"กำเนิด concept album"
เมื่อโลกมันเปลี่ยนไปศิลปินก็ต้องขยับตาม ไม่อย่างนั้นเขาคงต้องถูกทิ้งอยู่เบื้่องหลัง วงการ popular music ไม่เคยมีที่ว่างสำหรับนักร้องที่"เชย" หรือ "ตกยุค" นั่นคือสถานการณ์ของ "The Voice" Frank Sinatra ในปี 1953 เขาอาจจะเคยเป็นนักร้องบัลลาดขวัญใจสาวๆ เป็นศิลปินที่ตีความเพลงสแตนดาร์ดได้แตกฉานหาใครเทียบ แต่ยุคนั้นเป็นยุคของเพลงป๊อบเบาสมองฟังง่ายเต็มชาร์ตไปหมด มันเป็นเพลงที่สินาตร้าไม่เคยคิดจะร้อง เขาไม่ประนีประนอมกับความเป็นศิลปะในงานของเขา ผลลัพธ์จากความหนักแน่นนี้คือ สินาตร้าตกงาน Columbia Records ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับเขา นาทีนั้นสินาตร้าคือพวก has-been ที่ไม่มีใครอยากคบหา เว้นแต่สังกัด Capitol ที่อ้าแขนรับ ต้องขอบคุณ Alan Livingston ผู้บริหารของ Capitol ที่ยัง"เชื่อใจ"ว่าสินาตร้าจะกลับมาได้ แต่เขาคงไม่มีทางคาดเดาได้หรอกว่าการกลับมาของสินาตร้าในครั้งนี้ จะยิ่งใหญ่ในระดับเป็นจุดสูงสุดในอาชีพของเขา
ทุกอย่างลงตัวพอดี, สุ้มเสียงของสินาตร้าเติบโตขึ้นเป็นเสียงบาริโทนลุ่มลึกและการควบคุมลมหายใจอันไร้ที่ติ (ฝึกจากการว่ายน้ำอย่างหนัก) การมาถึงของแผ่นเสียงแบบ LP ทีให้เวลาที่นานกว่าและคุณภาพเสียงที่ดีกว่า, คุณภาพการบันทึกเสียงระดับ state-of-the-art ของ Capitol Studios บวกกับการวางแผนทางการตลาดและแนวทางของศิลปินอีกเล็กน้อย แค่นี้, แฟรงค์ สินาตร้าก็กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
แฟรงค์ยอมผ่อนปรนเล็กน้อย ด้วยการบันทึกเสียงเพลงเอาใจตลาดออกมาเป็นซิงเกิ้ลก่อนเพื่อเรียกแฟนและกำลังใจ อย่าง I've Got A World On A String และ South of The Border (แต่มันก็ยังห่างไกลจากเพลงไร้สมองที่ฮิตเต็มชาร์ตในขณะนั้น) ส่วนในการทำอัลบั้ม เขาและโปรดิวเซอร์ Voyle Gilmore บวกกับอะเรนเจอร์หนุ่ม Nelson Riddle ตั้งใจว่าจะทำให้มันเป็น collection ของบทเพลงที่คัดเลือกมาอย่างดี มีความต่อเนื่องในจังหวะและอารมณ์ อาจจะไม่มีใครคิดในตอนนั้น แต่นั่นคือจุดกำเนิดของสิ่งที่เราเรียกกันในเวลาต่อมาว่า Concept album
Songs For Young Lovers และ Swing Easy! คือสองอัลบั้มแรกของสินาตร้าในสังกัดใหม่ มันออกมาเป็น LP ขนาด 10 นิ้วความจุ 8 เพลง ชุดแรกเน้นบัลลาดโรแมนติกชวนเคลิ้ม ส่วนชุดหลังก็ตามชื่อ เน้นจังหวะจะโคนที่คุณจะสวิงและเต้นรำไปกับมันได้ มันเป็นงานที่"แจ๊สซี่"ที่สุดชุดหนึ่งของเขา สินาตร้าจะทำอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีกในอนาคตกับ Capitol แต่นี่เป็นการเริ่มต้นที่น่าตื่นเต้น มันคือ 16 เพลงสแตนดาร์ดที่คุุ้นหูคนฟัง แต่ไม่โหลหรือช้ำเกินไป การบันทึกเสียงแบบโมโนที่เยี่ยมจนแทบไม่รู้สึกว่ามันเป็นโมโน การเรียบเรียงดนตรีของริดเดิลกับวงออเคสตร้าวงเล็ก ที่คึกคัก สดใส ช่างคิด และเหนืออื่นใด การเอาใจใส่ในรายละเอียดของอารมณ์เพลง ดำดิ่งลึกลงไปในเมโลดี้และความหมายของเนื้อร้อง ที่ผมไม่คิดว่าจะมีใครทำได้ดีไปกว่า Frank Sinatra.
ผมต้องบอกอีกไหมว่าสอง LP นี้ประสบความสำเร็จหรือเปล่า? ต้องขอบคุณแฟรงค์ สินาตร้าที่ทะนงในความเป็นศิลปินและแนวทางของตนเอง ไม่อย่างนั้นเราคงจะไม่ได้ฟังผลงานเลอค่าแบบนี้, และอีกหลายชุดต่อจากนี้...(โปรดติดตาม)
(ใน Compact Disc edition รวมสอง LP นี้เข้าไว้ด้วยกัน ที่ความยาว 40 กว่านาที)
No comments:
Post a Comment