Friday, February 24, 2017

#1 The Beatles :: Abbey Road (1969)



Would you believe in a love at first sight?
Yes, I'm certain that it happens all the time
(from 'With A Little Help From My Friends" written by John Lennon & Paul McCartney)

ใช่, ผมเชื่อว่ารักแรกพบมีจริง
แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาหรอกนะ

เมื่อเพื่อนคนหนึ่งให้ผมยืมแผ่นเสียงเก่าๆ (น่าจะเป็นของญาติเขา) ที่มีหน้าปกเป็นชายสี่คนเดิมข้ามทางม้าลายนี้มาฟังที่บ้าน นั่นคือครั้งหนึ่งที่เรียกได้เต็มปากว่าคือรักแรกพบ (ยิน) ผมฟัง Abbey Road ด้วยข้อมูลที่มีบนปกหน้าและหลังแผ่นเสียงเท่านั้น ไม่รู้อะไรมากกว่า ไม่ทราบว่ามันคืองานสุดท้ายของพวกเขา มันน่าจะเป็นราวปี 1981 หลังจาก John Lennon เสียชีวิตไม่นาน และ สิบสองปี หลังจากโลกได้รู้จักอัลบั้มนี้ ณ ขณะนี้ ผมก็กำลังฟังมันอยู่ ไม่ใช่จากแผ่นเสียงแผ่นนั้น แต่เป็นการฟังจากเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ห่างไกลออกไป สตรีมมิ่งผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผมไม่อาจบอกคุณได้ว่ามันเป็นรอบที่เท่าไหร่ เพียงแต่บอกได้ว่ารักแรกพบนี้ไม่ได้จืดจางลงเลยแม้แต่นิดเดียว

เมื่อมีการถามถึงลิสต์อัลบั้มที่ชอบที่สุด ให้จัดกี่ครั้งก็คงแตกต่างกันออกไป แต่อันดับหนึ่งของผมไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่วันนั้นมา

เป็นการยากที่จะบอกว่าชอบอะไรในสิ่งที่คุณใกล้ชิดกับมันมากมายและแสนนานขนาดนี้ คุณคงให้อภัยที่มันจะเป็นรีวิวที่เอียงกะเท่เร่

The Beatles ไม่จำเป็นต้องทำอัลบั้มนี้ พวกเขาก็คงจะเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากนี้มากนัก พวกเขาสามารถจะเลิกรากันไปตั้งแต่ความล้มเหลวไม่เป็นท่าในการทำ Let It Be (ตอนนั้นเรียกว่า Get Back project) ก็ได้ เหมือนกับวงดนตรีระดับพระกาฬหลายๆวงที่มักจะวางมือกันไปด้วยงานที่เจ๊ง หรือพวกเขาอาจจะแตกสลายไปก่อนหน้านั้นด้วยอัลบั้ม White Album และทิ้งเพลง Good Night ให้เป็นเพลงอำลาตลอดกาล...ก็ยังได้

แต่พระเจ้าองค์ที่เขียนบทตอนนี้ คงไม่ประสงค์ให้เรื่องราวของสี่เต่าทองจบลงแบบไม่แฮปปี้ ท่านดลใจให้พวกเขา "ฮึด" เป็นครั้งสุดท้าย โทรศัพท์เรียกโปรดิวเซอร์คู่บุญ จอร์จ มาร์ติน กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งมาร์ตินก็ตอบรับ ด้วยข้อแม้ง่ายๆ ว่าได้สิ แต่เราต้องทำงานกันแบบเดิมๆนะ มันเป็นข้อแม้ที่สำคัญเหลือเกิน

แม้ว่า Abbey Road จะไม่ถึงกับเป็นการย้อนกลับไปทำงานแบบร่วมมือร่วมใจเหมือนเดิมในยุคของ Sgt. Pepper หรือ Revolver ก็ตาม หลายครั้งที่พวกเขาไม่ได้อยู่ร่วมกันในห้องอัด แต่ผลงานที่ออกมาก็มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับที่คนฟังอย่างเราๆรู้สึกได้ เราไม่ได้รู้อะไรมากนักหรอกในสมัยนั้น เราก็แค่ฟังจากเพลงที่พวกเขาทำออกมา

ขณะที่พวกเขาเล่นดนตรีบันทึกเสียงกัน ไม่มีใครในเซสชั่นประกาศออกมาหรอกว่า นี่จะเป็นอัลบั้มสุดท้ายของ The Beatles แล้วนะ แต่จากปากคำของหลายๆคนที่มาเล่าให้ฟังภายหลัง ลึกๆแล้ว พวกเขารู้อยู่แก่ใจว่า นี่คงจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะทำงานร่วมกัน

ขอบคุณที่โลกยุคนั้น คนยังฟังเพลงกันด้วยสื่อที่แบ่งอัลบั้มออกเป็นสองหน้า เพราะความดรามาติกของหลายๆอัลบั้มรวมทั้ง Abbey Road คงจะจืดจางลงไปเยอะ ถ้าเปิดฟังกันรวดเดียวไม่มีการกลับด้านแผ่นหรือเทป แม้ทุกวันนี้จะฟังจากสตรีมมิ่ง แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะความทรงจำของเราจะย้ำเตือนอยูแล้วโดยอัตโนมัติ ว่านี่คือเวลาของด้านไหนของแผ่นเสียง

เป็นที่รู้กันว่าหน้าแรกคือหน้าของ 'rocker' ในแบบที่เลนนอนชอบ
และหน้าสองคือหน้าของ 'medley' ในแบบที่แมคคาร์ทนีย์คุม อย่าถามผมว่าชอบหน้าไหนมากกว่ากัน เพราะผมจะตอบแบบซื่อตรงว่าเท่ากัน ความยอดเยี่ยมของแต่ละเพลงคงไม่ต้องสาธยายกันอีก ถ้าคุณเคยฟังคุณคงทราบดี แต่ถ้าไม่เคย, ผมคงไม่สปอยล์มันตรงนี้

จากชื่อเพลงที่เหมือนประกาศการทำงานร่วมกันอีกครั้งใน Come Together จนถึงเพลงสุดท้ายที่"สุดท้าย"เสียออกนอกหน้าใน The End นี่คือการเขียนบทที่ทรงพลังที่สุดของพระเจ้า ในที่สุดตำนานบทนี้ก็จบลงแบบ happy ending

ความรักไม่ใช่คณิตศาสตร์ แต่ถ้ามันจะมีสมการสักสมการที่ไว้อธิบาย The Beatles ตั้งเอาไว้ให้แล้วในประโยคสุดท้ายในเพลงสุดท้ายของพวกเขา ที่เป็นคำตอบว่าทำไม The Beatles ถึงเป็นที่รักท่วมท้นเหลือเกิน......
ในท้ายสุดแล้ว รักที่คุณจะได้รับ=รักที่คุณได้สร้าง

Goodbye, PRESENCE.

#2 Pink Floyd :: Dark Side of the Moon (1973)

\
อะไรมันจะอมตะและยิ่งใหญ่ขนาดนี้? สำหรับมาสเตอร์พีซของโปรเกรสซีฟร็อค Dark Side of the Moon ตอบแบบกำปั้นทุบดิน--มัน perfect!

ความสมบูรณ์แบบ ณ ที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความ extreme ในทุกๆมิติ แต่เป็นความลงตัวกลมกล่อมไม่ขาดไม่เกินที่น้อยอัลบั้มนักจะทำได้

แม้คุณจะไม่ได้สนใจเนื้อหาของมันจริงจังนัก แต่แค่เสียงดนตรีและซาวด์เอ็ฟเฟ็ค มันก็จะสามารถพาคุณไปกับความลึกล้ำของมันได้ มันไม่ใช่เอ็ฟเฟ็คที่ใส่เข้ามาให้เร้าใจโครมคราม แต่ทุกเสียงถูกไตร่ตรองและประดิดประดอยมาอย่างดีก่อนนำมาประดับ บางเสียงถึงกับเป็นส่วนหนึ่งของดนตรี เช่นเสียงนาฬิกาใน Time หรือท่อนริฟฟ์เครืองคิดเงินใน Money ยังไม่รวมเสียงพึมพำสารพัด เสียงหัวเราะจิตๆ (ของโรเจอร์) ที่สอดแทรกเข้ามาสร้างบรรยากาศอย่างเหมาะเจาะ

เมื่อพูดถึงความลึกล้ำ....มันเป็นความลึกล้ำที่พอจะเข้าถึงได้.... หรือไม่ก็ทำให้คุณ"คิดว่า"เข้าถึงได้

มันมีความไพเราะ ไม่ใช่ไพเราะแบบ The Beatles หรือ Simon & Garfunkel แต่เป็นความไพเราะแบบซับซ้อนของ Progressive Rock ที่อย่างน้อยก็ทำให้"ขาจร"ของแนวเพลงนี้ก็ยังรับมันได้สบายๆ

ฝีมือ... แม้ทั้ง 4 จะไม่ใช่นักดนตรีที่ได้รับการยกย่องว่าถึงระดับเทพเจ้า (อาจจะยกเว้น Gilmour คนหนึ่ง) แต่ performance และการร้อง (ทั้งนำและประสาน) ของพวกเขาก็เพียงพอเหลือเฟือในการถ่ายทอดบทเพลงใน Dark Side....

การบันทึกเสียง.. แม้จะฟังในทุกวันนี้ พวกเราก็ยังอิ่มเอมไปกับสุ้มเสียงอันหนักแน่นเต็มไปด้วยรายละเอียด และคงความเป็นอนาล็อกอย่างน่าทึ่ง... ขอบคุณ Alan Parsons และ Chris Thomas

ความสนุกของดนตรีโปรเกรสซีพอย่างหนึ่ง คือการถอดรหัส ตีความ เนื้อหาและดนตรีในแต่ละอัลบั้ม ใน Dark Side ไม่ได้ใช้ถ้อยคำเลิศหรูยากเข็ญ เรื่องราวก็ดูเหมือนจะเป็นสัจธรรมในชีวิตธรรมดาๆ แต่ความอัจฉริยะของพวกเขา (วอเตอร์ส) อยู่ที่การทำให้มันเป็นดนตรีปลายเปิด ที่อาจจะตีความไปได้สารพัด ในถ้อยคำง่ายๆนั้น

และนี่คือ the way I see the dark side of the moon.... ที่ก็เป็นแค่การตีความของแฟนเพลงคนหนึ่งที่ฟังมันมาหลายสิบปี.....

speak to me
หัวใจเริ่มเต้น เสียงจากภายนอก แทรกซึมเข้ามาถึงโสตของคุณ คุณไม่เข้าใจมัน เสียงเหล่านี้คุณจะได้ยินมันอีกในเวลาข้างหน้า ว่ากันว่าก่อนตายเราจะได้เห็นภาพทั้งหมดในชีวิตย้อนกลับมาฉายอย่างรวดเร็วให้ชมอีกครั้ง แต่เสียงที่ได้ยินนี้ มันเหมือนกับการ flash-back ล่วงหน้าให้คุณก่อน คุณกรีดร้อง

breathe (in the air)
คุณเริ่มสูดอากาศเข้าไปในชีวิต และเริ่มน้อมรับกฎไม่ธรรมชาติที่สังคมครอบงำใส่ จินตนาการ? มันไม่มีอยู่จริง สิ่งที่คุณสัมผัสได้ นั่นคือของจริง นั่นคือสิ่งที่คุณต้องทำ

on the run
วุ่นวาย วิ่งวน วิ่งวุ่น แม้จะพินาศไปหมดแล้ว คุณก็ยังวิ่งอยู่

time
เวลา..มันจะเตือนคุณเมื่อสายไปแล้ว

the great gig in the sky
เส้นบางๆระหว่างความสุขสมและความทรมานสาหัส คุณรู้ถึงความตายที่รอคุณอยู่ แต่อะไรกันแน่ที่คุณพรั่นพรึง ความตาย หรือ ชีวิต?

money
ไม่ต้องตีความ ไม่มีสัญลักษณ์ เพราะเงินคือสัญลักษณ์ในตัวมันเอง

us and them
สรรพนามในสถานะ"กรรม" ความแตกต่าง ด้านตรงกันข้าม เอาเข้าจริง ใครตัดสิน และมันมีค่าพอไหมกับการไฟต์?

any colour you like
คุณมีสิทธิ์ที่จะเลือก อะไรก็ได้ ไม่ว่าคุณจะเลือกอะไร จุดจบก็เหมือนกัน

brain damage
ความผิดแผก คิดไม่เหมือนคนอื่น บ้าหรือ? เสียสติหรือ? ไม่เป็นไร ไม่ต้องตะโกนหาใคร เราไปรอเจอกันที่อีกด้าน ด้านมืดของดวงจันทร์

eclipse
ทุกอย่างเป็นไปตามกรรม แต่อย่าลืมนะ ว่าบางทีอะไรๆก็อาจจะไม่เป็นอย่างทีมัน"ควรจะ"เป็น..... หัวใจยังเต้น แต่ช้าลง...เบาลง....

