Saturday, December 31, 2016

#54 Dolly Parton, Linda Ronstadt, Emmylou Harris :: Trio (1987)



<ราชินีคันทรี่ x3>

สำหรับคนชอบฟังสุภาพสตรีร้องเพลงคันทรี่, นี่คืออัลบั้มในความใฝ่ฝันอันแสนหวาน นอกจากความฝันของแฟนเพลงมันก็ยังเป็นความฝันของสามสาวเจ้าของอัลบั้มมาเนิ่นนานตั้งแต่ยุค 70's แล้วด้วย แต่ด้วยความไม่ลงตัวทางตารางเวลาและเรื่องของต้นสังกัด ทำให้กว่าพวกเธอจะทำสำเร็จก็จนกระทั่งปี 1987

ดอลลี่ พาร์ตัน,เอ็มมี่ลู แฮริส และ ลินดา รอนสตัดท์ มาร้องเพลงร่วมกัน ผลัดกันร้องนำ ผลัดกันประสานเสียงบนบทเพลงที่พวกเธอคัดเลือกกันเอง ทั้งเก่าแก่ในระดับ traditional ไปจนถึงเพลงที่ Dolly Parton แต่งเอง โปรดิวซ์โดย George Massenburg มาสเตอร์โดย Doug Sax กองทัพดนตรีระดับมือ ๑ จากแนชวิลล์และแวดวงคันทรี่ ด้วยรายนามอย่าง Ry Cooder, Mark O'Connor, Albert Lee, Russ Kunkel,David Lindley และ Leland Sklar..... ทั้งหมดนี้มันช่างเป็นโปรเจ็คที่จัดเต็มเสียนี่กระไร

ก็จริงนะ ที่แม้ทุกอย่างจะพร้อมเพรียงเสียอย่างนี้ แต่บางทีผลลัพธ์ก็ออกมาน่าผิดหวัง แต่ไม่ใช่สำหรับ Trio งานนี้ไม่มีพลิก มันคือ 11 เพลงที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์ในการขับร้อง,ดนตรีและการบันทึกเสียง เสียงร้องและลีลาของทั้งสามสาวยอดเยี่ยมในทิศทางของตัวเอง แต่ก็สอดประสานกันอย่างนิ่มนวลสุดแสนจะธรรมชาติ ดอลลี่อาจจะโดดเด่นกว่าเพื่อนอีกสองท่านเล็กน้อย (ด้วยธรรมชาติของเสียงของเธอ) แต่ก็นับว่าเป็นการแจกงานที่วางแผนมาอย่างดีไม่ให้มีใครน้อยหน้า

ดอลลี่ร้องนำใน Making Plans, Wildflowers, Those Memories of You และ Rosewood Casket ขณะที่เอ็มมี่ลู ร้องเปิดอัลบั้มใน The Pain of Loving You , เพลงสุดไพเราะของ Phil Spector-To Know Hime Is To Love Him, My Dear Companion ส่วนลินดารับผิดชอบใน Hobo's Meditation, Telling Me Lies และ I've Had Enough สามสาวร้องนำร่วมกันในแทร็คสุดท้าย เพลงกอสเพล Farther Along

แทบทุกเพลงออกจะเป็นเพลงช้าและเศร้า ไม่ทราบว่าเพราะอะไร มันอาจจะเป็นแนวทางที่ harmony ของสามสาวจะเปล่งประกายเจิดจรัสที่สุด สองเพลงจากเสียงร้องนำของดอลลี่ Wildflowers และ Those Memories of You ช่วยทำให้นี่ไม่กลายเป็น collection แห่งความโศกเกินไป

พวกเธอจะออกอัลบั้มร่วมกันอีกครั้งในอีก 12 ปีข้างหน้า ใน Trio II โปรดรอฟัง (และอ่าน)

Friday, December 30, 2016

#55 Emmylou Harris :: Wrecking Ball (1995)





ชั่วพริบตา จาก Sweetheart of the Rodeo เอ็มมี่ลู แฮริส แปลงร่างเป็น The New Queen of Alternate Country ด้วยอัลบั้มนี้ - Wrecking Ball

มันคืออัลบั้มที่สิบแปดของเธอ นับจากอัลบั้มแรกในปี 1975 Pieces of the Sky โลกดนตรีรู้จักเธอดีในฐานะสาวตาคมผมยาว เล่นกีต้าร์โปร่งเท่ๆ เสียงโซปราโนหวานเศร้า แนวเพลงของเธอคือคันทรี่ร็อคนุ่มๆ แทบจะไม่มีความตื่นเต้นอะไรเมื่อเอ็มมี่ลูออกอัลบั้มใหม่ ไม่ได้หมายความว่ามันจะด้อยคุณค่า แต่มันเป็นอะไรที่คาดเดาได้พอสมควร

แต่แล้ว, ในแบบที่ไม่น่าจะมีใครในโลกคาดคิดถึง, เอ็มมี่ลูทำการ reinvent และ revolution ตัวเอง ด้วยงานมาสเตอร์พีซแห่งชีวิต คีย์แมนในปรากฎการณ์นี้คือ โปรดิวเซอร์หนุ่ม Daniel Lanois ผู้สร้างชื่อมาจากการทำงานให้ U2, Peter Gabriel และ Bob Dylan แดเนียลเป็นโปรดิวเซอร์ในแบบที่มีสุ้มเสียงเฉพาะตัว และเขาไม่เคยซ่อนเร้นแนวเสียงนั้น ไม่ว่าเขาจะทำงานให้ใคร

มันง่ายกว่าเยอะที่จะเข้าใจ"เสียง"ของ Lanois ด้วยการฟัง แต่ถ้าจะให้พยายาม--มันคือสุ้มเสียงที่มืดหม่น แต่ไม่ซึมเศร้า มันเป็นเสียงที่คุณได้ยินมันแต่การรับรู้เหมือนคุณอยู่ในนั้น (บรรยากาศ) เขาชอบเล่นกับ echo, reverb และการบิดเบี้ยวของเสียงให้ผิดธรรมชาติ เห็นไหมครับว่ายิ่งบรรยายยิ่งมึน ลองฟังเองดีกว่า

ความน่าฟังที่สุดของ Wrecking Ball และน่าจะเป็นอาวุธลับที่ทำให้มันกลายเป็นอัลบั้มในตำนานคือ ความ contrast ระหว่างเสียงร้องหวาน,เศร้า,คม เต็มไปด้วยอารมณ์ลึกล้ำของเอ็มมี่ลู แฮริส กับ sound ที่หนาทึบซับซ้อนจากโปรดักชั่นของ Lanois เขาอาจจะทำงานไม่ต่างจากนี้นักกับศิลปินอื่น แต่ไม่มีเสียงร้องของใครจะฝ่าทะลุกำแพงเสียงของดาเนียลออกมาได้งดงาม,โดดเด่นเท่า Emmylou Harris

12 แทร็คใน Wrecking Ball เป็นเพลงที่เอ็มมี่ลูร่วมแต่งเพียง 2 แทร็ค ที่เหลือเป็นงานไม่ดังจากนักประพันธ์ชื่อดัง ตั้งแต่ Steve Earl ใน "Goodbye" Neil Young ใน "Wrecking Ball" Bob Dylan ใน "Every Grain of Sand" Jimi Hendrix ใน "May This Be Love" และ Lucinda Williams ใน "Sweet Old Love" ทุกแทร็ค เอ็มมี่ลู ตีความได้อย่างเด็ดขาดและหลุดพ้น ไม่มีใครคิดว่าจะได้เห็นเธอทำเพลงแบบนี้ แต่ก็แทบจะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเธอทำมันออกมาได้ยอดเยี่ยมเหลือเกิน

20 กว่าปีผ่านไป Wrecking Ball น่าทึ่งอย่างไรในปี 1995 นาทีนี้มันก็ยังน่าอัศจรรย์เช่นเดิม นี่คือชัยชนะทางศิลปะอย่างแท้จริงของ Emmylou Harris เธออาจจะไม่เคยทำงานชิ้นต่อๆมาได้ดีเท่ามันอีก แต่เอ็มมี่ลูก็ไม่เคยกลับไปเป็น "หวานใจคาวบอย" ในแบบเดิมอีกเลย

tidal.com/album/68592019

(เวอร์ชั่นนี้มีแผ่นแถม เป็นเพลงถูกคัดออกและอัลเทอร์เนทีพเวอร์ชั่น ฟังแล้วได้ไอเดียในพัฒนาการของเพลง และคุณค่าในโปรดักชั่นของ Lanois)

#56 The Nitty Gritty Dirt Band :: Will The Circle Be Unbroken Volume Two (1989)





{เชิญพี่น้องมาล้อมวง เล่นดนตรีคันทรี่เถิดชื่นใจ}

ถ้ามีสาวน้อยคนหนึ่งอยากรู้จักดนตรีคันทรี่อเมริกันอย่างทะลุปรุโปร่งในอัลบั้มเดียว เอาแบบไม่เก่าหงำเกินไป และไม่โมเดิร์นจ๋าจนแทบหาความเป็นลูกทุ่งไม่เจอ เธอเดินเข้ามาถามถึงอัลบั้มนั้นจากคุณ......

