Friday, February 24, 2017

#13 Travis :: The Man Who (1999)




สุข หวาน เศร้า ชัยชนะของผู้แพ้
----------------------
The Man Who

Who ไหน? ชื่อชุดนี้เหมือนอยากจะแขวนเราไว้กลางประโยคที่ไม่ยอมพูดให้จบ แม้จะใส่เครื่องหมายคำถามหรือ ... เสียหน่อยก็ไม่ได้ ด้วยความลำเอียง ผมคิดว่าเป็นความจงใจทางศิลปะของ Travis เลย ที่จะเล่นกับอารมณ์คนฟังตั้งแต่ชื่ออัลบั้ม แต่สำหรับคนที่ไม่อยากคาใจ ชื่อนี้เอามาจากหนังสือ The Man Who Mistook His Wife For A Hat ของ neurologist ชื่อ Oliver Sacks คุณคงรู้ว่าจะหามาอ่านได้อย่างไร

The Man Who ช่วยปิดท้ายการฟังเพลงของศตวรรษที่ 20 ของผมได้อย่างสมบูรณ์ มันเป็นอัลบั้มที่สองต่อจาก Good Feeling ซึ่งผมไปหามาฟังทีหลังและมันแตกต่างกันราวกับคนละวง (ไม่ชอบ) การเข้ามาในฐานะโปรดิวเซอร์ของไนเจล กอดริช (OK Computer) เป็นส่วนสำคัญ บางคนว่านี่คือ OK Computer ฉบับสำหรับสุภาพสตรีและเด็ก ถ้าคุณชอบเพลงอย่าง No Surprises ในอัลบั้มนั้นของ Radiohead หยิบความหลอนออกไป ใส่ความหวานขื่นเข้าแทนที่ นั่นแหละ The Man Who เริ่มต้น ณ จุดนั้น

โทนรวมของอัลบั้มนี้เยือกเย็นเศร้าหวานเหมือนกับภาพปกและภาพด้านใน เสียงร้องของฟราน ฮีลลีย์และบทเพลงของเขาแทบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของอัลบั้ม ไม่มีเพลงร็อคเขย่าสเตเดี้ยมเหมือนในอัลบั้มแรกสักเพลงเดียว แต่แม้จะเป็นเพลงในแนว bittersweet rock เหมือนกันหมด รายละเอียดของมันในแต่ละแทร็คก็ต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นค่าคงที่คือความงดงามของเมโลดี้ที่เปล่งกระกายเจิดจ้าแหวกความหวานขมเหล่านั้นออกมาในทั้ง ๑๐ แทร็ค

☂ Writing To Reach You เปิดประเด็นความเศร้าเหงา จดหมายที่ไม่มีวันส่ง แต่ยังไงก็อยากจะเขียน "Cause I'm writing to reach you, but I might never reach you..." ฟรานใช้ถ้อยคำธรรมดาๆในการบรรยายความปั่นป่วนในอารมณ์ได้เป็นอย่างดี "Because my inside is outside, my left side's on the right side...."

☂ The Fear เสียงกลองเชื่อมต่อแทร็ค และเนื้อหาก็ดูจะเป็นเรื่องเดียวกับ Writing... ฟรานดูจะสนุกกับการหาคำมาสัมผัสกับคำว่า Fear ตลอดเพลง fear...here.... year.... clear... the tear is here...

☂ As You Are อารมณ์เศร้าแบบหงอยๆพัฒนามาเป็นเศร้าแบบก้าวร้าว ฟรานตะโกนร้องท่อนคอรัสด้วยอารมณ์เหมือนคนที่ถึงที่สุดแล้ว แต่วินาทีต่อมาดนตรีก็ดึงเขาลงมาอ้อยสร้อยเหมือนเดิม... พอจะสรุปได้ว่า"เธอ"ในเพลงนี้ช่างเป็นคนที่ร้ายกาจเหลือแสนแต่"ฉัน"ก็ไม่มีทางเลือก ก็มันรักนี่ แม้ว่ามันจะไม่สนุกเท่าไหร่กับการอยู่กับคนแบบนี้ แต่เดี๋ยวก่อนนะ นี่อาจจะไม่ใช่เพลงรัก แต่อาจเป็นเพลงด่านักการเมืองก็เป็นได้ กีต้าร์โซโล่ในเพลงนี้เป็นการยืนยันว่าพวกเขาจะร็อคหนักก็ได้ ถ้าจะอยากทำ