-------------
จริงๆแล้วมันไม่มีหรอก ด้านมืดของดวงจันทร์น่ะ
จะว่าไป มันก็มืดทั้งหมดนั่นแหละ
ผมไม่รู้สินะ ตอนนั้นผมเมามากจริงๆ

#3 Derek and the Dominos :: Layla and other Assorted Love Songs (1970)


บทคัดย่อ : Layla เป็นงานที่กลั่นออกมาจากหัวใจที่ปวดร้าว เล่นด้วยนักดนตรีฝีมือเก่งขั้นเทพลงมาแสดงปาฏิหาริย์ และทีมดนตรีที่เข้าขากันด้วยการแจมต่อเนื่องยาวนาน มันคือปรากฏการณ์ครั้งหนึ่งในโลกดนตรีที่ไม่ได้มีบ่อยๆ
-------
เมื่อผู้ชายสักคน ไม่อาจได้รับการสนองตอบในรักที่เขาโหยหา
ถ้าเขาเป็นคนธรรมดา ก็อาจจะชวนเพื่อนมานั่งกินเหล้าปรับทุกข์
ถ้าเขาเป็นวัยรุ่นขี้ยา เราอาจจะได้เห็นชือของสาวคนนั้นถูกพ่นตามกำแพง
ถ้าเขาเป็นกวี แน่ล่ะ ต้องมีบทกลอนอันปวดร้าวออกมาจากหัวใจและปลายปากกาของเขา
และถ้าเขาเป็นนักกีต้าร์ บลูส์แมน อย่าง Eric Clapton ล่ะ
คำตอบชัดเจน เขาต้องทำอัลบั้มอันแสนเศร้าเพื่อระบายความทุกข์ระทมนั้น
และLayla and other assorted love songs คืออัลบั้มนั้น
คนระดับ Eric Clapton ถ้าจะไปชอบพอหญิงคนไหนในยุคนั้น
คงจะไม่ยากเข็ญอะไรนักที่เขาจะเอาชนะใจ
แม้ว่าหล่อนจะเป็นภรรยาของเพื่อนก็ตามที
แต่นี่ดันเป็นเพื่อนรัก
และเพื่อนรักคนนั้นไม่ใช่ระดับธรรมดา เขาคือ Beatle George Harrison
เรื่องเหล่านี้คือตำนาน
--------------
Layla คืองานคลาสสิกของวงการร็อคแอนด์โรลอย่างไม่มีใครจะเถียง แต่ตอนมันออกมาใหม่ๆในปี 1970 อัลบั้มนี้คว่ำไม่เป็นท่า ทั้งยอดขายและคำวิจารณ์ เพราะไม่มีใครรู้ว่า Derek คือ Eric Clapton และแคลปตันก็คิดว่างานนี้มีความดีพอที่จะขายได้ด้วยตัวของมันเอง เขาคิดผิดถนัด แต่ในที่สุดโลกก็เริ่มรับรู้ว่าอะไรเป็นอะไร และมันก็ไต่เต้าไปอยู่ในสถานะที่มันคู่ควรในที่สุด

Derek and the Dominos ประกอบไปด้วยตัวแคลปตัน (ร้อง, กีต้าร์) และอีกสามอดีตสมาชิกของ Delaney and Bonnie คือ Bobby Whitlock (ร้อง, คีย์บอร์ด) , Carl Radle (เบส), Jim Gordon (กลอง) รวมทั้งแขกรับเชิญอีก 1 ท่านคือ Duane Allman ยอดมือกีต้าร์จาก The Allman Brothers Band Layla and other Assorted Love Songs คือสตูดิโออัลบั้มชุดเดียวของพวกเขา แต่นั่นก็เพียงพอกับการที่จะเป็นตำนาน มันคืองานที่ผสมผสานแนว Memphis Soul, Country, Blues, Rock and Roll ไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืนและไม่เหมือนใคร ด้วยฝีมือของนักดนตรีที่เอกอุและเข้าขากันอย่างเหลือเชื่อ ฝีมือริธึ่มเซ็กชั่นของ Carl และ Jim นั้นเรียกว่าไม่แพ้ใครในรุ่นเดียวกัน (แคลปตันเคยชมว่าจิมเป็นมือกลองที่ดีที่สุดที่เขาเคยเล่นด้วยมา) และเสียงร้องของ Bobby ที่ตะเบ็งแข่งและสลับกับแคลปตันก็สร้างอารมณ์ในแบบเพลงของ Sam & Dave ได้ไม่เลว ส่วนตัวแคลปตันเองก็ไม่เคยร้องเพลงได้อารมณ์เท่านี้มาก่อน และฝีมือกีต้าร์ของเขาก็สุดเสียงสังข์ไม่แพ้ยุค Cream หรือสมัยเล่นกับ John Mayall เลย
หลังจากผิดหวังกับ Blind Faith ซุปเปอร์กรุ๊ปวงใหม่ของเขาที่ไปได้แค่อัลบั้มเดียว แคลปตันก็หันไปสนุกสนานกับการแจมและออกทัวร์กับทีมนักดนตรีอเมริกันที่เคยเป็นวงเปิดให้ Blind Faith: Delaney and Bonnie และต่อมา Delaney ก็เชียร์ให้เขาออกอัลบั้มเดี่ยว (เสียที) โดยเขาจะช่วยแต่งเพลงและโปรดิวซ์ให้ ผลที่ได้คืองานโซโลชุดแรกของแคลปตันในชื่อ Eric Clapton ดูเหมือนเขาจะกลายมาเป็นศิลปินเดี่ยวอย่างเต็มตัว

แต่แล้วเมื่อเขาทราบว่าลูกวงของ Delaney แตกกระเซ็นในเวลาต่อมา แคลปตันก็ไม่รีรอที่จะเปิดอ้อมแขนรับ Bobby, Carl และ Jim เข้ามาร่วมวงด้วย ทั้งสามย้ายมาปักหลักที่บ้านของแคลปตันกันเลยทีเดียว และเริ่มต้นแจมกันอย่างไม่รู้เดือนรู้ตะวัน เคมีของเขาทั้ง 4 เข้ากัน รวมทั้งสารเคมีจากภายนอกทั้ง up และ down ที่เติมเต็มเข้ามาตลอดการเล่นดนตรี

ในอีกด้านหนึ่งของชีวิตที่ดำเนินไปพร้อมๆกัน แคลปตันเริ่มตกหลุมรัก Pattie ภรรยาของ George Harrison เพื่อนรักมาได้พักหนึ่งแล้ว เขาแอบสังเกตว่าชีวิตแต่งงานของจอร์จและแพ๊ตตี้ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก พระเจ้าแห่งกีต้าร์ได้พยายามหาโอกาสจีบเมียเพื่อนอยู่เนืองๆ แต่แพ๊ตตี้ก็ไม่ใจอ่อนเสียที บทเพลงที่เขาแต่งในอัลบั้มนี้เป็นการระบายความในใจที่อัดอั้นให้แพ๊ตตี้ล้วนๆ

การบันทึกเสียงครั้งแรกของพวกเขาคือมาเล่นแบ็คอัพให้ George Harrison ในอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของจอร์จ All Things Must Pass ที่โปรดิวซ์โดย Phil Spector โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือฟิลต้องโปรดิวซ์ซิงเกิ้ลให้พวกเขา 1 แผ่น ผลงานที่ออกมาคือ Roll It Over (จอร์จเล่นกีต้าร์ด้วย) และ Tell The Truth มันเป็น rock and roll-blues ในแบบ wall of sound ที่ยอดเยี่ยมทีเดียว น่าเสียดายที่การร่วมงานของฟิลและ Derek and the Dominos จบลงแค่นี้ (Tell The Truth ถูกนำมาเล่นอีกครั้งใน Layla ในการเรียบเรียงที่ต่างกันกับเวอร์ชั่นนี้มากมาย)

แคลปตันพาลูกวงไปที่ Criteria Studios ในไมอามี่ เพื่อบันทึกเสียง LP ชุดแรก พวกเขาพกฝีมือและความเมามายไปเต็มเปี่ยม แต่บทเพลงในมือยังมีไม่มากนัก จึงต้องอาศัยเพลงบลูส์เก่าๆมาเป็นวัตถุดิบด้วย Duane Allman เข้ามาเสริมทีมภายหลัง หลังจากแคลปตันดอดไปดูเขาแสดงแล้วชวนมาแจมด้วยและจีบมาทำอัลบั้มด้วยในที่สุด Duane ไม่ได้เล่นทุกเพลงในอัลบั้ม และเมื่อเราฟังเพลงที่ไม่มี Duane (3 เพลงแรกใน LP) ก็จะพบว่าแคลปตันและลูกวง “เอาอยู่” อยู่แล้ว แต่เพลงที่ยอดนักสไลด์เข้ามาเล่นด้วย ยิ่งยกระดับความยิ่งใหญ่ของบทเพลงขึ้นไปอีก แคลปตันนั้นเป็นที่รู้กันว่าเขาจะเล่นดีขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อมีนักกีต้าร์มือดีๆมาประกบด้วย คงไม่มีตัวอย่างไหนเห็นได้ชัดกว่าในอัลบั้มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการโซโลไฟลุกใส่กันแบบไม่ยั้งใน Why Does Love Got To Be So Sad, บลูส์หลุดโลก Key To The Highway หรือไทเทิลแทร็คที่แคลปตันและ Duane แข่งกันสไลด์อย่างเมามันบนท่อนริฟฟ์บันลือโลกนั้น และเพลงเผยความในใจที่แสนระทม Have You Ever Loved A Woman เขาทั้งสองยังร่วมกันเล่น Little Wing ของ Jimi Hendrix ในแบบที่เจ้าของเพลงถ้าได้ฟังคงต้องภูมิใจ (แต่เฮนดริกซ์ไม่เคยได้ฟัง เขาตายเสียก่อน)

แคลปตันสุดจะประทับใจในฝีมือของ Duane และชวนเขามาเป็นโดมิโนตัวที่สี่อย่างเป็นทางการและเต็มตัว แต่ Duane ไม่เอาด้วย เพราะเขามี”ครอบครัว”แล้ว นั่นก็คือ Allman Brothers แต่ Duane ก็เสียชิวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในอีก 1 ปีถัดมา

หลังจากอัลบั้มชุดแรกขายไม่ดีนัก พวกเขาก็กลับมาเข้าห้องอัดกันที่ Olympic Studios ในปี 1971 เพื่อบันทึกเสียงอัลบั้มชุดสอง แต่ทำกันไปได้แค่กี่เพลงวงก็แตก ด้วยสาเหตุของการใช้ยาอันหนักหน่วงของแต่ละคนอันนำมาซึ่งความหวาดระแวงและการทะเลาะเบาะแว้งในที่สุด ยังดีที่ยังมี่การบันทึกเสียงเอาไว้ได้บางส่วนที่ฟังดูแล้วก็ไม่เลวทีเดียว เช่น Snake Lake Blues, Evil, Mean Old Frisco, One More Chance และเพลงที่น่าจะดีที่สุดในเซสชั่น Got To Get Better In A Little While ต้องบอกว่าน่าเสียดายจริงๆครับที่พวกเขาไม่อาจอยู่กันทำต่อจนเสร็จ

แคลปตันเคยเชิญแพ็ตตี้มานั่งฟังอัลบั้มนี้ที่บ้านหลังจากบันทึกเสียงเสร็จใหม่ๆ หวังว่าจะทำให้เธอใจอ่อนยอมมาอยู่กับเขาด้วยพลังของบทเพลงที่เขาสร้างเอาไว้ แพ๊ตตี้รู้สึกทึ่ง แต่ก็ไม่ถึงขั้นจะทิ้งสามีมาอยู่กับเขา แคลปตันขู่ว่าถ้าไม่มาเขาจะเสพเฮโรอีนแบบ full-time แพ๊ตตี้ได้แต่ยิ้มๆ และแคลปตันก็ทำตามนั่น ชีวิตเขาดำดิ่งลงไปในความมืดอีกสามปีเต็ม

Layla เป็นงานที่กลั่นออกมาจากหัวใจที่ปวดร้าว เล่นด้วยนักดนตรีฝีมือเก่งขั้นเทพลงมาแสดงปาฏิหาริย์ และทีมดนตรีที่เข้าขากันด้วยการแจมต่อเนื่องยาวนาน มันคือปรากฏการณ์ครั้งหนึ่งในโลกดนตรีที่ไม่ได้มีบ่อยๆ

#4 The Beatles :: Revolver (1966)


"ผลการทดลองปรากฏว่า....."

Revolver อัลบั้มที่ 7 ของ The Beatles ซึ่งถ้าจะนับจริงๆมันเป็นอัลบั้มที่เจ็ดในช่วงเวลาแค่ 3 ปีเท่านั้นนับจากแผ่นลองเพลย์แผ่นแรก Please Please Me ตอนต้นปี 1963 สามปีที่ผ่านมาแม้จะไม่ได้อยู่ในห้องอัดเสียงกันนานนักแต่พวกเขาก็ได้เรียนรู้อะไรต่างๆมากมายในสตูดิโอนับจากวันแรกที่แม้แต่ใส่หูฟังเล่นกีต้าร์ไปด้วยก็ยังทำไม่ค่อยถนัด จวบจนวันนี้ที่พวกเขาถึงขั้นชี้นิ้วสั่งวิศวกรบันทึกเสียงได้

จะบอกว่า Revolver เป็นงานแนว"ทดลอง"ของสี่เต่าทองก็ว่าได้ มันเป็นการทดลองที่มีสมมุติฐานง่ายๆว่า ดนตรีป๊อบ-ร็อคนั้นไม่มีพรมแดนใดๆที่จะก้าวข้ามไปไม่ได้ พวกเขาลองอะไรแปลกๆหลายอย่างในการบันทึกเสียง ดนตรีในแต่ละเพลงก็หลากหลายไปคนละแนวแทบจะสิ้นเชิง ด้านเนื้อหาก็ทำได้น่าสนใจ ใช้คำสั้นกระชับและมีมุมมองที่ไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อนในแทบทุกเพลง

หน้าปกเป็นฝีมือภาพลายเส้นของ Klaus Voorman เพื่อนเก่าสมัยเยอรมันของพวกเขาผนวกกับงานตัดปะ collage ที่เคลาส์ทำเอง เป็นปกอัลบั้มของ Beatles ที่ผมว่า cool ที่สุดแล้วครับ คือมันอาจจะไม่อลังการเท่า Sgt. Pepper's หรือคลาสสิกแบบ Abbey Road แต่มันเท่น่ะ...