ตามโจทย์ดังกล่าว....แนะนำเลยครับอัลบั้มนี้!

ก่อนหน้านี้ 17 ปี วงคันทรี่อเมริกัน The Nitty Gritty Dirt Band เคยทำภาคแรกของอัลบั้มนี้มาแล้ว และมันก็ได้กลายเป็นงานอมตะของวงการ แนวคิดของ Will The Circle Be Unbroken นั้นเรียบง่ายไม่มีอะไรมากไปกว่า การพยายามสานต่อวงการเพลงคันทรี่ ด้วยการเชื้อเชิญศิลปินมากมายในแนวทางนี้ มาร่วมเล่นดนตรีกัน โดยวง NGDB ยืนพื้นเป็นวงหลัก

และใน Volume Two นี้ก็ยังใช้แนวทางเดิม แขกรับเชิญเปลี่ยนไป บางคนก็เคยมาแล้วในรอบแรก แต่ที่มันเหมาะสมกับการเป็นบทเรียนแรกในการฟังเพลงคันทรี่นั้น เป็นเพราะความรื่นหูฟังสบาย หลากหลายเสียงร้อง บันทึกเสียงนุ่มนวลเป็นธรรมชาติ น่าจะเป็นมิตรกับคนรุ่นใหม่มากกว่าอัลบั้มโมโนโบราณๆ และก็ไม่ทันสมัยเกินไปจนแทบไม่มีกลิ่นฟางสาบวัว.....

อาจกล่าวได้ว่าถ้าสาวน้อยคนนั้นฟังอัลบั้มนี้แล้วไม่ปลื้มเลยแม้แต่น้อย ก็แปลว่าเธอกับคันทรี่มิวสิกไม่ได้เกิดมาเพื่อกันแล้วกันล่ะ (แต่อย่าใจร้อน,อาจต้องฟังหลายๆรอบหน่อย)

แม้จะมีแขกรับเชิญมากมาย แต่มันไม่ได้มีอารมณ์แบบ Supernatural ของ Santana หรืออัลบั้ม duets มากมายของหลายศิลปินในยุคหลัง อารมณ์ของ Will The Circle Be Unbroken คือการเปิดห้องรับแขกที่บ้าน ลากเก้าอี้มานั่งเล่นกีต้าร์ด้วยกัน เฮฮาพูดคุยกันไป มันเป็นอารมณ์ที่ Emmylou Harris แขกคนหนึ่งถึงกับเอ่ยออกมาว่า หลายปีที่ผ่านมา พวกเรานักดนตรีไปเน้นที่เทคนิคการบันทึกเสียงกันเกินไป นี่สิ คือหนทางที่เธออยากให้เป็น ส่วน John Denver ก็ตอบคำถามใครสักคนก่อนเริ่มเพลง "And So It Goes" ที่ถามขึ้นมาว่า "นี่เป็นการซ้อมหรือเปล่า?" ได้อย่างเป็นปรัชญาว่า "มันก็เป็นการซ้อมทั้งนั้นแหละ"

ดนตรีคันทรี่ในอัลบั้มนี้ หนักไปทางบลูแกรสและกอสเพล และเน้นที่เครื่องดนตรีอคูสติก เจ้าบ้านสี่คนแห่ง NGDB คือ Bob Carpenter (เปียโน,แอคคอร์เดียน,ร้องประสาน) Jimmie Fadden (กลอง,หีบเพลงปาก) Jeff Hanna (กีต้าร์,ร้องประสาน) และ Jimmy Ibbotson (แมนโดลิน,ร้องประสาน) ตั้งรับแขกรับเชิญในทุกเพลง อ้อ ชุดนี้ทุกเพลงเป็นการเล่นในเทคเดียวสดๆ!

-Johnny Cash และ The Carter Family เปิดอัลบั้มอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการขับร้อง "Life's Railway To Heaven"
-John Prine สนุกมากกับ "Granpa Was A Carpenter"
-Emmylou Harris โชว์เสียงสวยๆใน "Mary Danced With The Soldier"
 -John Hiatt ดูเอ็ทกับ Rosanne Cash ในเพลงที่ผมมชอบที่สุดในอัลบั้ม "One Step Over The Line"
 -Roger McGuinn และ Chris Hillman มาบันทึกเสียงด้วยกันเป็นครั้้งแรกหลังจาก The Byrds แตกวงใน "You Ain't Goin' Nowhere" เพลงของ Bob Dylan -สายร็อคอย่าง Levon Helm ก็มาร้องในเพลง "When I Get My Rewards"
 -อีกแทร็คที่โดดเด่นมากคือ "The Valley Road" ด้วยเสียงร้องและเปียโนของ Bruce Hornsby ดาวรุ่งในวงการขณะนั้น

ที่เล่ามาทั้งหมด เน้นแค่คนร้อง แต่ในทีมดนตรีก็ยังมีจอมยุทธกระบี่เอกอย่าง Jerry Douglas, Mark O'Connor, Randy Scruggs, Bernie Leadon และ B?la Fleck  มาร่วมบรรเลงกันอย่างครื้นเครง

เพลงไทเทิลแทร็ค ที่เป็นชื่อของโปรเจ็ค เป็นงานเก่าแก่ของ Pete Seeger จอห์นนี่ แคชกลับมาร้องนำอีกครั้งในแทร็คก่อนสุดท้าย ร่วมกับ Roy Acuff, Ricky Skaggs, Levon Helm, Emmylou Harris และ Jimmy Ibbotson โดยผลัดกันร้องคนละท่อนเวิร์สอย่างน่าประทับใจสุดยอด คอรัสคือแทบทุกคนในอัลบั้มร่วมกันกระหึ่ม.... มันคือเพลงก่อนสุดท้าย...ก่อนที่จะ.....

จบอัลบั้มอย่างสวยงามด้วยเสียงกีต้าร์เดี่ยวๆของ Randy Scruggs ในเพลง "Amazing Grace"....

ถ้าจำไม่ผิด นี่เป็นอัลบั้มโปรดชุดหนึ่งของเฮียมั่นคงด้วย... ก็ไม่แปลกหรอกครับ บันทึกเสียงดีขนาดนี้......

ซีรีส์นี้มีสามชุดเป็นไตรภาคนะครับ... ยอดเยี่ยมทุกชุด แต่ผมผูกพันกับโวลลุ่มนี้ที่สุด.....

tidal.com/album/3806977

#57 Stevie Wonder :: Songs In The Key of Life. (1976)



ความไพเราะบนความหลากหลายของอัลบั้มขนาดยักษ์
ความทะเยอทะยานอันสูงสุดสู่ความเป็นอมตะ
ฯลฯ

นี่คืออัลบั้มที่นักวิจารณ์ไม่ว่าจะยุคนั้นหรือยุคนี้ ต้องมีความกล้าหรือเหตุผลที่หนักแน่นจริงๆ (ผมยังหาไม่ได้) ที่จะให้คะแนนมันต่ำกว่าคะแนนเต็ม ความจริงควรจะหาทางเพิ่มคะแนนพิเศษให้มันน่าจะเหมาะสมกว่า

ถ้ามองช่วงกลางทศวรรษของ Stevie Wonder เป็นเหมือนเทือกเขา คุณจะเห็นยอดเขาสูงลิบเสียดฟ้าหลายยอด ตั้งแต่ Music of My Mind, Talking Book (1972), Innervisions (1973), Fulfillingness' First Finale (1974) และเมื่อถึงจุดที่ดูเหมือนเขาจะไม่สามารถไปได้สูงกว่านั้นแล้ว สองปีถ้ดมา มันก็เป็นการมาถึงของมาสเตอร์ออฟมาสเตอร์พีซ ยอดเขาลูกสุดท้ายที่สูงตระหง่านสูงสุด Songs In The Key of Life ในปี 1976 สตีวี่ไม่เคยทำงานได้ในระดับนี้อีก ดูเหมือนเขาจะหาทางไปต่อจากนี้ไม่ได้อีกแล้ว และจริงๆแล้วมันก็อาจจะไม่มีทางให้ไปนั่นแหละ

แม้ขณะนั้นเขาจะเป็นศิลปินโมทาวน์อยู่ แต่สถานะของสตีวี่ในขณะนั้นความเป็น"โมทาวน์"แบบเดิมๆที่กำหนดสุ้มเสียงแน่ชัดของตัวเองแทบไม่มีผลอะไรต่อผลงานของเขา สตีวี่ควบคุมทุกอย่างในมือ นี่เป็นอัลบั้มคู่ที่มีนักดนตรีรับเชิญมากมาย อาทิ Herbie Hancock, George Benson, Minnie Ripperton แต่หลักๆก็เป็นตัวสตีวี่เองทีเล่นดนตรีเองแทบทุกชิ้น

