"งานเดี่ยวชิ้นแรกของพอล ในโลกที่ไม่มีจอห์น"
Tug Of War เป็นอัลบั้มแรกของพอล แมคคาร์ทนีย์ที่ผมซื้อมาฟังในแบบ real-time กล่าวคือไม่ได้ซื้อย้อนหลัง ฟังตอนมันออกใหม่ๆเลย ผมเดาว่าผมคงเคยได้ยิน Ebony And Ivory จากวิทยุหรือที่ไหนสักแห่งมาก่อนแล้ว แต่น่าจะไม่เคยฟังเพลงอื่นๆก่อนที่จะได้ฟังจากเทปอีเอ็มไอม้วนนั้นที่ซื้อจากร้านเล็กๆชั้นใต้ดินของราชดำริอาเขตตอน summer ของปี ๒๕๒๕ นั้น (ผมเป็นคนไม่ค่อยฟังวิทยุมาตั้งแต่ไหนแต่ไร) ราคาปกถ้าจำไม่ผิดน่าจะ 70 บาท...(ใช่ไหม)
Tug Of War คือการเริ่มต้นอย่างจริงจังของ phase ที่ 3 ของชีวิตนักดนตรีของพอล ถ้าเราจะนับ Beatles เป็น phase 1 และ Wings คือ phase 2 นับแต่นี้ไปพอลคือ solo artist ที่ทำงานในชื่อของตัวเอง (ไม่นับ side projects บ๊องส์ๆที่เขาทำออกมาแก้เซ็งเป็นระยะๆ) งานเดี่ยวก่อนหน้านี้ของเขาคือ McCartney II ที่เป็นงาน"โซโล"จริงๆ คือพี่แกเล่นคนเดียวทุกอย่าง งานจึงออกมาเหมือนงานทดลองหรือเดโมที่น่าจะทำออกมาได้ดีกว่านี้ (แต่บางคนก็ชอบความแหวกของมัน)
แต่ Tug Of War เป็นสิ่งตรงข้าม มันคือ Pop ที่เนี้ยบสุดๆ พอลเชิญ จอร์จ มาร์ตินกลับมาโปรดิวซ์ให้อีกครั้ง (ก่อนหน้านี้และหลังจาก Beatles ทั้งสองเคยร่วมงานกันแค่ใน single Live And Let Die) เพื่อความมั่นใจว่างานนี้ดนตรีต้องออกมาสมบูรณ์แบบ พอลยังคัดเลือกนักดนตรีฝีมือระดับโลกอย่าง Steve Gadd, Stanley Clarke มาร่วมงานด้วย รวมทั้งซี้เก่าอย่างRingo Starr และตำนานร็อคแอนด์โรล Carl Perkins
Tug Of War เป็นงานของพอลในวัย 40 ที่มองโลกในแง่มุมที่ต่างออกไป จอห์น เลนนอน ถูกยิงตายในเดือนธันวาคม 1980 ก่อนที่พอลจะบันทึกเสียงอัลบั้มนี้อย่างจริงจัง เขาใช้เวลาร่วมหนึ่งปีในการทำงานอัลบั้มนี้ ซึ่งผลออกมาคุ้มค่า ทั่วโลกยกย่องว่านี่เป็นการกลับมาของพอลอีกครั้งสำหรับงานป๊อบ และยอดขายก็ไม่ได้ขี้เหร่แต่อย่างใด
พอลเปิดตัวด้วยซิงเกิ้ลที่เขาร้องกับ Stevie Wonder ตำนานโมทาวน์ในเพลง Ebony and Ivory ที่เขาได้ไอเดียจากบทสุนทรพจน์ของ Spike Milligan เปียโนมีทั้งคีย์ดำและขาวที่ต้องเล่นไปด้วยกันจึงจะได้ harmony ก็เหมือนกับโลกเราที่ต้องมีทั้งคนขาวและดำอยู่ด้วยกัน.. Take It Away เป็นซิงเกิ้ลที่สองที่คึกคักน่าฟังด้วยเสียงกลองจากสองตำนาน ริงโก้และสตีฟ แกดด์ เสียงคีย์บอร์ดเลียนเสียงเครื่องเป่าได้เกือบเหมือนจริง
Here Today เป็นอคูสติกบัลลาดเศร้าๆที่พอลเขียนให้จอห์น แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่ออดีตเพื่อนรักตรงๆ Get It พอลร้องกับคาร์ล เพอร์กินส์อย่างสนุก Ballroom Dancing ร็อคแอนด์โรลแบบ 50's ทำนองสวย เล่าเรื่องสมัยยุค Ballroom เฟื่องฟุ้ง
Somebody Who Cares คือเพลงที่ผมชอบที่สุดในแผ่น พอลเล่นสแปนิชกีต้าร์ และมันเป็นเพลงเดียวที่เขาแต่งสดๆในห้องอัดต่อหน้าสตีฟ แกดด์และสแตนลีย์ คลาร์ค (อย่างจงใจจะโชว์-เพื่อสร้างอารมณ์ให้สองนักดนตรี-แกว่าไว้อย่างนั้น)
ไทเทิลแทร็คมีเนื้อร้องที่ฟังตอนนี้แล้วน่าตกใจว่าสิ่งที่เขาพูดไว้นั้นเป็นจริงจริงๆ "In years to come, we may discover, that the air we breathe and the life we lead is all about, but it won't be soon enough, for me."
นานๆที ผมถึงจะนำอัลบั้มนี้มาฟังสักครั้ง คุณมีไหมครับ อัลบั้มที่ฟังจนขึ้นใจ ไม่มีความจำเป็นต้องเปิดอะไรกันบ่อยอีกแล้ว
No comments:
Post a Comment