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกที่ผมจะรู้สึกอย่างเดียวกันกับตัวงานดนตรีข้างใน

จอร์จ แฮริสันไม่ค่อยได้มีบทบาทนักในฐานะนักแต่งเพลงในวง แต่งานนี้เพลง Taxman ของเขากลับได้รับเกียรติตัดริบบิ้น เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวกับคนขับแท็กซี่ แต่ต่อว่าการขูดรีดภาษีของรัฐบาลอังกฤษยุคนั้นได้อย่างมันส์ปากเขาล่ะ ว่ากันว่าจอห์นมีส่วนช่วยเขียนเนื้อด้วยบางส่วน เสียงเบสของพอลโดดเด่นขึ้นกว่างานเก่าๆอย่างชัดเจน (อาจเป็นเพราะเขาเปลี่ยนมาใช้ rickenbacker หรืออาจเป็นเพราะฝีมือเอ็นจิเนียร์คนใหม่-Geoff Emerick) แถมท่อนโซโลกีต้าร์พอลก็ยังรับบทนำอีก (ข่าววงในบอกว่าจอร์จพยายามเล่นอยู่หลายชั่วโมงแต่ไม่เวิร์ค ก็เลยต้องให้พอลลองบ้าง ซึ่งเขาทำได้อย่างง่ายดาย สร้างความเซ็งให้จอร์จพอสมควร) จอร์จยังได้โควต้าอีกสองเพลง เขาส่งเพลงแขกเต็มตัว Love You To เข้าประกวด จอร์จเล่นซีต้าร์ ริงโก้เคาะแทมโบรีน ร่วมกับนักดนตรีอินเดียอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนอีกเพลงของจอร์จไปโผล่ที่หน้าสอง I Want To Tell You

ฝีมือการแต่งเพลงของพอล แมคคาร์ทนีย์รุดหน้าเข้าขั้นเทพเจ้า แต่ละเพลงในอัลบั้ม Revolver ของพอลเหมือนจะพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง Eleanor Rigby ที่เล่นกับเครื่องสายและเนื้อหาอย่างกล้าหาญ Here, There And Everywhere เป็นคลาสสิกป๊อบที่ทั้งจอห์นและพอลก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเพลงที่ดีที่สุดของพอล Yellow Submarine เพลงsing-along ที่ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ ฟังครั้งเดียวก็ต้องร้องตามได้ ริงโก้รับบทร้องนำ กลางเพลงพวกเต่าทองเล่นกับซาวนด์เอ็ฟเฟ็คกันสนุก Good Day Sunshine เพลงง่ายๆของพอลที่แต่งและบันทึกเสียงกันอย่างรวดเร็วเป็นเพลงเปิดหน้าสอง For No One บัลลาดคลาสสิกแสนเศร้า โดยเฉพาะเสียงเฟรนช์ฮอร์นหม่นหมองนั่น (อลัน ซีวิลเป็นคนเป่า ปกติเขาเป็นนักดนตรีคลาสสิกวง Philharmonia พอมาเป่าเพลงนี้เขาก็ดังไม่รู้เรื่องไปเลย) พอลเล่นกับเครื่องเป่าอีกครั้งในเพลงที่ออกจะฟังกี้หน่อยๆ Got To Get You Into My Life ซึ่งพอลอุทิศให้ที่รัก...กัญชา พอลเริ่มต้นเครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิตกับทรัมเป็ต นั่นอาจจะทำให้เขากลับมาเล่นกับพวกเครื่องเป่าอยู่หลายครั้งในดนตรีของ Beatles

จอห์น เลนนอน เพลงของเขาอาจจะมีคุณค่าหรือความงดงามทางดนตรีสู้พอลไม่ได้ แต่หลายเพลงใน Revolver เขาก็ขโมยซีนไปไม่น้อย ตั้งแต่เพลงยานคางที่มีกีต้าร์ย้วยยอกย้อน I'm Only Sleeping ร็อคดิบๆเจือกีต้าร์โทนอินเดีย She Said She Said (ริงโก้ฟาดกลองได้ราวกับ Elvin Jones) ป๊อบไร้สาระแต่ทำนองสุกสว่างอย่าง And Your Bird Can Sing (เพลงนี้ตัวจอห์นเองเกลียดมาก) หรือจะเป็นเพลงอุทิศให้พ่อค้ายาอย่าง Dr. Robert อันมีเสียงประสานหลอนโคตร

และเพลงสุดท้าย Tomorrow Never Knows ก็คือมหากาพย์แห่งการทดลองทางกการบันทึกเสียงแห่งยุค พวกเขาประเคนความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีล่าสุด ณ ตอนนั้นลงไปในเพลงนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำดับเบิลแทร็คเสียงร้องแบบเทียม การส่งผ่านเสียงร้องผ่านลำโพงของออร์แกนเพื่อให้ฟังดูเหมือนองค์ดาไลลามะส่งเสียงเทศน์ลงมาจากยอดเขาตามที่จอห์นปรารถนา การเล่นกับเทปลูปอย่างเมามัน แถมเนื้อหาฟังแล้วอยากจะฉีดเอฟรีดินเข้าปากคนร้องให้ตายๆไปซะ!

ถ้า Revolver เป็นงานทดลอง ผลการทดลองที่ได้ก็คงเป็นไปตามสมมุติฐานครับ พวกเขาก้าวข้ามพรมแดนไปได้ทั้งหมด มันเป็นอัลบั้มที่แสดงให้โลกรู้ว่า จงกล้าที่จะทำตามจินตนาการอันเพริดแพร้วนั้นเถิด แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำ หรือแม้แต่เคยคิดมาก่อน

#5 The Beatles :: Rubber Soul (1965)



(หมายเหตุ : เพิ่งไปค้นเจอรีวิวเก่าๆนี้ที่เขียนไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ สบายไปเลยผม)

The Beatles
Rubber Soul (Parlophone)
7.8/10
หลายๆเพลงในอัลบั้ม Help! ชี้ให้เห็นว่า The Beatles กำลังก้าวไปในทิศทางใด (และนั่นคือทิศทางของวงการดนตรีปัจจุบัน) เพลงร็อคแอนด์โรลสนุกๆลดน้อยลง ที่เพิ่มเข้ามาคือป๊อบ บัลลาด และ โฟล์คที่ละเมียดละไม มุมมองใหม่ๆในการเขียนเพลงเช่นใน Help! และ You’ve Got To Hide Your Love Away เค้าที่เห็นรางๆใน Help! ปรากฏชัดใน Rubber Soul อัลบั้มชุดที่หกในรอบสองปีของพวกเขา ซึ่งออกมาพร้อมกับซิงเกิ้ลดับเบิ้ลเอ-ไซด์ Day Tripper / We Can Work It Out (ซึ่งทั้งสองเพลงไม่อยู่ใน Rubber Soul) Day Tripper เป็นร็อคแบบ rave-up ที่มีท่อนริฟฟ์โดดเด่น น่าจะเป็นเพลงที่เหมาะสำหรับการเล่นแสดงสด ตรงข้ามกับ We Can Work It Out จอห์นกับพอลร้องสลับกันคนละท่อน เนื้อหากล่าวถึงการแก้ปัญหาด้วยการรับฟังกันและกัน จังหวะ-ดนตรีทำได้น่าสนใจมาก เพลงนี้สามารถนำไปใส่ไว้ใน Rubber Soul ได้สบายๆ

เมื่อเทียบกับเพลงในซาวด์แทร็ค Help! (ที่ออกเมื่อต้นปี-และไม่ต้องพูดถึงตัวหนังที่ออกจะเลอะ) แล้ว Beatles มีพัฒนาการขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ พวกเขาบันทึกเสียง Rubber Soul กันในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน และอัลบั้มก็ออกมาอย่างรวดเร็วในเดือนธันวาคมนี้เอง แต่ความเนี้ยบของงานในแต่ละเพลงนั้นมันเหมือนกับการประดิดประดอยนานนับปี ความเอาใจใส่ในการบันทึกเสียง การเรียบเรียงเสียงร้องและการวางเสียงเครื่องดนตรีทำได้อย่างน่าชื่นชม ที่สุดของความเยี่ยมต้องยกให้การแต่งเพลงของเลนนอน-แมคคาร์ทนีย์ที่ยังมีจุดเด่นที่เมโลดี้อันงดงามแต่คราวนี้พวกเขาเพิ่มความลึกซึ้งและวิธีการคิดที่แปลกใหม่ในการเขียนเนื้อหาซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เชื่อว่าหลายต่อหลายเพลงใน Rubber Soul ต้องกลายเป็นเพลงคลาสสิกของวงการในอนาคต

Drive My Car เป็นเรื่องปกติที่ Beatles จะเปิดอัลบั้มด้วยเพลงจังหวะคึกคัก เพลงนี้เด่นด้วยจังหวะกระตุกๆจาก cowbell จอห์นและพอลประสานเสียงกันแบบแปร่งๆแต่ก็มีเสน่ห์ดี เนื้อหายอกย้อนกว่าที่คิดและมีลูกฮาตอนจบ จอร์จกีต้าร์ได้อารมณ์

Norwegian Wood เนื้อหาออกอีโรติกแต่ทำนองออกไปทางอราบิค ดนตรีเน้นอคูสติก จอห์นร้องนำ จอร์จโซโลเครื่องดนตรีอินเดีย “ซีต้าร์” ให้อารมณ์ที่ลึกลับวังเวง (น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีคนนำเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาใช้ในเพลงป๊อบ)

Nowhere Man จอห์นพอลจอร์จร้องร่วมกัน เนื้อหาฟังดูกวนๆและวกวน ‘Nowhere man making his nowhere plans for nobody’ ทำนองยังเยี่ยม

จอร์จ แฮริสันแต่งสองเพลงในแผ่นนี้คือ Think For Yourself ที่พอลเล่นฟัซซ์เบสได้น่าฟังและ If I needed someone น่าจะเป็นเพลงที่ดีที่สุดของจอร์จที่เขาเคยแต่งมา กีต้าร์พริ้วเด่นมาก (บางคนบอกว่าคล้าย The Byrds)

พอลยังคงสร้างบัลลาดชั้นเยี่ยมตาม And I Love Her และ Yesterday ออกมาอีก คราวนี้คือ Michelle ที่เขาร้องภาษาฝรั่งเศสในบางท่อนด้วย ท่อนคอรัสง่ายๆที่ร้องว่า I Love You, I Love You, I Love You นั้นจับใจได้อย่างง่ายดาย

ในหน้าสองยังมีเพลงอ้อยสร้อยเพราะๆอีกสองเพลงคือ Girl จอห์นร้องในจังหวะวอลซ์ (ท่อนสร้อยสุดสร้างสรรค์ด้วยเสียงสูดหายใจเข้าเต็มปอดหลังร้องคำว่า Ah,,, Girl…Girllll….) และ In My Life บัลลาดหวนหาอดีต จอห์นร้องเช่นกัน จอร์จ มาร์ตินเล่นเปียโนโซโลท่อนกลาง (เสียงคล้าย Harpsichord)

Rubber Soul เป็นงานที่เติบโตขึ้นของเด็กหนุ่มจากลิเวอร์พูล พวกเขาดูจะยังเต็มไปด้วยไอเดียใหม่ๆในการสร้างสรรค์บทเพลง และแฟนๆก็ไม่น่าจะผิดหวังกับมันแต่อย่างใด

น่าจับตามองต่อไปสำหรับก้าวต่อไปของพวกเขาครับ

#6 Led Zeppelin :: BBC Sessions (1997)

ถ้ามีแฟน Led Zep ผู้ใดกวาดสายตามองชื่อเพลงใน BBC Sessions แล้วรำพึงว่า อืมม์ มีเพลงที่ไม่คุ้นตาอยู่สองเพลงเอง ที่เหลือเราก็มีหมดแล้ว ไม่ซื้อดีกว่า มันผู้นั้นสมควรถูกนำไปประหาร ประหารออกจากความเป็นแฟนของ Led Zep!