เขาโลดแล่นไปบนแนวดนตรี funk, pop, jazz ,soul,fusion, latin ราวกับความที่เขาเป็นคนตาบอดทำให้มองไม่เห็นเส้นแบ่งพรมแดนของดนตรีเหล่านั้น นี่เป็นอัลบั้มคู่ที่ไม่มีเศษเพลง บางคนบอกว่ามันฟังราวกับงานรวมฮิตมากกว่างานที่ออกมาในช่วงเวลาเดียว ทุกเพลงเรียงร้อยต่อเนื่องกันในหลายรอยต่อแทบไม่มีช่องว่าง และถ้าจะมีความรู้สึกสะดุดในความกระโดดของแนวดนตรี--ผมก็จับมันไม่ได้

 สตีวี่อุทิศเพลงเอกให้ยอดศิลปินในดวงใจที่เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นาน-- Duke Ellington ใน "Sir Duke", เล่นบรรเลงแจ๊สแบบมหาวิษณุุออเคสตร้าใน "Contusion" ได้อย่างน่าอึ้ง,โชว์ความสามารถในการทำเพลงที่อัดแน่นด้วยท่อนฮุคแทบจะเป็นสถิติกินเนสใน "As",ฟังกี้สุดเข้มข้นใน "I Wish" และ ถ่ายทอดความปลื้มปีติของความเป็นบิดามือใหม่ได้อย่างแสนพิสุทธิ์ใน "Isn't She Lovely" อย่าให้ชมกันทุกเพลงเลยนะครับ

17 เพลงในสี่หน้าแผ่นเสียง ดูจะยังไม่สามารถรองรับพลังสร้างสรรค์ของเขาไว้ได้หมด ใน orginal LP สตีวี่ยังแถม 'bonus EP" ให้อีก1แผ่น 4 เพลง (ใน TIDAL มีให้ฟังทั้งหมด)

และถ้าคุณยังสงสัยว่าทำไมเพลงทั้งหมดถึงได้ฟังกลมกลืนลื่นไหลอย่างนั้น คำตอบอาจจะเป็นเพราะมันเป็นเพลงในคีย์เดียวกัน.... key of life.

tidal.com/album/3288342

#58 Bill Evans Trio :: Portrait In Jazz (1960)




โอกาส...คุณคิดว่ามันมาจากไหน?
บางคนแสวงหาอย่างมีแบบแผน
บางคนได้มันมาอย่างฟลุ๊คๆ
แต่สำหรับ Bill Evans เขาได้วงทริโอชื่อกระฉ่อนของเขามาด้วยการ....
...รอคอยจนมันเป็นทางเลือกสุดท้าย

มันเป็นความฝันของบิล อีแวนส์ มาระยะหนึ่งแล้วที่จะทำงานดนตรีในรูปแบบของวงสามคนที่เป็นวงดนตรีอย่างถาวร
หลังจากออกจากวงของ Miles Davis บิลก็ตั้งใจจะไม่ทำงานในฐานะลูกวงอีกต่อไป
การแสดงดนตรียาวสองสัปดาห์ที่ Basin Street East ในนิวยอร์ค 1959 ถือเป็นโอกาสดีของเขา
แต่โชคร้ายที่งานนั้นไฮไลท์อยู่ที่การคืนสังเวียนของราชาสวิง Benny Goodman
วงของบิลเลยกลายเป็นหลานเมียน้อยไปอย่างไม่มีทางเลือก
นักดนตรีที่สัญญาว่าจะมาเล่นกับเขาก็เดินเข้าเดินออกกันตลอดแทบทุกวัน
แม้แต่ฟิลลี่ โจ โจนส์ มือกลองเพื่อนเก่า ก็ถูกเจ้าของคลับตะเพิด
เพราะโซโล่กลองได้โดดเด่นเกินไป
สองคนสุดท้ายที่ยอมมาเล่นทริโอกับบิลคือ พอล โมเชี่ยน (กลอง)
และมือเบสหนุ่ม สก็อตต์ ลาฟาโร ที่อีแวนส์บอกว่าเป็นมือเบสคนที่หกเข้าไปแล้วในช่วงสองสัปดาห์นี้

โอกาส...มันอาจจะมาถึงได้ในหลายวิถีทาง
แต่ประเด็นอันสำคัญยิ่งยวดคือการคว้าและกอดมันไว้ให้แน่นที่สุด
บิล อีแวนส์ ใช้เวลาไม่นานนักในการเล่นกับพอลและสก็อตต์
ในการที่จะทราบว่าวงทริโอในฝันของเขาบังเกิดขึ้นแล้ว

และเมื่อ Orrin Keepnews โปรดิวเซอร์ของ Riverside ถามไถ่มาว่า เขาอยากจะเข้าห้องอัดบันทึกเสียงอัลบั้มใหม่หรือยัง เพราะบิลทิ้งช่วงมาระยะหนึ่งแล้ว
นักเปียโนหนุ่มตอบทันทีว่า เขาพร้อมแล้ว
Portrait in Jazz คืออัลบั้มเปิดตัวของทีมทริโอชุดนี้
และวงการ Jazz Trio ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
Portrait คือภาพถ่ายบุคคลที่เน้นส่วนศีรษะและอาจจะติดหัวไหล่มาด้วย เหมือนภาพบิลบนปกอัลบั้มนี้
มันสื่อสารว่า แม้จะเครดิตว่าเป็นของ Bill Evans Trio มันก็ยังเป็นงานที่เน้นที่ตัวผู้นำมากกว่า
พวกเขาออกอัลบั้มอีก 1 ชุด ก่อนก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในการแสดงที่ Village Vanguard ที่ยกระดับเป็นการเล่นอันเสมอภาคของทั้งสามคนยิ่งกว่าเดิม (แม้บิลจะเด่นที่สุดอยู่ดี) (ผมเขียนถึงไอัลบั้มนี้ไว้แล้วที่อันดับ #73)

ในด้านความยิ่งใหญ่ Portrait in Jazz อาจจะไม่มีคุณภาพสูงเท่างาน Live สองชุดสุดท้ายนั่น แต่ผมเลือกให้มันติดอันดับสูงกว่า
เพราะมันคือรากฐาน
มันมีอารมณ์ของความสงบนิ่ง
และฟังได้ตลอดกาล ในทุกๆเวลา

อีกอัลบั้มที่เป็นเหตุผลของความรักในดนตรีแจ๊สของผมครับ

tidal.com/album/1629985

#59 Elvis Presley :: His Hand In Mine (1960)




ราชาร็อคแอนด์โรลขับร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า..... ดูจะเป็นการพาดหัวที่ชวนวิ่งหนีมากกว่าชวนฟัง แต่ความจริงคือ เอลวิส เพรสลีย์ ไม่เคยคิดว่าตัวเขาคือ Kind of Rock 'n' Roll และรากฐานทางดนตรีของเขานั้นกว้างไกลยิ่งนัก และ Gospel ก็เป็นหนึ่งในนั้น

เขาเคยออก EP รวมเพลงกอสเพลมาครั้งหนึ่งแล้วในปี 1957 แต่นี่เป็น full length album ชุดแรกของเขาในแนวทางนี้ (จากทั้งหมด 3 ชุด ในช่วงชีวิตของเอลวิส)

บันทึกเสียงกันรวดเดียวจบ ตั้งแต่หกโมงเย็นวันที่ 30 ตุลาคม 1960 ไปจบตอนแปดโมงเช้าอีกวันนึง เอลวิสและลูกวง รวมทั้งทีมประสานเสียงคู่บารมี The Jordanaires  ช่วยกันคัดเลือกเพลงกอสเพลเก่าๆที่เอลวิสชื่นชอบ การบันทึกเสียงเป็นไปอย่างคล่องแคล่วและไหลลื่น ด้วยความช่ำชองและคุ้นเคยในบทเพลงของแทบทุกคน หลายเพลงจบได้ในเทคเดียว (ยังมีเวลาเหลืออัดเพลงดัง "Surrender" เอาไว้ออกซิงเกิ้ลอีกเพลงด้วย)

น้ำเสียงของเอลวิสที่คุณจะได้ฟังในอัลบั้มนี้อยู่ในช่วงสูงสุดของความสมบูรณ์แบบ มันอยู่ตรงกลางระหว่างความสดห้าวในยุค 50's และความดรามาติกสุดขั้วในยุค 70's นี่คือความลงตัวของความอิ่มเอิบสดใสและเต็มไปด้วยอารมณ์ มันทำให้ใครที่ยังสงสัยหรือกล่าวหาว่าเขาขายแค่ความหล่อหรือการเต้นอันเร้าใจต้องยอมจำนนด้วยหลักฐานที่ได้ยิน นี่คือยอดนักร้องคนหนึ่งที่โลกเคยมีมา กำลังขับร้องเพลงที่เขารักและศรัทธา แต่หาโอกาสยากนักที่เขาจะได้ร้องมันบนเวที

