อหาได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายวิทยาศาสตร์ เบสของคริส สไควร์เด่นตลอด (เขาเป็นมือเบสที่เล่น melodic ได้ไพเราะที่สุดคนหนึ่ง) ผมชอบท่อนสอง-Disillusion ที่คริสแต่งที่สุดครับ (แต่ในท่อนนี้สตีฟกลับเด่นสุดในการสับคอร์ดอคูสติกกีต้าร์)

I've Seen All Good People เพลงที่ฟังง่ายที่สุดในชุด ยาว(แค่) เฉียดเจ็ดนาที ทำนองเด่น ประสานเสียงไพเราะ และจังหวะที่ไม่ซับซ้อนเท่าเพลงอื่น

A Venture เปียโนแบบบาร็อค ท่วงทำนองสไตล์พอล แมคคาร์ทนีย์ แต่ซ่อนเงื่อนกว่าหลายปม จอน แอนเดอร์สันแต่งครับ

Perpetual Change งานของจอนและคริส ปิดท้ายอัลบั้มอย่างยิ่งใหญ่ที่ความยาว 8.50 นาที

ผมได้ฟังสามเพลงจากชุดนี้เป็นครั้งแรกจาก Classic Yes (งานรวมฮิตที่มีหน้าปกสวยที่สุดจากฝีมือโรเจอร์ ดีน) และมาได้ฟังเต็มๆจากซีดีฝีมือการทำมาสเตอร์ของ โจ กาสเวิร์ทนิตยสาร MOJO ยกให้นี่เป็นหนึ่งใน 30 อัลบั้มโปรเกรสซีพที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีมา สำหรับผมนี่คือ Yes ที่ผมชอบที่สุดครับ (ชอบมากกว่า Fragile หรือ Close To The Edge นิดหน่อย)

tracklist: Yours is No Disgrace / Clap / Starship Trooper / I've Seen All Good People / A Venture / Perpetual Change

No comments:

Post a Comment