เพราะแฟนของวงนี้ย่อมต้องรู้ว่า Zep เป็นหนึ่งในวงร็อคที่ improvise ได้ระเบิดระเบ้อที่สุด พวกเขาสามารถเล่นเพลงเดียวกัน ด้วยความยาวเท่ากัน แต่การเรียบเรียงแตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง และที่เรียกว่า"การเรียบเรียง"นั้น ไม่ใช่พวกเขาจะมานั่งเขียนสกอร์ แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นโดยคีตปฏิภาณสดๆบนเวที ไม่เกินเลยไปหรอก ที่จะบอกว่า แม้แต่พวกเขาเองก็ไม่รู้ ว่าการบรรเลงเพลงร็อคในคืนนี้ มันจะยืดยาวเลยเถิดกันไปขนาดไหน ดังนั้น แม้จะฟังเพลงเหล่านั้นจนปรุมาแล้วจากเวอร์ชั่นสตูดิโอ ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะไม่ได้ยินอะไรใหม่ๆจาก BBC Sessions นี้

ครับ.... บันทึกการแสดงจาก BBC Sessions นี้เป็นหลักฐานยืนยันถึงตำนานในการเล่นสดของพวกเขา หลายๆแทร็คเล่นได้"ถึงใจ"กว่าใน studio version เป็นไหนๆ ความเนี้ยบของการบันทึกเสียงอาจจะสู้ไม่ได้ แต่ความมีชีวิตชีวา,ความคิดสร้างสรรค์ และพลัง... มันทำให้ผมกลับไปฟังสองอัลบั้มแรกของ Zep แทบไม่ได้อยู่หลายปี...!!!

ซีดีแผ่นแรกเป็นบันทึกการแสดงกึ่งไลฟ์ในสตูดิโอของ BBC ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 1969 และออกอากาศในหลายๆรายการของ BBC--Top Gear ของ John Peel (สองรอบ) , Chris Grant's Tasty Pop Sundae และ One Night Stand--Playhouse Theatre มันเป็นช่วงหลังจากพวกเขาออกอัลบั้มแรก Led Zeppelin กันมาแล้ว และยังไม่ได้ออกชุดสอง Led Zeppelin II บางเพลงจึงเป็นการพรีวิวอัลบั้มใหม่ไปในตัว

สมาชิกทั้ง 4 อยู่ในฟอร์มสุดยอด โดยเฉพาะ Robert Plant ที่ต้องบอกว่าไม่มีอัลบั้มไหนที่เขาจะร้องได้สุดเสียงสังข์ขนาดนี้ Jimmy Page ก็ร้อนเร่าเหมือนมีเปลวไฟที่ปลายนิ้วตลอดเวลา ลูกโซโล่ของเขาใน Whole Lotta Love เป็นอะไรที่อร่อยหูอย่างที่สุด John Paul Jones แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นทัพหลังที่สำคัญแค่ไหน ด้วยการเดินเบสราวเครื่องจักร และเสริมด้วยออร์แกนที่เล่นราวกับมืออาชีพทางนั้นในบางแทร็ค ส่วน Bonham... เขาก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร แต่ดูเหมือนเอ็นจิเนียร์ของ BBC จะรับมือกับการกระหน่ำของบองโซ่ได้ไม่เต็มที่นัก ก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย!

ในแผ่นแรกนี้ การที่มีบางเพลงซ้ำหลายรอบ เช่น Communication Breakdown (3), You Shook Me (2), I Can't Quit You Baby (2) กลับไม่ใช่สิ่งที่แฟนเพลงควรจะบ่น ตรงข้าม มันเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ความเป็น improvisers ของพวกเขา เพราะแต่ละเพลง แตกต่าง และยอดเยี่ยม อย่างที่ผมเอ่ยมาแล้วตอนต้น

เพลงที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษคือ การนำเพลงบลูส์ของ Robert Johnson มาต่อยอด Traveling Riverside Blues (บันทึกเสียง 16 มิ.ย.1969) และออกอากาศทางรายการ Tasty Pop Sundae ของ Chris Grant ในวันที่ 22 เดือนเดียวกัน ไม่เคยได้ยินใครนำเพลงของ RJ มาเล่นใหม่ได้หนัก และ เท่อย่างนี้ โดยเฉพาะริฟฟ์สไลด์ของเพจ สุดยอดมากๆ

ซีดีแผ่นที่สอง กระโดดไปข้างหน้าอีก ๒ ปี เป็นการแสดงที่ Paris Theatre, London ในวันที่ 1 ก.ค. 1971 เป็นการแสดงแบบจัดเต็ม 10 เพลง และ Led Zeppelin ก็กำลังใกล้จุดสูงสุดของพวกเขา ความบ้าดีเดือดและพุ่งพล่านอาจจะลดน้อยกว่าแผ่นแรก แต่เติมมาด้วยความยิ่งใหญ่เต็มสเกล แค่ได้ยินการเล่น Stairway To Heaven ออกอากาศเป็นครั้งแรกก็คุ้มแล้ว นักวิจารณ์และแฟนๆหลายคน ยกให้แผ่นนี้เป็น Live Album ที่สมบูรณ์ที่สุดของ Zep อ้อ เพจคุยไว้ด้วย ว่าเป็นไอเดียเขา ที่อยากให้มี full concert แบบนี้ออกทาง BBC บ้าง ทำให้ต่อมามีงานแบบนี้อีกมากมายจากศิลปินอื่นๆ

ตอนมันออกมาในปี 1997 แฟนเพลงที่เคยฟังจาก Bootleg มาก่อน อาจจะไม่ตื่นเต้นนัก เพราะมันโด่งดังในตลาดมืดมานานแล้ว แต่ผมไม่เคยฟังหรอก และคุณคงจินตนาการไม่ถูกถึงความช็อคที่ผมเป็นเมื่อฟังมันครั้งแรก ขนาดทำใจไว้แล้วนะนั่น!

ผมเลือก Led Zeppelin ไว้ในลิสต์ 4 ชุด ว่ากันตามหลัก BBC ควรจะเป็นของแถมที่อยู่ท้ายสุด แต่เมื่อไตร่ตรองดูแล้ว ผมกลับให้มันอยู่เหนือขึ้นมากว่าทั้ง Led Zep II, IV และ Led Zeppelin และติดอันดับสูงถึง 6 เพราะในความคิดของผม นี่คือ Real Led Zeppelin ที่แสดงฝีมือของพวกเขาออกมาอย่างเต็มอัตราศึกและแท้จริงครับ

(หมายเหตุ--ไม่อ้างอิงถึง The Complete BBC Sessions (2016) เพราะไม่ชอบเสียงอันสะอาดสะอ้านของมัน!--แต่ก็ออร์เดอร์ไปแล้วล่ะ)

#7 Eagles :: Their Greatest Hits 1971-1975 (1976)



ประโยคที่ว่า "ยิ่งน้อยยิ่งมาก" (less is more) คุณคงเคยได้ยิน และหลายคนอาจนำเอาประโยคนี้มาใช้กับอัลบั้มรวมฮิตชุดนี้ของ Eagles ที่มีแค่ 10 เพลง อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเถรตรงจริงๆ มันก็คงไม่ใช่อย่างนั้น ไม่งั้นอัลบั้มนี้คงมีแค่เพลงเดียวก็พอ แต่นี่เป็นกรณีของความพอดี,ความลงตัว และความสมบูรณ์แบบเสียมากกว่า

ปี 1976 ขณะที่พวก Eagles กำลังง่วนทำอัลบั้มใหม่ (Hotel California) กันอยู่ ต้นสังกัดก็มีไอเดียจะปล่อยรวมฮิตชุดนี้ออกมา ด้วยเหตุผลง่ายๆ 2-3 ประการ คือ 1. พวกเขามีเพลงฮิตมากพอที่จะรวมแล้ว 2. เป็นการสรุปงานในยุคของ Bernie Leadon มือแบนโจและกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไป เพื่อก้าวเข้าสุ่ยุคของความเป็นร็อคเต็มตัว แต่เหตุผลที่แท้จริง ก็อาจจะเป็น..... 3. เงิน

ณ เวลานั้น Eagles แต่ละคนไม่ได้ปลื้มอะไรนักกับการรวมเพลงครั้งนี้ โดยเฉพาะ Don Henley ที่คิดว่าการเอาเพลงอย่าง Tequila Sunrise และ Desperado ที่อยู่ใน concept album มาใส่ในรวมฮิตเป็นการทำลายธรรมชาติและลดคุณค่าของบทเพลง แต่ถ้าดอนมองทะลุมาถึงยอดขายในอนาคตของ Their Greatest Hits 1971-1975 เขาคงจะไม่บ่นอะไรมากนัก! เพราะมันขายดีตั้งแต่แรกวางแผง และครั้งหนึ่งเคยเป็น LP ที่ขายดีที่สุดตลอดกาลในสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งถูก Thriller แซงไปหลังการตายของไมเคิล แจ็คสัน อย่างไรก็ตาม ดอนเล่าว่าที่พวกเขาให้ไฟเขียวต้นสังกัดในการออกรวมฮิตนี้เพื่อซื้อเวลาในการทำอัลบั้ม Hotel California และความดังกระฉูดของมันก็เหมือนเป็นการปูพรมรอรับความยิ่งใหญ่ของ Hotel อย่างเหมาะเจาะในช่วงเวลาพอดี

9 ใน 10 เพลงนี้เคยเป็นซิงเกิ้ลของ Eagles มาทั้งหมด และต้องยกย่องให้ใครก็ตามที่ fight ให้เด้ง Outlaw Man ซิงเกิ้ลที่ไม่ดังออกจากงานนี้ และเสียบ Desperado ที่ไม่ใช่ซิงเกิ้ล แต่เป็นเพลง "สำคัญ" ที่สุดเพลงหนึ่งของวงเข้ามาแทนที่ ลองจินตนาการสิครับ ว่ามันจะต่างกันแค่ไหน

มันเป็นงานรวมฮิตที่มหัศจรรย์ ทุกบทเพลงกลมกลืนต่อเนื่องกันอย่างกลมกล่อม ด้วยอารมณ์สดใสและสบายๆในแบบแคลิฟอร์เนียในจินตนาการ ดูเหมือนคนเล่าเรื่องในแต่ละเพลงจะอยู่ในโหมดเอนกายเหนื่อยล้าไม่ยี่หระต่อโลกที่เขาไม่ต้องการจะเห็น เปิดตัวแบบไม่ต้องคิดมากว่าจะเป็นเพลงอื่นไปได้ ด้วยเพลงชาติของคันทรี่ร็อค "Take It Easy" ที่พอได้ยินอินโทรขึ้นมาก็เหมือนกับเป็นการประกาศว่า เอาล่ะ.... Eagles มาแล้ว การเรียงลำดับเพลงทำได้อย่างเหนือชั้น (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ชมไว้ก่อน) เพลงจังหวะ shuffle ฟังสบายๆอย่าง Lyin' Eyes, Tequila Sunrise และ Peaceful Easy Feeling ถูกกระจายไปทั่ว LP ไม่ติดต่อกัน มีเพลงร็อคกีต้าร์แรงๆอย่าง Already Gone และ disco rock โจ๊ะๆแบบ One Of These Nights มาเสริมกำลังทำให้อารมณ์โดยรวมของอัลบั้มไม่แฉะแหมะเกินไป เปิดโอกาสให้เสียงร้องของแรนดี้หนึ่งเพลงใน Take It To The Limit ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้เพลงใดของดอนและเกลน ปิดท้ายด้วยเพลงอันดับ ๑ ที่แสนประทับใจ เพลงรักแสนหวานแสนเศร้า The Best Of My Love

ทั้งหมดนี้ทำให้ Their Greatest Hits 1971-1975 ฟังแล้วดูเหมือนเป็น concept album ของวงดนตรีที่กำลังอยู่ในช่วงพีค มากกว่าจะเป็นงานรวมเพลงเอกธรรมดาๆ

มันเป็นเทป Eagles ม้วนแรกของผมที่มิตรสหายท่านหนึ่งให้หยิบยืมมาแบบยัดใส่มือ (เพราะเธออยากให้ผมชอบวงนี้เสียเหลือเกิน) แต่เนื่องจากมันเป็นเทปพีค็อก ก็เลยมีเพลงแถมมาแทบล้นตลับ กว่าที่จะได้รู้ว่า original ของรวมฮิตนี้มีแค่ ๑๐ แทร็คก็อีกหลายปีต่อมา และผมก็ต้องไปหาซีดีมันมาจนได้ ทั้งๆที่มี ๑๐ เพลงนี้ครบอยู่แล้วจากอัลบั้มดั้งเดิมทุกชุดของพวกเขา และทั้งๆที่ Eagles มีงานรวมเพลงออกมาอีกหลายชุดที่มี ๑๐ เพลงนี้อยู่ในนั้น แต่ก็ไม่มีงานไหนขายได้ดีเท่า Their Greatest Hits 1971-1975

นี่คือ 43 นาทีที่ทรงคุณค่าในการที่จะแนะนำให้คุณรู้จักกับดนตรีคันทรี่ร็อคจากเวสต์โคสต์ และมันก็มีค่าพอที่จะอยู่กับความทรงจำของคุณตลอดไป.... มอบอันดับ ๗ ในดวงใจไว้ให้ครับ

#8 Led Zeppelin :: Led Zeppelin II (1969)


"ทำไมคนบางพวกถึงชอบฟังดนตรีเฮฟวี่ ทั้งๆที่ธรรมชาติของมนุษย์น่าจะชอบอะไรที่ให้ความสุขแก่โสต ไม่ใช่เสียงสนั่นหวั่นไหวและความรุนแรงก้าวร้าว นักร้องแหกปากตะโกนอะไรก็ไม่รู้ คนพวกนี้โรคจิตหรือเปล่า?"
---------
จิมมี่ เพจ อดีตนักกีต้าร์ประจำห้องอัดมือฉมังและสมาชิกวง The Yardbirds และลูกวงที่เขาสรรหามาจากสรวงสวรรค์อย่าง โรเบิร์ต แพลนต์, จอห์น พอล โจนส์ และ จอห์น บอนแฮม ได้ประกาศให้โลกรับรู้ตั้งแต่อัลบั้มแรกของพวกเขาในต้นปี 1969 แล้วว่าพวกเขาคือของจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ตั้งแต่วินาทีแรก รากฐานอันหนักแน่นจากเพลงบลูส์และโฟล์ค ฝีมือและพลังอันเชี่ยวกรากของสมาชิกทุกคน และวิสัยทัศน์ทางดนตรีของเพจที่รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์เองด้วย ทำให้ Led Zeppelin อัลบั้มเปิดตัวของพวกเขาเป็นปรากฎการณ์แห่งดนตรีร็อค

พวกเขาบันทึกเสียงอัลบั้มแรกกันด้วยเวลาเพียง 30 ชั่วโมง (เพจยืนยันหนักแน่นในข้อมูลตรงนี้ เพราะเขาเป็นคนจ่ายค่าห้องอัดเอง) แต่มันเป็นในช่วงหลังจากที่พวกเขาฟอร์มวงกันมาแล้วระยะหนึ่งและออกทัวร์ยุโรปมาด้วยกันพักหนึ่งแล้ว ฝีมือและความเข้าขาในกันและกันจึงอยู่ในระดับสื่อสารกันทางจิต แต่ก็เหมือนหลายๆศิลปินที่ทำงานชุดแรกออกมาได้อย่างสุดยอด ปัญหาคือพวกเขายังจะมีอะไรที่จะไปต่ออีกไหมในอนาคต ไม่ต้องพูดกันให้ไกล ก็อัลบั้มที่สองนี่แหละ...!!