มันยังเป็นอัลบั้มที่บันทึกเสียงได้อย่างเยี่ยมยอดที่สุดชุดหนึ่งในงานทั้งหมดของเอลวิส (แต่ต้องเลือกเวอร์ชั่นดีๆนะครับ ถ้าจะหาเป็น physical format เพราะหลายชุดมีปัญหาในการมาสเตอร์แต่ใน TIDAL นั้นเยี่ยมจริง)

ความยิ่งใหญ่ของบทเพลงในอัลบั้มนี้มันก้าวข้ามพรมแดนทางศาสนาไปแล้ว กล่าวคือ แม้ว่าคุณจะไม่ได้เป็นคริสเตียน ก็ไม่เป็นอุปสรรคที่คุณจะดื่มด่ำไปกับมัน แม้คุณจะไม่สนใจเนื้อหา โดยดนตรี มันก็คือเพลงป๊อบ ดูว็อป คันทรี่ ที่มีการประสานเสียงแบบ ตอบ-รับ อันน่ารักน่าฟัง โดยส่วนตัวแม้ผมจะไม่ได้อินไปกับความศรัทธาในแบบนี้ แต่หลายๆเพลงทำให้ผมคิดว่าผมเข้าใจความรู้สึกของเอลวิส และความศรัทธาในพระเจ้าของเขา

เพลงโปรด : Milky White Way, Known Only To Him, Joshua Fit The Battle, Mansion over the Hilltop

tidal.com/album/38931397

#60 Bee Gees :: Spirits Having Flown (1979)





การฟังดนตรีผ่านสื่อการบันทึกเสียง...ไม่ว่ามันจะเป็น แผ่นเสียง,ซีดี,เทป หรือ ปัจจุบัน...ไฟล์ที่สตรีมผ่านอินเตอร์เน็ต จำเป็นไหมที่เราจะต้องสนใจบริบทของมันขณะที่นักดนตรีกำลังบันทึกเสียงอยู่จริงๆ จำเป็นไหมที่เราจะต้องแคร์ยอดขายหรือการตอบรับของนักวิจารณ์ในสมัยนั้น จะเป็นอะไรไหมถ้าเราไม่อยากจะรู้หรอกว่าอัลบั้มที่ออกมาก่อนหน้านี้เป็นแนวไหนหรือจากนี้ไป พวกนักดนตรีเหล่านี้จะทำอะไรต่อ หรือถ้าจะย่อเป็นคำถามเดียว เราจะฟังอัลบั้มๆหนึ่งโดยแยกมันเป็นเอกเทศจากสิ่งแวดล้อมทุกอย่างและประเมินค่าของมันด้วยเสียงที่เราได้ยินได้ไหม?

ผมไม่ขอตอบ แต่สิ่งนี้คือบริบทของ Spirits Having Flown งานชุดที่ 13 ของพี่น้องตระกูลกิ๊บบ์ที่อกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 1979 มันเป็นเวลาสองปีหลังจากความสำเร็จชนิดที่แทบจะหาคำเปรียบเทียบไม่ได้กับ soundtrack Saturday Night Fever บีจีส์กับดนตรีดิสโก้ และภาพจำของจอห์น ทราโวลต้าในสูทขาบานเริงร่ายระบำบนแดนซ์ฟลอร์ กับบทเพลงอย่าง Stayin' Alive, Night Fever, More Than A Woman, How Deep Is Your Love มันเป็นรอยต่อสองปีที่คนนับล้านทั่วโลกรอคอยว่าบีจีส์จะไปต่ออย่างไร เชื่อว่าแฟนเพลงจำนวนหนึ่งลืมไปแล้วหรือไม่เคยทราบมาก่อนว่า Bee Gees เคยทำเพลงแนวอื่นที่ไม่ใช่ disco หรือ ballad อย่างที่ได้ยินใน SNF

คำตอบที่ Bee Gees ให้กับชาวโลกคือ พวกเขาไม่มีความคิดจะทำเพลงดิสโก้เอาใจขาเต้นอีกต่อไป 10 เพลงใน Spirits Having Flown ไม่มีเพลงไหนที่จะรับใช้สังคมเริงระบำในแบบนั้น ผมเชื่อว่ามันเป็นความจงใจของพวกเขาที่จะไม่อยากถูกจองจำอยู่ในความเป็นดิสโก้แบนด์ไปตลอดชาติ เพราะมันคงไม่ยากเกินไปหรอกถ้าเขาอยากจะทำ

โชคดีที่แฟนเพลงโอเคกับการตัดสินใจนี้ สามซิงเกิ้ลแรกของอัลบั้ม ซึ่งก็คือสามเพลงแรกในอัลบั้มขึ้นอันดับ 1 ทั้งหมด และอัลบั้มก็ขายดีได้ถึง 30 ล้านแผ่นทั่วโลก (จากการประเมินของ BBC ในปี 2003)

กลับมาที่คำถามเดิม ผมขอตอบว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะฟังอัลบั้มใดๆด้วยจิตใจบริสุทธิ์เช่นนั้น จะมากหรือน้อยเท่านั้นเองที่คุณจะใช้ประสบการณ์ของคุณเองและบริบทรอบๆอัลบั้มในการประเมินมัน แต่ผมเชื่อว่า ถ้าคุณฟัง Spirits... โดยรู้อะไรเกี่ยวกับมันน้อยที่สุด อย่างน้อยคุณคงรู้สึกว่า.... มันเป็นเพลงป๊อบที่โชว์เสียงหลบ (falsetto) กันได้ครื้นเครงดี แทบทุกเพลงมีท่อนฮุุคที่น่าประทับใจ บันทึกเสียงเยี่ยม การเรียบเรียงดนตรีงดงามเต็มไปด้วยรายละเอียด จังหวะสนุกสนานชวนขยับขา แต่ไม่ถึงกับจะพาตัวเองลุกขึ้นเต้นระบำไปกับมันได้ คุณอาจจะคิดไปว่า ต่อไปพวกเขาน่าจะโด่งดังกว่านี้ได้อีก ถ้าทำเพลงชวนเต้นมากกว่านี้

แต่ความจริงก็คือ...นี่คือความสำเร็จอย่างแท้จริงครั้งสุดท้ายของ Bee Gees.

tidal.com/album/1617899

#61 Michael McDonald :: Motown Two (2004)



Motown Two คือภาคต่อของอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในรอบปลายปีของไมเคิลที่ออกมาเมือ่ปีก่อนในชื่อ...(ลองทายซิ).... "Motown" เรียกว่าไม่ต้องจินตนาการอะไรกันให้สมองบอบช้ำ มันไม่มีอะไรมากไปกว่าไมเคิล แมคโดนัลด์ ร้องเพลงระดับคลาสสิกในคำนานของค่ายโมทาวน์ สองชุดนี้อาจจะไม่มีอะไรต่างกันนัก แต่ผมเลือกชุดนี้มาประดับลิสต์เพราะชอบตัวเพลงมากกว่า และดูไมเคิลก็จะสนุกกับการร้องเต็มที่ด้วย

ความสำเร็จของ Motown series ไม่ได้ถล่มทลายวงการในแบบที่ Rod Stewart ตกถังข้าวสารใน The Great American Songbooks ของเขา แต่เคล็ดลับมันอาจจะมีส่วนคล้ายคลึง ไม่เคยมีนักร้องเสียงแบบนี้มาร้องเพลงแบบนี้มาก่อน กรณีของร็อดนั้นชัดเจน เสียงแหบเสน่ห์ของเขาเมื่อมาขับร้องเพลงแสตนดาร์ดรุ่นปู่ มันอาจทำให้แฟนเพลงรุ่นเก๋าปวดตับไต แต่ความแปลก และการเรียบเรียงดนตรีที่ชาญฉลาด ทำให้มันกลายเป็นซีรีส์เงินล้านไปในที่สุด

และเช่นกัน ในความทรงจำของผม โมทาวน์ไม่เคยมีนักร้องเสียงบาริโทนที่เต็มไปด้วยอารมณ์โซลอย่างไมเคิล แมคโดนัลด์ จะว่าไปเสียงอย่างไมเคิลก็แทบจะไม่เหมือนใครอยู่แล้ว มันต่ำลึกหนานุ่ม แต่เมื่อเขาจะแผดเสียงขึ้นสูง เขากลับทำได้อย่างฟินสุดๆ (ใน Motown Two แกก็โชว์ความสามารถนี้เป็นระยะๆ) ดังนั้นการได้ฟังไมเคิลร้องเพลงเหล่านี้จึงถือเป็นอรรถรสสดใหม่ที่น่าฟังยิ่งนักสำหรับแฟนๆที่คุ้นเคบกับมันมาหลายสิบปี