☂ Driftwood เพลงที่ upbeat ที่สุดในอัลบั้ม เหมาะนักที่จะเป็นซิงเกิ้ล 'I'm sorry that you turned to driftwood. But you've been drifting for a long, long time...' Driftwood ในที่นี้ฟรานเปรียบเทียบเหมือนคนที่ใช้ชีวิตล่องลอยไปตามกระแสน้ำแล้วแต่จะพาไป เหมือนท่อนไม้ที่ไร้การบังคับ และสุดท้ายก็ต้องถูกกระแทกแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่คนแบบนี้จะไปแนะนำอะไรเขาได้ ก็เขาล่องลอยอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

☂ Why Does It Always Rain On Me? เป็นหนึ่งในเพลงที่เยี่ยมที่สุดในอัลบั้ม เนื้อเพลงเอาใจ loser เต็มที่ เป็นการพยายามหาเหตุผลที่ไม่น่าเป็นไปได้ในความเป็นผู้แพ้ของตน โดยใช้สายฝนเป็นตัวแทนของความปวดร้าว หรือ ถ้าจะตรงกว่านั้น: "ความซวย" สามแทร็คใน The Man Who ที่ไนเจลไม่ได้โปรดิวซ์คือเพลงนี้, Turn และ She's So Strange ซึ่งฟังดูแล้วจะไม่มีซาวด์แบบกรุ๊งกริ้งที่ไนเจลชอบใส่ (ได้ยินชัดใน The Last Laugh Of The Laughter) แต่สุ้มเสียงก็ไม่หนีกันมาก เพราะเขาก็เป็นคนมิกซ์ทั้งสามเพลงนี้อยู่ดี อ้อ สามเพลงนี้คนโปรดิวซ์คือ Mike Hedges

☂ Luv เป็นเพลงที่ทำให้หนึ่งในพี่น้องกัลลาเกอร์ (จำไม่ได้ว่าคนไหน) น้ำตาพรากมาแล้ว เมื่อฟรานเล่นและร้องสดๆให้เขาฟัง เนื้อหาว่ากันตรงๆ ฮาร์โมนิกากระชากใจขาดวิ่น เป็นเพลงปลอบใจคนร้องที่เอาไว้ร้องเวลาจะเห็นเธอจาก แต่หากกระนั้น มันกลับทำให้เขาสำนึกว่าเขายังคงรักเธออยู่มากมายแค่ไหน....

☂ Turn... ร็อคช้าๆที่เหมาะสำหรับ Live ที่สุดในอัลบั้ม (ตัดเป็นซิงเกิ้ล) เนื้อหา-- เรามักจะอยากทำอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ได้ทำสักที บางทีสิ่งที่เราต้องทำก็แค่การขยับหักมุมสักครั้งเดียว
So where's the stars?/ Up in the sky /And what's the moon /A big balloon
We'll never know/ Unless we grow/ There's so much world/ Outside the door....
(งดงามนะครับ สองท่อนนี้)

☂ Slide Show เป็นเพลงปิดอัลบั้มหมองๆนี้ได้สมบูรณ์แบบ และถ้าคุณอารมณ์ค้าง นั่งนิ่งไม่ยอมเดินไปปิดซีดี อีกพักใหญ่ๆต่อมา (ซักหกนาทีกว่ามั้ง) คุณจะได้ยินเสียงเพลงร็อคค่อนข้างอึกทึกค่อยๆดังขึ้นมา นั่นละครับ hidden track 'Blue Flashing Light' ยุคนั้น hidden track ไม่ใช่ของเกร่อแบบทุกวันนี้ และสำหรับผมกว่าจะเจอมันก็เล่นไปหลายรอบเหมือนกัน Blue... เป็นเพลงที่ต่างออกไปจากทุกเพลงใน The Man Who มันคล้ายๆบางเพลงใน Ok Computer ผสมกีต้าร์รกรุงรังแต่น่าฟังแบบ Oasis ในสองชุดแรก สำหรับผม hidden track ก็เหมือน Encore ในลีลาหนึ่ง...

มันเป็นอัลบั้มที่ระคนความเศร้าและสุขและความไม่ยี่หระต่อสิ่งที่เรียกว่าชัยชนะกันเอาไว้อย่างเป็นธรรมชาติ ณ จุดหนึ่งในการฟัง The Man Who ผมพอจะเข้าใจล่ะ ว่าทำไมผู้ชายคนนั้นถึงจำภรรยาสลับกับหมวกใบนั้นได้

No comments:

Post a Comment