แววว่างานชุดต่อมาของ Zep น่าจะมีปัญหาก็คือพวกเขาแทบไม่มีเวลาเป็นชิ้นเป็นอันในการทำอัลบั้มนี้เลย ด้วยเวลาทั้งหมดของพวกเขาหมดไปกับการทัวร์คอนเสิร์ตอันหนักหน่วง (และผลพวงพลอยได้พลอยเสียจากการทัวร์นี้ อาทิ สาวๆ เหล้ายาปลาปิ้ง และการทำลายโรงแรม อันเป็นความสามารถระดับตำนานอีกประการหนึ่งของวง) เพจและลูกทีมอาศัยการแต่งเพลงในห้องพักโรงแรม, ไอเดียลูกริฟฟ์ที่มักจะคิดได้ในขณะอิมโพรไวส์เพลง Dazed and Confused บนเวทีเมื่อคืนก่อนหน้า, บันทึกเสียงตามเมืองต่างๆแล้วแต่จะมีเวลาที่ไหนเมื่อไหร่ โดยแต่ละห้องอัดก็มีสภาพแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่โอลิมปิก และ มอร์แกนสตูดิโอในลอนดอน, เอแอนด์เอ็ม,ควอนตัม,มิเรอร์ซาวนด์ในแอลเอ, ห้องอัดเล็กๆที่ขนานนามกันว่า "กระท่อม" ในแวนคูเวอร์ แพลนต์เล่าเรื่องนี้ไว้อย่างสนุกว่า "มันโคตรจะบ้าบอ, เราแต่งเพลงกันในโรงแรมแล้วก็ไปอัดแบ็คกิ้งแทร็คในลอนดอน, ไปใส่เสียงร้องในนิวยอร์ค,อัดเสียงฮาร์โมนิก้าทับลงไปที่แวนคูเวอร์ แล้วก็มากลับมามิกซ์ตอนสุดท้ายในนิวยอร์ค"

ถ้าพวกเขาจะตั้งชื่อให้อัลบั้มนี้เป็นชื่ออื่นนอกจาก II มันก็อาจจะเป็น Zep On The Move และแม้ว่าจะอัดเสียงกันหลายต่อหลายที่ ซาวนด์ของอัลบั้มกลับฟังดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวไม่แปลกแยก มันไม่ใช่อัลบั้มที่มีซาวนด์เนี้ยบนิ้ง (ในแง่ของ fidelity ผลงานชุดนี้อ่อนด้อยกว่าชุดแรก) แต่ II มีความดิบสดของสุ้มเสียงที่ไม่เหมือนอัลบั้มใดๆของ Zep และความรีบเร่งฉุกละหุกตลอดการผลิต กลับทำให้มันเต็มไปด้วยความทรงพลังและเซ็กซี่ที่ทุกคนสัมผัสได้ทั้งในดนตรีและเนื้อหา

นอกจากเพจเองที่ทำให้สุ้มเสียงของ Led Zeppelin II ออกมาได้ยอดเยี่ยมแบบนี้ก็ต้องของคุณ Eddie Kramer เอ็นจิเนียร์ชื่อดัง (เขาเพิ่งมิกซ์อัลบั้ม Electric Ladyland ให้จิมี่ เฮนดริกซ์) ที่มานั่งมิกซ์กับเพจด้วยสองวันเต็มๆ เครเมอร์เล่าถึงการมิกซ์เสียงในช่วงกลางเพลง Whole Lotta Love ที่ทั้งหลอนทั้งพลิ้วกันอุตลุตว่า "ไอ้ตรงช่วงที่ทุกๆอย่างกำลังอลหม่านนั่น จริงๆแล้วก็คือการผนวกพลังของผมกับเพจพล่านกันไปทั่วคอนโซลเล็กๆ หมุนปุ่มทุกปุ่มที่มนุษย์ชาติเคยรู้จักกันมา"

เมื่อพูดถึง Whole Lotta Love มันคือมหากาพย์อีกด้านของ Zep ที่แม้แต่ Stairway To Heavenก็ยังมิอาจสยบ ริฟฟ์สั้นๆของเพจในแทร็คนี้คือความยิ่งใหญ่ของดนตรีฮาร์ดร็อคที่เทียบได้กับสี่โน๊ตในซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเบโธเฟน, บอนแฮมได้โชว์ฝีมือกลองระดับอัจฉริยะที่ไม่ได้มีแต่ความหนักหน่วงเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ใครเข้าใจ, และแพลนต์..กับ every inch of his love.....อาจจะมีผู้ชายที่ร้องเพลงได้เซ็กซี่มากมายในโลก แต่จะมีใครเซ็กซี่แบบดิบเถื่อนและมีระดับในตัวเองได้เหมือนโรเบิร์ต? ถ้าเพลงนี้จะมีปมด้อยหรือราคีก็ตรงข้อหาหยิบยกบางส่วนมาจากเพลง You Need Love ของ Willie Dixon แต่ก็ตกลงกันไปนอกศาลเรียบร้อยไปนานแล้ว Led Zeppelin II มีปัญหากับการละเมิดลิขสิทธิ์ตรงนี้อยู่หลายเพลงทีเดียว

เคล็ดลับที่ไม่ลับที่เพจมักกล่าวถึงเสมอคือหลักการ 'light and shade' (มีเบา...มีหนัก) ในการบรรเลงของ Zep และWhat is and What should never be ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ว่ากันว่าแพลนต์แอบแต่งเพลงนี้ให้กิ๊กคนโปรดของเขา (เพื่อความสมดุลย์กับ Thank You ที่แต่งให้ภรรยาในอีกไม่กี่แทร็คถัดมา) อารมณ์เพลงนี้ออกไปทาง jazzy พลิ้วๆมาก ก่อนที่จะมาลง 'shade' ในช่วงคอรัสให้สมเป็นวงฮาร์ดร็อคสักหน่อย

The Lemon Song ก็เป็นอีกเพลงที่มีแหล่งอ้างอิงจากเพลงบลูส์เก่าๆ คราวนี้เป็น 'Killing Floor' ของ Howlin' Wolf และเนื้อร้องบางส่วนจาก Travellin' Riverside Blues ของ Robert Johnson แต่ฝีมือการบรรเลงของพวกเขาในแทร็คนี้ถือว่ามหาเทพ โดยเฉพาะลูกโซโล่ติดสปีดของเพจและการร่ายมนต์เบสสุดล้ำตลอดเพลงของโจนส์

Thank You เพลงช้าหวานที่แพลนต์แต่งเสียเยิ้มให้มัวรีนภรรยาสุดเลิฟ โจนส์เล่นออร์แกนในแทร็คนี้เสียงร้องของโรเบิร์ตบางช่วงฟังคล้ายร็อด สจ๊วต

ถึงตอนนี้ถ้าเป็นแผ่นเสียงก็ต้องพลิกมาเป็นหน้าบีที่เปิดตัวอย่างสุดสะท้านฟ้าด้วย Heartbreaker ช้า,หนัก เหมือนรถตีนตะขาบที่บดขยี้ไปข้างหน้า นี่คือเพลงโชว์เคสของเพจที่มีท่อน unaccompanied (คนอื่นหยุดหมด) มันลือลั่น ก่อนที่จะโซโล่อย่างเมามันส์พร้อมกับผองเพื่อน ต่อกันแบบแทบไม่เว้นช่องไฟด้วย Livin' Lovin' Maid (She's Just A Woman) ที่น่าจะเป็นเพลงที่"โจ๊ะ"ที่สุดของพวกเขา อาจจะดูง่ายไปหน่อยสำหรับ Zep แต่ก็ไม่บ่อยที่จะเห็นพวกเขาสนุกกันแบบนี้ในบทเพลง สมาชิกของวงส่วนมากจะไม่ค่อยชอบเพลงนี้ แต่ผมชอบนะ มันดูสนุกสนานและติดดินในแบบบ้านๆดี ที่ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาก็เล่นกันได้

Ramble On เนื้อหาได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของJ.R.R. Tolkien (Lord of The Rings) (จึงไม่น่าประหลาดใจที่เนื้อเพลงดูสละสลวยสวยงามเป็นพิเศษ) อคูสติกกีต้าร์โดดเด่น และคาแรกเตอร์ของบทเพลงที่ชี้ไปถึงอนาคตของพวกเขาใน Led Zeppein III

น่าเสียดายที่เพลงโชว์กลองของบอนแฮม Moby Dick กลับไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ช่วงโซโล่กลองของเขาดูเหงาๆ แทร็คนี้อาจจะเหมาะกับการเล่นไลฟ์มากกว่า ซึ่งบองโซ่มักจะโชว์การฟาดกลองด้วยมือเปล่า เรียกโลหิตออกมาเป็นขวัญตาผู้ชมเสมอ

และปิดท้ายด้วย Bring It On Home เพลงบลูส์ของ Willie Dixon ที่แพลนต์และเพจนำมาแต่งต่อโดยไม่ได้ให้เครดิตแก่ดิกซันอีกครั้ง นำมาซึ่งการฟ้องร้องอีกครา เป็นแทร็คที่ Zep ชอบนำมาเล่นในคอนเสิร์ตจนกระทั่งปี 1973
--------
ดนตรีเฮฟวี่ ไม่ได้มีแต่ความรุนแรงเพียงอย่างเดียว จริงล่ะ เฮฟวี่บางแขนงอาจจะอัดและแหกปากกันอย่างไม่ลืมหูลืมตาทุกวินาที แต่นั่นเป็นเพียงส่วนน้อย เฮฟวี่ส่วนใหญ่จะมีหนักมีเบา มีความคิดสร้างสรรค์ของการเรียบเรียงดนตรีให้รับใช้สิ่งที่พวกเขาต้องการนำเสนอในเนื้อหา ไม่เถึยงว่า คนชอบเฮฟวี่ส่วนหนึ่งก็ย่อมเป็นคนที่รู้สึกว่าเสียงกีต้าร์ที่รวดเร็วกรีดบาด,เบสกลองถล่มทลายและเสียงร้องสูงปรี๊ดทรงพลังเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุข และอาจเป็นการบำบัดอย่างหนึ่งต่อใจที่ถูกกดดันจากสภาพแวดล้อมสารพัด แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด เพลงเฮฟวี่มักจะเป็นงานสร้างสรรค์ที่เกิดจากใจ และต้องการให้มันคงอยู่ไปตลอด ทั้งด้านเนื้อหาและดนตรี และนั่นคือคุณค่าที่แท้จริงของดนตรีสายหนักนี้ และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้คนชอบเพลงเฮฟวี่ เข้าใจไหม มิตรสหาย?
ถ้ายังไม่เข้าใจก็เอาไปฟังซะ Led Zeppelin II.

#9 The Beatles :: Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band (1967)



คุณมี "อวตาร" ใน facebook ไหม? ถ้ามีคุณจะเข้าใจ แต่ถ้าไม่เคยมี ลองสร้างดู เมื่อใดที่คุณสวมบทบาทอวตารนั้น แม้ว่าเพื่อนๆจำนวนหนึ่งจะทราบดีว่านั่นคือคุณอยู่ในเบื้องหลัง แต่คุณจะไม่เหมือนเดิม คุณจะมีอิสระในการโพสต์และคอมเมนต์ ถ้อยคำต่างๆที่"ตัวจริง"ของคุณไม่มีทางพิมพ์ลงไปได้ มันพรั่งพรูมาได้อย่างไรก็ไม่ทราบ

นั่นเป็นเหตุผลที่ The Beatles ที่กำลังเอียนในความเป็น The Beatles เต็มทน ต้องสร้างอวตารของพวกเขาขึ้นมา ณ นาทีนั้น พวกเขาไม่ใช่ The Beatles อีกต่อไป แต่นี่คือวง Lonely Hearts Club Band ของจ่า Pepper ผู้สอนให้พวกเขาเล่นดนตรีกันมาตั้งแต่ ๒๐ ปีที่แล้ว นั่นหมายความว่าในปีนี้ มันก็ It was 70 years ago today!