ไมเคิลไม่ได้เรียบเรียงเพลงเก่าๆเหล่านี้ให้แหวกแนวอะไรออกไป เพลงส่วนใหญ่อยู่ใน arrangement เดิม เพียงแต่มันเป็นดนตรีสมัยใหม่ที่หนาแน่นด้วยเสียงซินธ์,ดรัมแมชชีน,โปรทูล และเสียงประสานอิ่มเอิบ อันเป็นของถนัดมากของโปรดิวเซอร์ Simon Climie ได้แขกรับเชิญอย่าง Stevie Wonder มาเป่าหีบเพลงปากใน I Was Made To Love Her, Billy Preston เล่นออร์แกนใน You're All I Need To Get By และที่กลมกล่อมมากๆจนอยากให้ทั้งคู่ออกอัลบั้มร่วมกันคือการ duet ระหว่างไมเคิลกับ Toni Braxton ใน Stop, Look, Listen (To Your Heart) เสียงใหญ่โตทั้งคู่แต่ไม่ข่มกันเลย

เพลงส่วนใหญ่ก็เป็นเพลงดังของโมทาวน์ทั้งนั้น จะดังมาก หรือดังมากๆๆเท่านั้น แต่ที่ผมชอบมากๆคือ Baby I Need Your Loving, Tracks of My Tears และ Tuesday Heartbreak

ฟังแล้วก็คิดเล่นๆว่า นี่ถ้าไมเคิลเกิดเร็วกว่านี้อีกซัก 10 ปี เขาอาจกลายเป็นตำนานโมทาวน์ไปแล้วจริงๆก็ได้ แต่คิดต่ออีกหน่อย.... เขาคงไม่ได้เพลงดีๆเหล่านี้มาร้องทั้งหมดแน่ นี่มันหัวกะทิทั้งนั้นนี่นา...

tidal.com/album/3683907

#62 Joe Satriani :: Surfing With The Alien (1987)



ลูกศิษย์คนหนึ่งของ Joe Satriani อาจจะเป็น Steve Vai, Kirk Hammett (Metallica), Larry LaLonde (Primus) หรือ David Bryson (Counting Crows) อาจจะมีใครสักคน เอ่ยเอื้อนขึ้นมาระหว่างบทเรียนกีต้าร์อันคร่ำเคร่งและยากเข็ญว่า "ถ้ามันง่ายนัก ทำไมอาจารย์ไม่ออกอัลบั้มเองดูล่ะ?"

ผมพูดเล่น แต่ใครจะไปรู้ว่ามันอาจจะเกิดขึ้นจริงๆ ไมว่าจะอย่างไร ครูโจก็กลายมาเป็นโจ:กีต้าร์ฮีโร่ในเวลาต่อมา และอัลบั้มที่ประกาศความเป็น โจ ซาตริอานี่อย่างเต็มภาคภูมิก็คือ Surfing With The Alien ที่อออกมาในเดือนตุลาคม ปี 1987 นี่แหละ มันเป็นอัลบั้มที่สองของ "Satch" (ชื่อเล่นของโจ) ต่อจาก  Not Of This Earth (1986)

มันคือการ 'shred' กีต้าร์ที่ชาญฉลาดและเต็มไปด้วยเมโลดี้สวยงามด้วยทักษะอันสูงล้ำของอาจารย์โจ ไม่ว่าจะเป็นเพลงเร็วจี๋่ที่โชว์เทคนิคมากมายมหาศาลอย่าง Title Track และ "Satch Boogie" ไปจนถึงเพลงช้าหวานอย่าง "Always With Me, Always With You" และ "Echo"  มันเป็นงานบรรเลงกีต้าร์ร็อคที่ปลุกกระแสเพลงบรรเลงกีต้าร์ล้วนขึ้นมาอีกครั้ง เหมือนกับที่ Jeff Beck ทำไว้ในทศวรรษก่อนหน้ากับ Blow By Blow นี่คืองานร็อคที่แฟนเพลงทุกคนต้องหามาฟังในช่วงนั้น

นิตยสาร Guitar เคยจัดมันเป็น 1 ใน 50 อัลบั้มที่เปลี่ยนโฉมวงการกีต้าร์ร็อค และสรุปความเป็น Surfing With The Alien ไว้ว่ามันเต็มไปด้วยบทเพลงที่ "รวดเร็ว เกรี้ยวกราด และ ฮัมตามได้ทันที"

หลังจากอัลบั้มนี้โจอาจจะไม่ว่างไปสอนกีต้าร์ใครเป็นการส่วนตัวอีก เขากลายเป็น"ครู"กีต้าร์ให้กับเด็กหนุ่มนับล้านทั่วโลกด้วยการบันทึกเสียงครั้งสำคัญนี้

ปีหน้าพี่โจมาเล่นเมืองไทยนะ รู้ยัง

tidal.com/album/5279294

#63 Jeff Beck :: Blow By Blow (1975)




"อัลบั้มที่เชื่อมรอยต่อระหว่างร็อคของคนขาวกับฟิวชั่นแจ๊สแบบของ Mahavishnu Orchestra, มันย่อยง่ายกว่า และจังหวะไม่ซับซ้อนเท่าของมหาวิษณุ แต่มันก็ยังจัดว่าสุดขั้วนะ"

ตัวเจ้าของอัลบั้มเองได้สรุปความเป็น "Blow By Blow" ไว้ได้อย่างกะทัดรัด ซึ่งคุณจะอ่านแค่ตรงนี้ก็อาจจะพอแล้วล่ะที่จะเข้าใจมัน แต่อ่านต่อเถอะนะ มีอะไรสนุกๆ

หลังจากการล่มสลายของ Beck, Bogert & Appice เจฟฟ์ เบ็ค ได้ไปออดิชั่นเล็กๆกับหินกลิ้ง Rolling Stones แต่เคมีหาเข้ากันไม่ ตำแหน่งมือกีต้าร์คนใหม่ของสโตนส์ตกเป็นของ Ron Wood เบ็คอาจจะเซ็งเต็มทีกับการที่จะไปเล่นกีต้าร์รองรับนักร้อง Blow By Blow จึงกลายเป็นงานเดี่ยวแบบบรรเลงล้วนชุดแรกของเขา และมันก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง อัลบั้มนี้ขายดีถึงขั้นเข้าอันดับ 4 ใน Billboard 200 มันไม่ใช่เรื่องธรรมดาสำหรับอัลบั้มที่ไม่มีเสียงร้อง

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นแจ๊ส-ร็อค หรือ ฟิวชั่น แต่มันมีความเป็นมิตรกับคนฟังร็อคยิ่ง เสียงกีต้าร์ที่คมกริบเข้มข้นหวือหวาของเบ็คให้ความคุ้นเคย แม้จะวาดลวดลายไปบนดนตรีที่อลหม่านกว่าเดิม ("ผมเลิกทำเพลงแบบ Truth แล้ว, เพราะใครๆเขาก็ทำกัน"-เบ็ค) ได้จอร์จ มาร์ตินมาเป็นโปรดิวเซอร์ ซึ่งแกก็บอกว่าไม่ได้ทำอะไรมาก นอกจากปล่อยให้เบ็คเล่นไปตามธรรมชาติและประเทืองเสียงตรงนั้นตรงนี้นิดหน่อย จะมีลายเซ็นของแกก็คือสองเพลงสุดท้ายของแต่ละหน้าแผ่นเสียงที่มาร์ตินเรียบเรียงเครื่องสายในสไตล์ของแกลงไปให้ ได้เพลงเด่นจาก Stevie Wonder มาสองแทร็ค Cause We've Ended As Lovers และ Thelonious เพลงหลังนี่สตีวี่ดอดมาเล่น clavinet ให้ด้วย โดยไม่ขอรับเครดิต ส่วนเพลงแรกเคยอยู่ในอัลบั้มของ Syreeta Wright อดีตภรรยาของ Stevie และเบ็คนำมาทำเป็นบัลลาดแจ๊สร็อคได้ไพเราะขาดใจ มันคือจิ๊กโก๋อกหักฉบับฟิวชั่น

และไหนๆก็ได้จอร์จ มาร์ตินมาโปรดิวซ์แล้ว เจฟฟ์จึงจัดเพลง Beatles มา cover 1 แทร็ค - She's A Woman เขาดึงศักยภาพซ่อนเร้นของเพลงออกมาได้อย่างเหลือเชื่อ โดดเด่นด้วยการใช้ talk box อย่างมีรสนิยม หลายปีต่อมาเจฟฟ์กับมาร์ตินได้มาทำเพลง Beatles ด้วยกันอีกเพลง และมันก็เลิศอีกครั้งใน A Day In The Life

อัลบั้มนี้ผมก็น่าจะได้ฟังจากเทป 501 อีกแล้ว ก่อนหรือหลังบทความในสตาร์พิคส์ของคุณพัณณาศิสเล็กน้อย แกวิจารณ์ลึกซึ้งถึงเรื่องชื่ออัลบั้มและภาพปก (ทำไมต้อง 'blow'?  / ทำไมภาพปกเป็นภาพวาด แต่ปกหลังเป็นภาพถ่ายของภาพเดียวกัน?)  แต่ความประทับใจแรกที่เราฟังก็มีแค่ มันเป็นอัลบั้มบรรเลงกีต้าร์ที่ดีที่สุดที่เราเคยฟังมาเลยนะเนี่ย

และจนทุกวันนี้ มันก็ยังเป็นอยู่

Jeff Beck – electric guitars, bass
Max Middleton — keyboards
Phil Chen — bass
Richard Bailey – drums, percussion

tidal.com/album/33915149

#64 Eagles :: Desperado (1973)




Desperado = โจรผู้ร้ายบ้าบิ่นสิ้นคิด, พวกนอกกฎหมาย






หลังจากมีเพลงฮิตสามเพลงในอัลบั้มชุดแรก Eagles (1972) เป็นเรื่องธรรมดาที่ค่ายเพลงย่อมหวังจะให้พวกเขาทำอะไรอย่างนั้้นอีก (หรือมากกว่านั้นก็ยิ่งดี) แต่สี่หนุ่ม Glenn Frey, Don Henley, Randy Meisner และ Bernie Leadon กลับทำอะไรที่ทำให้ค่ายเพลงกุมขมับ -- คอนเซพท์อัลบั้มเกี่ยวกับพวก outlaw /  gangster ในยุค 1890's มันฟังไม่เหมือนว่าจะเป็นอะไรที่จะขายได้เอาเสียเลย!

แลัวมันก็เป็นอย่างนั้น Desperado ไม่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ แต่ในแง่ดนตรีนี่เป็นหนึ่งในงานที่ดีที่สุดของพวกเค้า Eagles สามารถร้อยเรียงเรื่องอันซับซ้อนของเหล่าจอมโจรมาขยายความและเจาะลึกเล่าเป็นฉากๆ ฝีมือในการประพันธ์และทีมเวิร์คของพวกเขาเป็นไปอย่างเข้าขารู้ใจ หลายเพลงชี้ให้เห็นอนาคตว่าพวกเขาน่าจะไปในทางที่"ร็อค"มากขึ้นกว่าเดิม อย่าง "Out of Control", "Outlaw Man" (เพลง cover เพลงเดียวในชุดนี้) เพลงของ Bernie Leadon ที่ต้องเขียนตามคำสั่งของ Glenn ให้เข้ากับคอนเซพท์กลับฟังดูดีเป็นพิเศษ (ผิดสังเกต) ใน "Twenty-One" และ "Bitter Creek" ส่วน Randy ก็ทำได้ดีมากในแทร็ค "Certain Kind of Fool" คงไม่ต้องพูดถึงเพลงดังอย่างไทเทิลแทร็คและ "Tequila Sunrise" ที่อุทิศให้กิจกรรมการดวดเหล้ายันสว่าง

พูดถึงหน่อยก็ดี "Desperado" เป็นเพลงแรกที่ Henley-Frey ได้นั่งร่วมกันแต่งเพลงด้วยกันจริงๆจัง โดยหลักๆมันเป็นเพลงเก่าที่ดอนแต่งค้างไว้ตั้งแต่ปี 1968 แล้ว ฟรายช่วยขัดเกลาและให้ชื่อเพลงใหม่ ตอนบันทึกเสียงเพลงนี้ดอนต้องร้องสดๆร่วมกับวงเครื่องสายเป็นครั้งแรกในชีวิต ทุกครั้งที่เขาได้ยินมันทางวิทยุเขายังรู้สึกตื่นเต้นเหมือนอยู่ในห้องอัดวันนั้น เพลงคลาสสิกเพลงนี้ไม่ได้โด่งดังเลยแต่แรก แต่เริ่มมาเป็นที่รู้จักก็เมื่อ Linda Ronstadt นำมันมาขับร้องใหม่ ลินดานี่ถือเป็นสตรีผู้มีพระคุณกับ Eagles มากมายจริงๆ

ก็เหมือนกับ concept album ทุกชุด ถ้าจะฟัง 'Desperado' ให้ถึงกึ๋นคุณก็คงต้องไปหาอ่านเรื่องราวของแก๊ง Doolin-Dalton มาอ่าน ประกอบไปกับเนื้อเพลงทุกเพลงในชุดนี้ฟังไปด้วย

การออกทัวร์เดินสายของศิลปินร็อค บางทีก็ไม่ต่างอะไรกับการตระเวนออกปล้นตามเมืองต่างๆของพวกจอมโจรเหล่านั้น easy money, faithless women "ความแตกต่างก็คือ เราไม่ได้ไปปล้นใคร" Don  Henley กล่าวไว้ หลายปีหลังจากนั้น

ยุค 80's อัลบั้มนี้ไม่ใช่ของหาง่ายนักในรูปแบบเทปคาสเซ็ตต์ และผมก็คงเหมือนกับเด็กยุคนั้นหลายๆคน ที่ฟัง Desperado ครั้งแรกจากเทป 501

เพลงโปรด : ทุกเพลง (ก็มันเป็นคอนเซพท์)

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Starpics ฉบับพิเศษ Eagles, Their Complete Story 1971-2004 โดย สมบูรณ์ งามสุริยโรจน์ (สมควรมีกันไว้ ถ้าคุณเป็นแฟนวงนี้)

tidal.com/album/20663278

#65 Paul & Linda McCartney :: Ram (1971)




มันคงเจ็บปวดอยู่แล้วสำหรับแฟนเพลงของ The Beatles สำหรับการแยกทางกันเดินของพวกเขาในปี 1970
และมันคงรวดร้าวยิ่งกว่าในการที่จะได้เห็นจอห์น เลนนอน และ พอล แมคคาร์ทนีย์ สาดโคลนใส่กันในเสียงเพลงและในพื้นที่ข่าว (ถ้าตอนนั้นมี social media แล้วล่ะ?)
แต่คนที่สาหัสที่สุดน่าจะเป็นตัวพอลเอง

ในช่วงท้ายๆของ The Beatles (หลังจากปี 1967 เป็นต้นมา) เป็นเขาที่เป็นคนสำคัญที่พยุงและต่อลมหายใจของวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกวงนี้เอาไว้
แต่เมื่อถึงวันสุดท้าย ดูเหมือนคำกล่าวโทษต่างๆนาๆจะมาลงที่เขา
บีทเทิลส์ทั้ง 3 คน ดูจะช่วยเหลืองานดนตรีกันเป็นอย่างดีในอัลบั้มเดี่ยวของแต่ละคน
มีแต่พอลเท่านั้น ที่ไม่มีใครเหลียวแล
ประมาณว่า มึงเก่งนักนี่ ก็เล่นไปคนเดียวสิ
และเขาก็ไม่เคยไปช่วยคนอื่นเช่นกัน
(เมื่อเวลาผ่านไปสถานการณ์แบบนี้จึงคลี่คลายขึ้น....ระดับหนึ่ง)



จากเพื่อนที่เคยร่วมกันสร้างงานพลิกโลกคว่ำหงายครั้งแล้วครั้งเล่า
บัดนี้งาน solo ของแต่ละคนต้องถูกนำมาเปรียบเทียบกันอย่างมิอาจเลี่ยง
หลายคนอาจจะคิดว่าเมื่อแตกวง คนขยันและเก่งรอบด้านอย่างพอลน่าจะไปได้ดีที่สุด
แต่การณ์กลับเป็นว่า อัลบั้ม McCartney งานเดี่ยวชุดแรกของเขา กลายเป็นงาน home  made แบบบ้านๆที่ต่ำต้อยนักเมื่อนำไปเทียบงานระดับแกรนด์เสกล ทริปเปิลอัลบั้ม ของ George Harrison : All Things Must Pass
ส่วน John Lennon ก็ชนะใจนักฟังและนักวิจารณ์ด้วยอัลบั้มปอกเปลือกวิญญาณตัวเอง Plastic Ono Band

Ram เป็นความพยายามครั้งที่ ๒ ของพอลในปีถัดมา
มันเป็นงานแรกและงานเดียวที่ออกมาในนามของพอลและลินดา
บันทึกเสียงในนิวยอร์ค ร่วมกับนักดนตรีที่ได้มาจากการออดิชั่น
พอลพยายามทำสิ่งที่ตรงกันข้ามทั้งหมดกับที่เขาทำใน McCartney
ดนตรีจัดเต็มในทุกมิติ
ยอดขายของ Ram ไปได้ดีพอสมควร
แต่นักวิจารณ์ก็ยังสนุกสนานกับการกระทืบพอล แมคคาร์ทนีย์ต่อไป
หลายทศวรรษถ้ดมา น่าประหลาดใจที่เสียงด่าทอนั้นกลับหายไปเกือบหมด
นักวิจารณ์บางค่ายยกให้ Ram เป็น "บิดาของอินดี้ป๊อบ" ไปนู่น
(แต่มันก็มีเหตุผลอยู่นะ)