ใช่, ใครๆก็รู้ว่าไอ้วง Sgt. Pepper นี้ก็คือ The Beatles นั่นแหละ แต่มันก็ให้อิสรภาพในการแสดงออกของพวกเขาได้อย่างน่าประหลาด พวกเขาแต่งเนื้อแต่งตัวย้อนยุค โพสต์ท่าถ่ายภาพปกร่วมกับ cut outs ของเหล่าคนดังที่พวกเขาชื่นชอบ ในบรรยากาศรื่นรมย์บนหลุมศพ และสร้างอัลบั้มที่เสมือนหนึ่งบันทึกการแสดงฉลองครบรอบ ๒๐ ปีของวงของจ่าพริกไทยนี้

มันเริ่มต้นด้วยการแนะนำวงดนตรีและความเป็นมา ก่อนส่งต่อให้นักร้องนำเสียงเสน่ห์ "บิลลี่ เชียร์ส" หลังจากนั้นวงของจ่า ก็พาผู้ฟังไปกับแนวดนตรีที่ going in and out of styles ไปตามแต่ความปรารถนาของความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาจะนำ และยถากรรม(ในแง่บวก)ของคนฟังผู้โชคดีทุกคน หลุดไปในโลกของวันเดอร์แลนด์ใน Lucy In The Sky With Diamonds ย้อนเวลาไปในงานวัดฝรั่งใน Being For The Benefit of Mr. Kite! ลงลึกไปในหัวใจของตนเองกับดนตรีภารตะใน Within You Without You....etc. ก่อนที่วงของจ่าจะย้ำเตือนผู้ชมอีกครั้งว่ากำลังดูคอนเสิร์ตของวงนี้อยู่นะ ในเพลง Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band (reprise)

A Day In The Life อาจมองว่าเป็น encore ของการแสดงนี้ของวงจ่า หรือเป็นการกลับสู่โลกแห่งความจริงของความเป็น The Beatles นี่คือเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เล่าเรื่องราวธรรมดาๆของชีวิตในวันหนึ่ง ความไร้สาระที่เป็นสาระแห่งความเป็นมนุษย์ และความฟินที่เรียกกันว่า turn on ผ่านดนตรีร็อคที่เล่นกับวงออเคสตร้าในแบบที่ไม่เคยมีใครทำกันมาก่อน จบด้วยเสียงเปียโน 10 หลังกระหน่ำพร้อมกัน oh boy!

มันยากที่จะรับมือกับงานที่มีชื่อเสียงก้องจักรวาลระดับนี้ เมื่อคุณมาฟังมันหลังจากห้วงเวลาที่มันออกสู่โลกมาหลายปี ความคาดหวังอันสูงส่ง ความแปลกแยกจากยุคสมัย ที่อาจทำให้มันล้าไปไม่มากก็น้อย และผมก็ยังโชคร้ายที่ดันมาเริ่มกับเทป EMI สมัยนั้น ที่มีการสลับเพลงจากชุดอื่นมาใส่ เพราะปัญหาด้านเนื้อเพลงล่อแหลม คิดดูสิครับ Pepper ที่ไม่มี Lucy และ A Day In The Life อย่าออกมาเลยดีกว่าถ้าจะแบนแบบนี้

แต่คู่กันแล้วไม่แคล้วกัน หลังจากได้ฟังอัลบั้มในแบบถูกต้องตามหลักอนามัยในเวลาต่อมา ผมก็เริ่มหูสว่าง และยิ่งปรับใจให้รับได้กับยุคสมัยที่แท้จริง รวมกับศึกษาเบื้องหลังอลังการงานสร้างของมัน ผมก็ยิ่งขนลุกขนพองไปกับความมหากาฬของ Sgt. Pepper จากอัลบั้มที่เคยรู้สึกงั้นๆ และไม่เข้าใจว่าทำไมยกย่องกันนักหนา มันค่อยๆไต่อันดับในหัวใจขึ้นมาเรื่อยๆ และแทบไม่รู้ตัว ว่าผมฟังมันบ่อยเหลือเกิน

และเมื่อผมคิดว่าไม่มีอะไรจะไปต่อแล้วสำหรับการเสพอัลบั้มนี้ วันหนึ่ง mono version ของ Pepper ก็เดินทางเข้าสู่โสตประสาท (ก่อนหน้านี้ฟัง stereo มาตลอด)

It's getting better!

รวมเบ็ดเสร็จแล้ว ก็ฝากมันไว้ที่อันดับ ๙ นี่ล่ะครับ

#10 The Beatles :: The BEATLES (1968)



ถ้า Rubber Soul คือสาวหวานขี้เล่น, Revolver คือหญิงเปรี้ยวฉลาดเฉลียวชอบลองของ, Sgt. Pepper ย่อมเป็นสตรีระดับผู้บริหาร และ Abbey Road คือรุ่นใหญ่ระดับนายกรัฐมนตรีหญิง แล้ว White Album ควรจะเป็นอะไรดี? จากความหลากหลายและหวือหวาสุดขั้วของ 30 เพลงในนี้ วินิจฉัยว่าเธอน่าจะเป็นคนป่วยบุคลิกหลายแบบ (Multiple Personality Disorder) เป็นแน่แท้ คุณพร้อมจะรับมือกับเธอไหม?

หลังจากจุดสูงสุดทาง creative ใน Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band (1967) สี่เต่าทองก็ไม่มียอดเขาจะปีนต่อ แน่ล่ะ,ยังมีอะไรแปลกๆแหวกแนวใน White Album อยู่บ้าง แต่ความคิดสร้างสรรค์แบบร่วมมือร่วมใจกันคิดค้นในยุคก่อนหน้านี้แทบไม่มีเหลือแล้ว พวกเขาทำดนตรีในแบบที่พวกเขา"แต่ละคน"อยากจะทำ ก็เท่านั้น

แต่มันไม่ใช่ "ก็เท่านั้น" นี่คือมหกรรมยำใหญ่แนวดนตรีมหาศาล ไม่ถึงกับทุกแนวในโลก แต่ก็เยอะจนเหลือเชื่อว่านี่คือผลงานของวงดนตรีวงเดียวกัน ตั้งแต่ร็อคแอนด์โรล,โฟลค์, บลูส์, เฮฟวี่, แจ๊ส, คันทรี่,ฟังกี้ ยัน อวองต์-การ์ด

ถ้าใครถามว่า The Beatles เล่นดนตรีแนวไหน โยนอัลบั้มคู่ชุดนี้ให้เขาฟัง แล้วสำทับไปว่า ก็ได้เกือบจะทุกแนวแหละ และยังมีแนวที่นายอาจจะไม่คิดว่าเป็นแนวอีกด้วยนะ!

ประมาณยี่สิบปีก่อน พี่สมบูรณ์ งามสุริยโรจน์ได้เขียนถึงอัลบั้มนี้ไว้ในบทความ "30 ปี The Beatles" อันลือลั่น (สตาร์พิคส์) โดยพี่เขาแยกบทเป็นเพลงของแต่ละคนในอัลบั้มนี้เลย ซึ่งผมว่ามันแหล่มมาก

งั้นลองมาฟัง The BEATLES กันในแบบนั้นดีไหมครับ เรียงกันตามลำดับยอดนิยม จอห์น-พอล-จอร์จ และ ริงโก้.....


https://tidal.com/playlist/4c15546c-4327-474b-93ef-b7946ec5ea2b

#11 Led Zeppelin :: Untitled (1971)




ด้วยความมั่นใจถึงขีดสุดว่าดนตรีของพวกเขาเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะขายได้ อัลบั้มชุดที่ 4 ของ Led Zeppelin จึงไม่มีชื่อวงดนตรีหรือชื่ออัลบั้มบนปก ไม่มีแม้แต่ภาพของสมาชิกในวง อันที่จริงแล้ว มันไม่มีชื่ออัลบั้มให้เรียกกันเลยด้วยซ้ำ! แต่ยังไงเสียแฟนเพลงและสื่อมวลชนก็ต้องตั้งชื่อให้มันกันเองล่ะ ไม่อย่างนั้นคงสื่อกันไม่ถูก ชื่อที่นิยมและเรียกกันง่ายที่สุดในปัจจุบันก็คงจะเป็น Led Zeppelin IV นั่นเอง ส่วนชื่ออื่นๆก็มีตั้งแต่เรียกเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวสมาชิกทั้งสี่ที่อ่านไม่ได้นั่น, Four Symbols,The Fourth Album, Runes, The Hermit และ ZoSo

แต่ชื่อเสียงของ Led Zeppelin อยู่ตัวขนาดนั้นแล้ว การประสบความสำเร็จของ IV จึงไม่ได้บอกอะไรว่าการทำปกไร้ชื่อแบบนี้ก็ขายได้ถ้าดนตรีดีพอ แต่..อีกที...ดนตรีในชุดนี้ มันก็ดีพอจริงๆ มันดีเกินพอไปมากด้วย นี่คือบทสรุปทุกอย่างในความเป็น Led Zeppelin ที่เคยเป็นมา และจะเป็นต่อไปจวบจนวันสุดท้ายของพวกเขาไว้ใน 8 แทร็คอันยิ่งใหญ่นี้ ที่แต่ละเพลงไปคนละทิศละทาง เหมือนซุ้มแยกกัน แต่ละซุ้มก็ต่างมีทีเด็ดส่วนตัว

➳ ริฟฟ์กีต้าร์เหนียวหนืดหนาเปอะและจังหวะขัดหัวใจที่เมามันส์ใน metal blues ของ Black Dog

➳ เฉลิมฉลองยุคทองของร็อคแอนด์โรล ด้วยการนำมันมาเล่นในแบบสุดหนักหน่วงด้วยอารมณ์ปาร์ตี้ที่ไม่สนโลกใน Rock And Roll

➳ ต่อยอดจาก Led Zeppelin III ด้วยอคูสติกโฟล์ค 2 แนวทาง ปรัมปราสะกดจิตใน The Battle of Evermore และ ฮิปปี้สะกดใจใน Going To California

➳ Funk Rock นำด้วยออร์แกน,กลองสนั่นหวั่นไหว และเสียงประสานไพเราะ(ก็มีกะเค้า)ใน Misty Moutain Hop

➳ Abstract and Experimental ใน Four Sticks พร้อมด้วยไม้กลองสี่ไม้ในสองมือบองโซ่เหมือนชื่อเพลง

➳ ทำนบแตกด้วยเสียงกลองที่หนักราวฝีเท้าบองโซซอรัส และการมิกซ์ขั้นเทพของเสียงหีบเพลงปากและกีต้าร์ที่อลหม่านใน When The Levee Breaks

➳ และ....สุดท้าย (ที่จะกล่าวถึง) Stairway To Heaven.... 8.02 นาทีที่มหัศจรรย์ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยทำเพลงบัลลาดร็อคกันมา มันอาจจะมีเพลงร็อคในแบบที่ค่อยๆสร้างอารมณ์จากความเชื่องช้าอ่อนหวานแล้วมาระเบิดตอนท้ายในแบบเพลงนี้อีกเป็นร้อยเป็นพันเพลง แต่จะหาเพลงไหนทำได้สมบูรณ์เท่านี้ได้เล่า? ตั้งแต่เสียงอคูสติกกีต้าร์อินโทรของเพจอันคุ้นหูล้อไปกับเสียง recorder ของโจนส์ เสียงร้องอ้อยสร้อยเชิงค้นหาของแพลนต์ บอนแฮมรอคอยอยู่ครึ่งเพลงกว่าจะได้ฟาดกลองครั้งแรก และเขาก็ไม่เคยหยุดกระหน่ำหลังจากนั้น และท่อนโซโล่กีต้าร์นั่น...ยังก่อน ก่อนจะถึงท่อนโซโล่ มันมีท่อน"ส่ง"ที่สำคัญและทำได้ยอดเยี่ยม มันทำให้ท่อนโซโล่อมตะของเพจถึงพร้อมในอารมณ์ยิ่งขึ้น และมันคงไม่ได้รับการโหวตให้เป็นท่อนโซโล่กีต้าร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลหลายต่อหลายครั้งด้วยความบังเอิญ แพลนต์กลับมาอีกครั้งด้วยเสียงอันเหลือเชื่อของเขา ก่อนที่เพลงจะจบลงอย่างเงียบสงบราวกับความตาย Stairway อาจเป็นอีกเพลงยิ่งใหญ่เพลงหนึ่งที่ถูกทำลายด้วยการเปิดฟังกันบ่อยเกินไป แต่มันเป็นความผิดของใครหรือ

ในความเห็นของผม, นี่ไม่ใช่อัลบั้มของ Led Zeppelin ที่ผมชอบที่สุด แต่ในแง่ดนตรี, ผมไม่เห็นว่าจะมีชุดไหนจะเอาชนะมันได้ครับ ทั้งความหลากหลาย,สร้างสรรค์ และ.... ฝีมือ!