สำหรับผม Ram เป็นอัลบั้มที่เป็นตัวของพอลเต็มที่
เขาไม่พยายามจะหนีตัวเองอย่างใน McCartney
นี่คือพอลในแบบที่เรารู้จัก
เมโลดี้สวยๆสาดใส่ทุกเพลงอย่างไม่กลัวจะหมดสต็อก
อยากให้เมียมาร้องเพลงด้วย.... ใครจะหยุดเขา
อยากทำเพลงแบบเอาท่อนเล็กๆมาต่อกันในแบบ Abbey Road.... เอาไปสองเพลงเลย
อยากร้องเสียงโหดๆบนเนื้อเพลงให้เด็กฟัง.... นั่นคือ Monkberry Moon Delight
อยากด่าเพื่อนเก่า นั่น เพลงแรกเลย.... Too Many People
อยากจบอัลบั้มแบบ epic ให้โลกรู้ว่าข้าแน่... มาสิที่หลังรถฉัน The Backseat of My Car

อย่าเชื่อผมมากนะครับ
#สายแม็กก้า
#ติ่งพอล

tidal.com/album/15053086

#66 The Moody Blues :: Long Distance Voyager (1981)




โชคดีที่ผมหาที่นั่งบนรถเมล์วันนั้นได้

ความสุขอย่างหนึ่งของคนซื้อแผ่นเสียงใหม่ๆมา ก็คือการหยิบมันออกมาจากถุง
ระหว่างเดินทางกลับบ้าน เพ่งพิจศิลปะบนปก
ยิ่งเป็นปกที่เต็มไปด้วยรายละเอียดงดงามอย่าง Long Distance Voyager ของ The Moody Blues....
แต่ผมไม่ต้องจินตนาการหรอกว่าเพลงข้างในเป็นยังไง
เพราะผมมีคาสเซตต์อยู่ม้วนนึงแล้ว
แต่อัลบั้มนี้มันดีเกินกว่าที่จะมีแค่เทป
ในยุคนั้น การมีไวนีล (สมัยนั้นก็เรียกกันแค่ว่า "แผ่นเสียง") ถือเป็นเป้าหมายสุดท้ายของการครอบครองอัลบั้มดีๆสักชุด
(ตอนนี้ก็อาจจะเป็นอยู่ แต่สำหรับบางคนคงไม่ใช่)
ผมได้แผ่นนี้มาจากแผนกแผ่นเสียงของห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว
น่าจะซื้อในวันเรียนก่อนกลับบ้าน
ผมบ้านอยู่ฝั่งธนฯ แต่เรียนที่บดินทร์ ลาดพร้าว
(ขยันเนอะ)

ก่อนหน้านี้ ผมไม่เคยฟัง 9 อัลบั้มก่อนหน้านี้ของ The Moody Blues มาก่อน
เห็นเค้าว่ากันว่าวงนี้เป็น Classical Rock นะ--ดนตรีร็อคที่มีอิทธิพลหรือใช้เครื่องดนตรีคลาสสิก
ไม่เหมือน Progressive Rock อย่าง Pink Floyd, Genesis หรือ ELP
แต่ผมก็ไม่ได้แคร์อะไรกับเรื่องแบ่งแนวดนตรีมากนักหรอกในสมัยนั้น
รู้แต่ว่ามันเป็นดนตรีร็อคที่ลึกล้ำ แต่นุ่มนวลไพเราะฟังง่าย
มันขัดแย้งกันยังไงอยู่นะ ลึกล้ำ-ฟังง่าย
The Moodies ทำให้เพลงของ ELO ที่ผมฟังมาก่อน กลายเป็นมือสมัครเล่นไปอย่างง่ายดาย
(แม้ว่าบางแทร็คในชุดนี้ เหมือนจะเลียนแบบ ELO ในบางลีลาก็เหอะ)

เมื่อปลายเข็มจรดลงบนร่องแรกแทร็คแรก "The Voice"
เสียงอินโทรคีย์บอร์ดจากสมาชิกใหม่ Patrick Moraz ช่างอลังฯเหลือหลาย
และเมื่อจัสติน เปล่งเสียง
.....Won't you take me back to school, I need to learn the golden rules......
โลกภายนอกก็ปิดตัวลง
Gemini Dream, In My World, Tallking Out of Turn, Nervous, Reflective Smile ไหลลื่นออกมาจากแผ่นดำที่หมุนติ้ว
จนกว่าจะถึงเพลงสุดท้ายของ LP-- Veteran Cosmic Rocker เสียงของเรย์ โธมัส ปิดอัลบั้มได้อย่างเร้าใจสุดยอด

ผมชอบอัลบั้มนี้มากจนถึงขั้นเขียนจดหมายไปหาคุณพัณณาศิส ขอร้องให้รีวิวมันลงในสตาร์พิคส์หน่อย เพราะผมไม่เห็นนิตยสารอื่นรีวิวมันเลย
คุณพัณณาศิสไม่ตามใจผม และบอกว่า ไม่จริงหรอก เห็นอยู่หลายเล่มนะ ที่พูดถึงมัน "คุณต้องทำการบ้านเยอะหน่อยนะ" เขาบอก
ก็อาจจะจริงนะ แต่ใครล่ะจะเขียนได้ถึงกึ๋นเท่าคุณ
(เท่าที่ค้นดู เขาก็น่าจะไม่เคยเขียนถึงมันเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ แต่ข้ามไปชุด The Present)

ใครบางคนบอกเอาไว้ว่า ดนตรีที่ฟังในช่วงทีนเอจมักจะฝังลึกและได้เปรียบช่วงอื่นๆที่จะทำให้เรารักไม่เลิกรา ถ้าเป็นอย่างนั้้นจริง ผมคงตอบไม่ได้ว่าหลงใหล Long Distance Voyager เพราะอะไรกันแน่

Oh.... can you feel it?
Won't you tell me again
tonight?

tidal.com/album/2045831

#67 Stevie Ray Vaughan and Double Trouble :: The Sky Is Crying (1991)




".....โน้ตแรกของ Scuttle Buttin' จากอัลบั้ม Couldn't Stand The Weather คือคำทักทายแรกจากสตีวี่และวงของเขาที่มีให้กับเด็กหนุ่มคนนั้น ผมใช้เวลาไม่กี่นาทีและประสบการณ์การฟังอันน้อยนิดก็พอจะบอกได้ว่านี่ไม่ใช่นักกีต้าร์บลูส์ธรรมดาๆอย่างแน่นอน จากนั้นมาผมก็แทบไม่เคยพลาดงานทุกชิ้นของแก ไม่ว่าจะเมาหัวราน้ำหัวหกก้นขวิดแค่ไหน ผมก็ไม่เห็นว่าฝีมือแกจะตกต่ำลง (อาจจะฟังไม่ออกเอง) แต่กับ In Step อัลบั้มสุดท้าย มันชัดเจนว่าเป็นผลงานที่ออกมาจากจิตใจที่แจ่มกระจ่าง มันทำให้ผมรับรู้ได้ว่าดนตรีบลูส์ไม่จำเป็นต้องมาจากความเมามายอันปวดร้าวเสียทุกทีไป ผมมองเห็นสิ่งดีๆในดนตรีของสตีวี่ที่รออยู่เบื้องหน้าอีกมากมาย แต่พระเจ้ากระชากเขากลับไปอย่างไม่มีเหตุผลใดๆ คืนนั้นผมจิบเบียร์อยู่ริมน้ำ คุยกับฝรั่งแปลกหน้าถึงดนตรีของสตีวี่ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เราทุกคนเสียดายเขา และสตีวี่นี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเขียนบทความแรกไปลงในนิตยสาร Starpics ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นคอลัมน์ "ที่ตรงนี้คุณเขียน" ปลื้มมากๆที่ได้เห็นบทความของตัวเองลง และที่น่าประหลาดคือ ทางสตาร์พิคส์ลงลายมือผมที่เป็นหัวเรื่องด้วย (จำไม่ได้แล้วว่าเขียนว่าอะไร)....."