#12 The Beatles :: A Hard Day's Night (1964)



"The Beatles ช่วยให้โลกรอดพ้นจากหายนะแห่งความเบื่อหน่าย"

จอร์จ แฮริสัน เคยหล่นวาทะกวนๆนี้เอาไว้ในยุคบีเทิลมาเนีย ความสดใหม่ ร่าเริงสดใส คมคาย เฮฮา ในความเป็นตัวของตัวเองของสี่หนุ่มลิเวอร์พูลที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า "สี่เต่าทอง" (คงไม่มีชาติอื่นเรียกแบบนี้) เป็นการยืนยันว่าประโยคนี้ของจอร์จเป็นจริงแท้แน่นอน ไม่มีศิลปินคน,หรือวงไหน มีคุณสมบัติอย่างนี้มาก่อน และ A Hard Day's Night อัลบั้มชุดที่ ๓ และหนังเรื่องแรกของพวกเขาคือจุดสูงสุดของกราฟแห่งความบ้าคลั่งของกระแส Beatlemania ในปี 1964

ทุกอัลบั้มของ The Beatles ริงโก้ สตาร์ มือกลองผู้น่ารักจะได้รับเกียรติให้ร้องนำ ๑ เพลง อาจจะเป็นเพลง cover หรือเพลงที่ Lennon-McCartney แต่งให้ (จนช่วงท้ายๆของวงที่ริงโก้จะลงมือโชว์ฝีมือเอง) แต่ใน A Hard Day's Night เป็นอัลบั้มเดียวที่ริงโก้ได้แต่ตีกลองอย่างเดียว มันเป็นงานที่มีแต่เพลง original ชุดแรกของพวกเขา และเป็นชุดเดียวที่เป็นผลงานของ Lennon-McCartney ทุกเพลง เพลงดีๆมีแน่นขนัดเกินไปกว่าที่จะเหลือที่ให้ริงโก้ ขอโทษด้วยนะ!

แต่อย่างน้อยเขาก็เป็นคนคิดชื่ออัลบั้มนี้และเป็นชื่อของภาพยนตร์เรื่องแรกของ Beatles ด้วย จากคำบ่นลอยๆตอนย่ำค่ำของริงโก้ ที่เตะหูริชาร์ด เลสเตอร์ ผู้กำกับ ทำให้จอห์น เลนนอน ต้องเร่งรีบกลับบ้านไปแต่งเพลงนี้ให้เสร็จในคืนเดียว ก่อนจะมาบันทึกเสียงกันในวันต่อมา จัดเป็นเพลงของ Beatles ที่้ใช้เวลาในการสร้างสรรค์สั้นที่สุด (ไม่นับเพลงที่แต่งสดๆในห้องอัด)

7 เพลงในหน้าแรก เป็นเพลงที่ใช้ในภาพยนตร์ A Hard Day's Night ส่วนที่เหลือเป็นเพลงสำหรับอัลบั้มนี้โดยตรง แต่คุณไม่จำเป็นต้องชมภาพยนตร์เพื่อที่จะฟังอัลบั้มนี้ให้สนุก มันสนุกและยอดเยี่ยมในตัวของมันเองอยู่แล้ว (ไม่ได้หมายความว่าหนังไม่น่าดูหรือไม่สนุก--ตรงกันข้าม มันคือหนังเพลงระดับคลาสสิกของวงการที่คุณต้องดู) 13 เพลงในอัลบั้มนี้ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องรักใคร่ของหนุ่มสาวในมุมมองต่างๆกัน ณ จุดนี้ จอห์น และ พอล ไม่ได้นั่งแต่งเพลงด้วยกันแบบตาจ้องตากันเหมือนยุคแรกอีกต่อไปแล้ว (ยกเว้นบางกรณี) แต่จะเป็นต่างคนต่างเขียนแล้วมาเสริมและแก้กันมากกว่า

ถ้านับที่สัดส่วนการประพันธ์ A Hard Day's Night เป็นงานที่เรียกได้ว่า"เลนนอนคุม" นอกจาก Can't Buy Me Love, Things We Said Today และ And I Love Her ที่เป็นผลงานของพอลแล้ว เพลงที่เหลือจอห์นเหมาแต่งแทบทั้งหมด George Harrison ก็ไม่ได้แต่งเพลงเลยในชุดนี้ แต่ยังโชคดีกว่าริงโก้ เขาได้รับเพลงจากเลนนอน-แมคคาร์ทนีย์มาร้อง ๑ เพลง คือ I'm Happy Just To Dance With You ที่ออกลีลาเพลงรักกระจุ๋มกระจิ๋มต่อเนื่องไปได้กับ Do You Want To Know A Secret ที่จอร์จร้องไว้ในอัลบั้มแรก

จะฟังเอาสนุก เอาความไพเราะอย่างเดียว อัลบั้มนี้มีให้คุณเต็มเปี่ยม แต่ถ้าจะลงลึกไปในแต่ละเแทร็ค ทุกเพลงแทบจะมีตำนานในตัวเอง เสียงคอร์ดแรกอันสร้างความงงงวยให้นักกีต้าร์นับล้านๆว่ามันคือคอร์ดอะไรในเพลง A Hard Day's Night และการสลับกันร้องอันแสนสนุกของจอห์นและพอล, เพลงรักง่ายๆที่จับใจทันควันอย่าง I Should Have Known Better (หลายคนคิดถึงแต่หน้าแพ๊ตตี้ บอยด์เมื่อเพลงนี้ดังขึ้น), การเปลี่ยนคอร์ดอย่างวุ่นวายแทบทุกโน้ตและเสียงประสานอันงดงามกับเนื้อหาที่ซับซ้อนเกินเพลงรักทั่วไปใน If I Fell, ความไพเราะอันเรียบง่ายอมตะและเสียงกีต้าร์สแปนิชสุดหรูของจอร์จใน And I Love Her, เมื่อพวกเขาสวมวิญญาณ doo-wop girl group ใน Tell Me Why และเพลงแรกที่บันทึกเสียงในอัลบั้มนี้-- Can't Buy Me Love ที่เหมือนจะเป็นเพลง cover จาก Count Basie หรือ Duke Ellington มากกว่า ในจังหวะ big band beat ของมัน (ไม่น่าแปลกใจที่ป้าเอลล่ารีบนำมันไปร้องบันทึกเสียงใหม่อย่างรวดเร็วหลังจากได้ยิน)

หน้าสอง แม้เพลงจะไม่ "ดัง" เท่า แต่ก็ไม่ได้ด้อยอรรรถรส Any Time At All จอห์นตะโกนร้องได้อย่างมันส์ในร็อคเกอร์สนุกง่ายๆเพลงนี้ มันเป็นเพลงในแบบที่ไบรอัน อดัมส์น่าจะชอบ (และไม่กี่ปีก่อนเขาก็นำมันไป cover เรียบร้อย) เนื้อหาเหมือนจอห์นจะล้อตัวเองจากเพลง All I've Got To Do (จาก With The Beatles) แค่เปลี่ยนข้างคนที่เริ่มโทรหา, I'll Cry Instead คันทรี่ร็อค เนื้อหาดาร์ค แต่ดนตรีแสนสนุกสนาน, When I Get Home--A Hard Day's Night (reprise)? ,Things We Said Today อาจจะเป็นเพลงที่ลึกซึ้งที่สุดในอัลบั้มทั้งดนตรีและเนื้อหา การมองไปในอนาคตให้ย้อนอดีตมาถึงทุกวันนี้ ,You Can't Do That ใครจะเชื่อว่าเพลงดีขนาดนี้เป็น B-side ของ Can't Buy Me Love และมาหลบอยู่ท้ายอัลบั้ม? เนื้อหาออกก้าวร้าวในสไตล์หนุ่มขี้หวง (อันจะมีอีกหลายเพลงของจอห์นตามมาในแนวนี้) แต่ความโจ๊ะของเพลงกลบเกลื่อนมันเสียหมด

แฟนเพลง Beatles ในปี 1964 คงจะดีใจที่แทร็คสุดท้ายคือ I'll Be Back เหมือนสัญญาที่พวกเขาให้ไว้ว่าจะกลับมา...ในอีกไม่นานนัก


#13 Travis :: The Man Who (1999)




สุข หวาน เศร้า ชัยชนะของผู้แพ้
----------------------
The Man Who

Who ไหน? ชื่อชุดนี้เหมือนอยากจะแขวนเราไว้กลางประโยคที่ไม่ยอมพูดให้จบ แม้จะใส่เครื่องหมายคำถามหรือ ... เสียหน่อยก็ไม่ได้ ด้วยความลำเอียง ผมคิดว่าเป็นความจงใจทางศิลปะของ Travis เลย ที่จะเล่นกับอารมณ์คนฟังตั้งแต่ชื่ออัลบั้ม แต่สำหรับคนที่ไม่อยากคาใจ ชื่อนี้เอามาจากหนังสือ The Man Who Mistook His Wife For A Hat ของ neurologist ชื่อ Oliver Sacks คุณคงรู้ว่าจะหามาอ่านได้อย่างไร

The Man Who ช่วยปิดท้ายการฟังเพลงของศตวรรษที่ 20 ของผมได้อย่างสมบูรณ์ มันเป็นอัลบั้มที่สองต่อจาก Good Feeling ซึ่งผมไปหามาฟังทีหลังและมันแตกต่างกันราวกับคนละวง (ไม่ชอบ) การเข้ามาในฐานะโปรดิวเซอร์ของไนเจล กอดริช (OK Computer) เป็นส่วนสำคัญ บางคนว่านี่คือ OK Computer ฉบับสำหรับสุภาพสตรีและเด็ก ถ้าคุณชอบเพลงอย่าง No Surprises ในอัลบั้มนั้นของ Radiohead หยิบความหลอนออกไป ใส่ความหวานขื่นเข้าแทนที่ นั่นแหละ The Man Who เริ่มต้น ณ จุดนั้น

โทนรวมของอัลบั้มนี้เยือกเย็นเศร้าหวานเหมือนกับภาพปกและภาพด้านใน เสียงร้องของฟราน ฮีลลีย์และบทเพลงของเขาแทบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของอัลบั้ม ไม่มีเพลงร็อคเขย่าสเตเดี้ยมเหมือนในอัลบั้มแรกสักเพลงเดียว แต่แม้จะเป็นเพลงในแนว bittersweet rock เหมือนกันหมด รายละเอียดของมันในแต่ละแทร็คก็ต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นค่าคงที่คือความงดงามของเมโลดี้ที่เปล่งกระกายเจิดจ้าแหวกความหวานขมเหล่านั้นออกมาในทั้ง ๑๐ แทร็ค

☂ Writing To Reach You เปิดประเด็นความเศร้าเหงา จดหมายที่ไม่มีวันส่ง แต่ยังไงก็อยากจะเขียน "Cause I'm writing to reach you, but I might never reach you..." ฟรานใช้ถ้อยคำธรรมดาๆในการบรรยายความปั่นป่วนในอารมณ์ได้เป็นอย่างดี "Because my inside is outside, my left side's on the right side...."

☂ The Fear เสียงกลองเชื่อมต่อแทร็ค และเนื้อหาก็ดูจะเป็นเรื่องเดียวกับ Writing... ฟรานดูจะสนุกกับการหาคำมาสัมผัสกับคำว่า Fear ตลอดเพลง fear...here.... year.... clear... the tear is here...

☂ As You Are อารมณ์เศร้าแบบหงอยๆพัฒนามาเป็นเศร้าแบบก้าวร้าว ฟรานตะโกนร้องท่อนคอรัสด้วยอารมณ์เหมือนคนที่ถึงที่สุดแล้ว แต่วินาทีต่อมาดนตรีก็ดึงเขาลงมาอ้อยสร้อยเหมือนเดิม... พอจะสรุปได้ว่า"เธอ"ในเพลงนี้ช่างเป็นคนที่ร้ายกาจเหลือแสนแต่"ฉัน"ก็ไม่มีทางเลือก ก็มันรักนี่ แม้ว่ามันจะไม่สนุกเท่าไหร่กับการอยู่กับคนแบบนี้ แต่เดี๋ยวก่อนนะ นี่อาจจะไม่ใช่เพลงรัก แต่อาจเป็นเพลงด่านักการเมืองก็เป็นได้ กีต้าร์โซโล่ในเพลงนี้เป็นการยืนยันว่าพวกเขาจะร็อคหนักก็ได้ ถ้าจะอยากทำ

☂ Driftwood เพลงที่ upbeat ที่สุดในอัลบั้ม เหมาะนักที่จะเป็นซิงเกิ้ล 'I'm sorry that you turned to driftwood. But you've been drifting for a long, long time...' Driftwood ในที่นี้ฟรานเปรียบเทียบเหมือนคนที่ใช้ชีวิตล่องลอยไปตามกระแสน้ำแล้วแต่จะพาไป เหมือนท่อนไม้ที่ไร้การบังคับ และสุดท้ายก็ต้องถูกกระแทกแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่คนแบบนี้จะไปแนะนำอะไรเขาได้ ก็เขาล่องลอยอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

☂ Why Does It Always Rain On Me? เป็นหนึ่งในเพลงที่เยี่ยมที่สุดในอัลบั้ม เนื้อเพลงเอาใจ loser เต็มที่ เป็นการพยายามหาเหตุผลที่ไม่น่าเป็นไปได้ในความเป็นผู้แพ้ของตน โดยใช้สายฝนเป็นตัวแทนของความปวดร้าว หรือ ถ้าจะตรงกว่านั้น: "ความซวย" สามแทร็คใน The Man Who ที่ไนเจลไม่ได้โปรดิวซ์คือเพลงนี้, Turn และ She's So Strange ซึ่งฟังดูแล้วจะไม่มีซาวด์แบบกรุ๊งกริ้งที่ไนเจลชอบใส่ (ได้ยินชัดใน The Last Laugh Of The Laughter) แต่สุ้มเสียงก็ไม่หนีกันมาก เพราะเขาก็เป็นคนมิกซ์ทั้งสามเพลงนี้อยู่ดี อ้อ สามเพลงนี้คนโปรดิวซ์คือ Mike Hedges

☂ Luv เป็นเพลงที่ทำให้หนึ่งในพี่น้องกัลลาเกอร์ (จำไม่ได้ว่าคนไหน) น้ำตาพรากมาแล้ว เมื่อฟรานเล่นและร้องสดๆให้เขาฟัง เนื้อหาว่ากันตรงๆ ฮาร์โมนิกากระชากใจขาดวิ่น เป็นเพลงปลอบใจคนร้องที่เอาไว้ร้องเวลาจะเห็นเธอจาก แต่หากกระนั้น มันกลับทำให้เขาสำนึกว่าเขายังคงรักเธออยู่มากมายแค่ไหน....

☂ Turn... ร็อคช้าๆที่เหมาะสำหรับ Live ที่สุดในอัลบั้ม (ตัดเป็นซิงเกิ้ล) เนื้อหา-- เรามักจะอยากทำอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ได้ทำสักที บางทีสิ่งที่เราต้องทำก็แค่การขยับหักมุมสักครั้งเดียว
So where's the stars?/ Up in the sky /And what's the moon /A big balloon
We'll never know/ Unless we grow/ There's so much world/ Outside the door....
(งดงามนะครับ สองท่อนนี้)

☂ Slide Show เป็นเพลงปิดอัลบั้มหมองๆนี้ได้สมบูรณ์แบบ และถ้าคุณอารมณ์ค้าง นั่งนิ่งไม่ยอมเดินไปปิดซีดี อีกพักใหญ่ๆต่อมา (ซักหกนาทีกว่ามั้ง) คุณจะได้ยินเสียงเพลงร็อคค่อนข้างอึกทึกค่อยๆดังขึ้นมา นั่นละครับ hidden track 'Blue Flashing Light' ยุคนั้น hidden track ไม่ใช่ของเกร่อแบบทุกวันนี้ และสำหรับผมกว่าจะเจอมันก็เล่นไปหลายรอบเหมือนกัน Blue... เป็นเพลงที่ต่างออกไปจากทุกเพลงใน The Man Who มันคล้ายๆบางเพลงใน Ok Computer ผสมกีต้าร์รกรุงรังแต่น่าฟังแบบ Oasis ในสองชุดแรก สำหรับผม hidden track ก็เหมือน Encore ในลีลาหนึ่ง...

มันเป็นอัลบั้มที่ระคนความเศร้าและสุขและความไม่ยี่หระต่อสิ่งที่เรียกว่าชัยชนะกันเอาไว้อย่างเป็นธรรมชาติ ณ จุดหนึ่งในการฟัง The Man Who ผมพอจะเข้าใจล่ะ ว่าทำไมผู้ชายคนนั้นถึงจำภรรยาสลับกับหมวกใบนั้นได้

#14 Pink Floyd :: The Wall (1979)




ไม่กี่วันก่อนเพิ่งได้เห็น meme ล้อเลียนประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ด้วยเพลง Mother ("Mother should I run for President?" / "Mother should I build the wall?") ก็อดยิ้มไม่ได้ อัลบั้มเก่าขนาดนั้น แต่ยังอุตส่าห์มีคนมาโยงกับผู้นำคนปัจจุบันจนได้ นี่คือความน่ารักของโลกโซเชียล

The Wall เป็นอีกอัลบั้มที่ผมอ่านมาก่อนฟัง จากนิตยสารซุปเปอร์โซนิค (ไทย) ที่น่าจะเป็นฉบับเก่า,ได้มาจากแผงหนังสือสนามหลวง (ยุคนั้นการไปคุ้ยหาหนังสือและนิตยสารเก่าๆจากที่นั่นเป็นอะไรที่น่าระทึกมาก) ใครเป็นคนเขียนรีวิวก็จำไม่ได้ ทราบแต่ว่าเป็นรีวิวที่เรียกร้องความทรหดพอสมควร ทั้งคนเขียนและคนอ่าน เพราะพี่ท่านบรรยายละเอียดทีละเพลง ตั้งแต่ In The Flesh? จนถึง Outside The Wall! เขียนกันทุกเม็ดว่ากลองกระทุ้งหนักหน่วงแค่ไหนใน The Happiest Days of Our Lives หรือเสียงประสานใน The Show Must Go On มันหนักแน่นนิ่มนวลเพียงใด การร้องของเดวิดและโรเจอร์ได้รับคำชมอย่างมากมาย อันที่จริงบางคนอ่านรีวิวนี้แล้วอาจจะคิดว่า เอาล่ะ ฉันคงไม่ต้องฟังเองแล้วมั้ง

แต่ผมไม่ใช่หรอกครับ โธ่ ยุคนั้นเด็กที่ขึ้นชื่อว่า"บ้าเพลง" ถ้าไม่มีเทป The Wall นี่.. ยังไงดี นึกไม่ออก ก็เห็นมีกันทุกคน และตามสูตรของนักเสพดนตรี เมื่อเวลาผ่านไป สำหรับอัลบั้มสุดรักอย่างนี้ ก็ต้องตามด้วยแผ่นเสียง,ซีดี และกรณีนี้พิเศษหน่อยที่มีภาพยนตร์ด้วย (Pink Floyd: The Wall) อันทำให้เข้าใจหลายๆอย่างในอัลบั้มดีขึ้น (อย่างน้อยก็ตรงกับที่โรเจอร์คิด) วงจร The Wall ของผม ปิดท้ายด้วยการได้ชม Roger Waters ที่กรุงเทพฯ และการได้เห็น Pink Floyd เล่นเพลงสุดท้าย : Comfortably Numb ใน Live 8 (ดูถ่ายทอดสดยามรุ่งเช้า)

ก่อนที่จะมาจัด Top 100 ที่นี่ มันก็เป็นงานอดิเรกของผมอยู่แล้วที่ชอบจัดลิสต์เอง อ่านเองอยู่คนเดียว (หรืออาจมีแบ่งปันบ้าง) ถ้าย้อนหลังไปอีกหลายๆปี The Wall คงอยู่ในอันดับสูงกว่านี้ แต่นี่มันถดถอยร่วงหล่นลงมาบ้าง น่าจะเป็นเพราะฟังมากเกินไปจนถึงจุดที่ไม่อยากฟังอีกแล้ว (มีไม่กี่อัลบั้มหรอกที่จะได้รับเกียรตินี้จากผม) แต่ถึงจะฟังจนเอียนแค่ไหน มันก็ยากที่จะไม่ยกย่องมัน

โรเจอร์ วอเตอร์ส นำเดโมไอเดียสองชิ้นมาให้เพื่อนร่วมวงเลือกว่าจะเอาอันไหนมาทำเป็นอัลบั้มใหม่ของ Pink Floyd ตัวเลือกนั้นคือ The Pros and Cons of Hitch Hiking และ The Wall แทบทุกคนเลือก The Wall ก็น่าจะเหมาะนะครับ เพราะ The Pros... ดูเป็นส่วนตัวกว่า และน่าจะเก็บไว้ทำงานเดี่ยวของโรเจอร์นั่นแหละ สมเหตุสมผลแล้ว ใน The Wall นี่โรเจอร์มีบทบาทมากมายจนแทบจะเป็น solo project ของเขา แต่พาร์ตกีต้าร์ของ Gilmour และเสียงร้องของเขาในบางเพลงก็เป็นส่วนสำคัญของ The Wall

ชอบหรือไม่ชอบ ทุกคนก็ยอมรับว่าไอเดียและคอนเซพท์ของ The Wall นั้นมันโดนสุดๆ แค่คำว่ากำแพงคำเดียว ก็คิดไปได้มากมาย ปกป้อง หรือ กักขัง? , ใครก่ออิฐสร้างกำแพงนี้ ตัวคุณเองหรือคนอื่นๆ --ครู,แม่,เมีย, นักการเมือง หรือทุกๆคนช่วยกันวางอิฐคนละก้อน?, เราควรจะสร้างกำแพงนี้ไหม? และถ้ามันมีแล้ว เราควรจะพังมันออกไปไหม เมื่อไหร่ อย่างไร?

คำว่าทุกคนก็ยอมรับในไอเดียนี้ ไม่ได้หมายถึงแค่พวกพิงค์ ฟลอยด์เอง แต่หมายถึงผู้ฟังนับล้านๆทั่วโลกด้วย มันเข้าถึงได้ไม่ยาก เพียงแต่คุณจะเข้าได้ลึกแค่ไหน ในดนตรีและเนื้อหาของโรเจอร์ ที่ใช้คำธรรมดาๆ แต่เปี่ยมสัญลักษณ์และลูกเล่นทางภาษา และจะว่าไป, ไม่ว่าใครที่ไหน โดยเฉพาะวัยรุ่น มันก็โดนใจนักกับคำว่า "กรอบ" กำแพงกั้น ที่อยากทำลายมันเหลือเกิน คนฟังจึงรู้สึก "ฟิน" เป็นบ้า เมื่อได้ฟังเสียงกำแพงถูกพังทลายเป็นจุลในตอนท้ายเพลง The Trial ตามมาด้วยบรรยากาศแห่งความสงบแห่งชัยชนะใน Outside The Wall.....

.....เพียงเพื่อจะได้พบว่าเสียงสุดท้ายในเพลงสุดท้ายนั้นคือเสียงแรกในเพลงแรก In The Flesh?

เพลงโปรด : Another Brick In The Wall ทั้ง ๓ ภาค, Comfortably Numb, The Trial, Goodbye Blue Sky, Hey You, Nobody Home

Thursday, February 9, 2017

#15 Radiohead :: OK Computer (1997)

ในโลกคู่ขนานที่อะไรๆย้อนเวลากับโลกของเรา แฟนเพลง Radiohead จะพบว่า A Moon Shaped Pool เป็นอัลบั้ม debut ก่อนจะไล่เรียงมาที่ The King of Limbs, In Rainbows... จนกระทั่งมาถึง OK Computer อัลบั้มชุดที่เจ็ดของพวกเขา ต่อจาก Kid A มันคงจะเป็นงานที่สร้างกระแสโจษจันและถกเถียงกันมากมายทีเดียวในหมู่แฟนๆ "พวกเขาค้นพบวิธีการเล่นกีต้าร์เหมือนชาวบ้านแล้ว" "เสียงหลอนๆของเครืองอีเล็คโทรนิคส์ที่เรารักหายไปไหน เอามันกลับคืนมา" "พวกเขาแต่งเพลงไพเราะฟังง่ายแบบนี้ก็เป็นด้วยหรือนี่?"

แต่ในโลกนี้,ที่ขนานกับโลกดังกล่าวข้างบน นี่คืออัลบั้มชุดที่สามของยอดวงดนตรีจากออกซ์ฟอร์ด จะว่าไปมันก็ไม่ได้กระโดดไกลไปจาก The Bends อัลบั้มก่อนหน้านี้ มากไปกว่าที่ The Bends กระโดดจาก Pablo Honey โครงสร้างหลักของเพลงยังคงยึดหลักเดิมของ The Bends ที่เพิ่มเติมคือความไซคีดีลิกและโปรเกรสซีฟแบบ Pink Floyd (ยุค Dark Side และ Ummagumma) ,ความซับซ้อนในแบบฟิวชั่นของ Miles Davis ยุค Bitches Brew ,การเขียนเนื้อเพลงของ Thom Yorke ที่หลุดพ้นจากเรื่อง inner ส่วนตัวที่เป็นแก่นของพวก alter มาเป็นการมองโลกภายนอกในหลายๆมิติ รวมทั้งฝีมือการโปรดิวซ์อันเป็นเอกลักษณ์ของ Nigel Godrich แฟนเพลงรุ่นใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับดนตรีของ Pink Floyd หรือ Miles ยุคฟิวชั่น อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรกับการที่จะยอมรับ OK Computer แต่ถ้าตัดสินจากความสำเร็จของยอดขาย เวลาที่พอสมควรนั้นก็สั้นมาก เพราะมันประสบความสำเร็จแทบจะทันทีที่วางขาย

ถ้าจะเอาสั้นๆนี่คือ Progressive Alternative Rock!

และถ้าจะให้สรุปความเป็น OK Computer ในแทร็คเดียวก็ต้องเป็น Paranoid Android มหากาพย์แห่งยุค 90's ที่แสดงถึงฝีมือขั้นสูงสุดของพวกเขาทั้งในแง่การประพันธ์,การเรียบเรียง,ฝีมือในการเล่นดนตรี และ โปรดักชั่น

แต่คุณจะรีบไปไหน, มันไม่ใช่อัลบั้มที่คุณจะเลือกฟังแค่แทร็คสองแทร็คหรอก กลับไปเริ่มที่แทร็คแรก Airbag และล่องลอยไปกับฝีมือและจินตนาการของพวกเขาไปจนถึง The Tourist เถิดครับ นี่เป็นอัลบั้มที่ผมยืนยันได้ว่า ถ้าคุณอินไปกับมันแล้ว คุณจะฟังมันได้ครั้งแล้วครั้งเล่าชั่วชีวิต

แล้วคุณจะยินดีที่ได้อยู่ในโลกนี้ โดยที่ไม่ต้องรอให้พวกเขาออกชุดที่เจ็ดถึงจะได้ฟัง OK Computer ซึ่งจริงๆแล้ว ในโลกใบนั้นอาจจะใช้ชื่อว่า No More Computer.