--ผมเขียนไว้ในกิจกรรม #mygeneration ใน TIDAL Thailand เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

สตีวี่เรย์มีสตูดิโออัลบั้มระดับเยี่ยม 4 ชุดในช่วงชีวิตของเขา และอัลบั้มแสดงสดเจ๋งๆอีกไม่ต่ำกว่า 2 ชุด แต่ผมขอเลือกอัลบั้มที่ออกหลังเสียชีวิต (posthumous album) ชุดนี้... The Sky Is Crying คิดว่ามันเป็น posthumous album ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกดนตรีชุดหนึ่ง และมันบอกความเป็น SRV ได้หมดจดที่สุด

หลังจาก SRV เสียชีวิตจากอุบัติเหตุฮ.ตกในเดือนสิงหาคม 1990 Jimmy Vaughan พี่ชายของเขาได้จัดทำอัลบั้มนี้ขึ้น มันเป็นการบันทึกเสียงในวาระต่างๆกันของสตีวี่ในช่วงปี 1984 ถึง 1989 และด้วยเหตุผลบางประการอันแตกต่างกันออกไป ทำให้ 10 เพลงนี้ไม่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในอัลบั้มใดๆของเขา

มันอาจจะเป็นเหตุผลของพระเจ้าที่อยากให้ The Sky Is Crying เป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่สตีวี่จะฝากให้โลกดนตรีบลูส์ ไม่ว่าจิมมี่จะตั้งใจหรือไม่,นี่คือการรวมเพลงทีแสดงให้เห็นแนวทางการเล่นและอิทธิพลอันหลากหลายกว้างขวางที่มีต่อความเป็นสตีวี่ ตั้งแต่บทเพลงมันส์ๆที่เป็นแผ่นเสียงแผ่นแรกของเขา Wham! ของ Lonnie Mack (เขาจะเปิดมันดังลั่นบ้าน จนพ่อทนไม่ไหวต้องหักแผ่นเสียงทิ้ง แต่ไม่นานหลังจากนั้น สตีวี่ก็จะซื้อแผ่นใหม่เข้าบ้านมาอีก) , แนวละตินแจ๊สใน Chitlins con Carne ของ Kenny Burrell ฝากฝีมือสไลด์ชั้นครูใน Boot Hill และยังโชว์การเล่นอคูสติกเป็นครั้งแรกใน Life by the Drop (เพราะมากๆ)

 แต่สองเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดก็ย่อมเป็นไทเทิลแทร็ค The Sky Is Crying หนึ่งในการเล่นสโลว์บลูส์ที่เลิศเลอที่สุด (เป็นแนวที่สตีวี่ทำไว้หลายเพลงมาก) และการคารวะต่อเทพเจ้ากีต้าร์องค์ก่อนหน้า--Jimi Hendrix ด้วยบทบรรเลงยาวเกือบเจ็ดนาทีของ Little Wing.--เพลงนี้เพลงเดียว แทบจะสรุปความเป็น electric guitar blues ไว้ได้ทั้งหมด.....

"พวกเราส่วนใหญ่ก็จะเล่นโซโล่12ห้องแล้วก็ต่ออีกสองคอรัส จากนั้นก็เป็นอะไรที่ซ้ำไปซ้ำมา แต่กับสตีวี่เรย์ ยิ่งเล่นยาวแค่ไหน, เขาก็ยิ่งเล่นดีขึ้นเรื่อยๆ"

-B.B. King กล่าวไว้หลังการเสียชีวิตของสตีวี่ เรย์ วอห์น

tidal.com/album/221

#68 John Coltrane :: Ballads (1963)




บัลลาด : เพลงช้าที่ร้องหรือบรรเลงด้วยอารมณ์อ่อนไหว,โรแมนติก

ปี 1963 จอห์น โคลเทรน อาจจะต้องการถ่วงดุลย์ให้แฟนๆที่อาจจะรู้สึกหนักหนาสาหัสเกินไปกับแนวทางอันหลุดโลกและการเป่าแซ็กอันเกรี้ยวกราดของเขาในช่วงก่อนหน้านั้น ปีนี้เทรนออกอัลบั้มที่เป็นมิตรกับผู้ฟัง 3 ชุด ติดๆกัน การร่วมงานกันครั้งแรกและครั้งเดียวของเขากับผู้ยิ่งใหญ่ Duke Ellington, เป่าแซ็กคลอคู่ไปกับเสียงร้องนุ่มลึกของ Johnny Hartman และชุดนี้... Ballads

เป็นอีกครั้งที่ผมเลือกอัลบั้มที่อัดกันที่บ้านหมอรูดี้ ฟาน เกลเดอร์มาเข้าลิสต์ (ไม่ได้ตั้งใจเลย) เทรนนำทีม Classic Quartet ของเขาอันประกอบไปด้วย ตัวเขาเอง เล่นเทเนอร์แซ็กโซโฟน, McCoy Tyner เปียโน, Jimmy Garrison เบส* และ Elvin Jones กลอง เลือกเพลงแสตนดาร์ดนุ่มนวล 8 เพลงมาบรรเลงกัน โดยพวกเขาแทบจะไม่เคยเล่นเพลงเหล่านี้ร่วมกันมาก่อน เรียกว่าอ่านโน้ต ซ้อมกันนิดหน่อย แล้วก็ลงมือบรรเลงอัดเสียงกันเลย

มันน่าจะเป็นอัลบั้มหนึ่งที่เข้าถึงผู้ฟังแจ๊สได้ง่ายดายที่สุดในผลงานมหาศาลทั้งหมดของเทรน ทั้ง 8 แทร็ค บรรเลงกันอย่างเบาบาง เนิบเนียน นุ่มนวล และมีรสนิยมอย่างยิ่งยวด (จะมีก็ All or Nothing at All ที่กระฉึกกระฉักขึ้นมาหน่อย) มันคือเพลงที่คุณอาจจะเคยหรืออยากได้ยินวงแจ๊สเล็กๆเล่นกันที่ล็อบบี้โรงแรมหรู แต่คุณก็รู้ว่าไม่มีทางหรอกที่จะได้ยินในระดับฝีมือขนาดนี้... ไม่ว่าจะเป็นล็อบบี้ที่ไหน

มันอาจจะไม่สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆให้วงการดนตรี มันอาจจะเป็นอัลบั้มแจ๊สที่ไม่มีอรรถรสในการอิมโพรไวส์อะไรมากนัก แต่ Ballads คืออัลบั้มที่เต็มไปด้วยเพลงแจ๊สไพเราะลุ่มลึกโรแมนติก ที่ฟังได้นานเท่านานตราบใดที่คนเรายังต้องการความนุ่มนวลอ่อนหวาน...ในกลิ่นอายของแซ็กโซโฟน และ....แจ๊ส

เพลงโปรด : Say It (Over and Over Again), I Wish I Knew, All or Nothing at All


"Say It (Over and Over Again)" (Frank Loesser)– 4:18
"You Don't Know What Love Is" (Gene DePaul)– 5:15
"Too Young to Go Steady" (Jimmy McHugh, Harold Adamson)– 4:23
"All or Nothing at All" (Arthur Altman)– 3:39
"I Wish I Knew" (Harry Warren)– 4:54
"What's New?" (Bob Haggart)– 3:47
"It's Easy to Remember" (Richard Rodgers)– 2:49
"Nancy (With the Laughing Face)" (Jimmy Van Heusen)– 3:10

* เฉพาะเพลง It's Easy to Remember เบสโดย Reggie Workman.

tidal.com/album/3643986

#69 John Coltrane :: Blue Train (1958)




อัลบั้มเดียวของเทรนในฐานะ leader ในสังกัด Blue Note เขามีสัญญาหลวมๆกับ Alfred Lion ไว้ตั้งแต่ปีก่อน เมื่อถึงเดือนกันยายน 1957 นักแซ็กโซโฟนหนุ่มจึงรวบรวมนักดนตรีชั้นเทพ 5 คน เดินทางไปอัดเสียง Blue Train กันที่บ้านของคุณหมอรูดี้ ฟาน เกลเดอร์ (อีกแล้ว) สมาชิกทั้ง 6 นอกเหนือจากเทรนที่เป่าเทเนอร์แซ็กก็มี Paul Chambers (เบส) และ Philly Joe Jones (กลอง) ทั้งสองเป็นเพื่อนร่วมวงเก่าจาก The Miles Davis Quintet ที่เปียโนคือ Kenny Drew ที่เพิ่งบันทึกเสียงกับสองคนแรกไป ผนวกกับนักเป่าดาวรุ่งอีก 2 คน :Lee Morgan (ทรัมเป็ต) และ Curtis Fuller (ทรอมโบน) เทรนไม่ได้ไปตัวเปล่า เขาเตรียมเพลงประพันธ์ใหม่เอี่ยม 4 เพลงไปด้วย รวมกับเพลงเก่าหนึ่งเพลงจากการประพันธ์ของ Mercer & Kern

Blue Train เป็นงานที่อยู่ตรงพรมแดนระหว่างยุคบรรลุในฝีมือกับยุคแสวงหาของเทรน มันไม่หลุดโลกเกินไป และก็ไม่ได้อนุรักษ์นิยมเดาทางได้เหมือนงานยุคก่อนหน้านี้ของเขา มันมีความสดในสุ้มเสียงแบบบลูโน้ต และแม้จะเป็นอัลบั้มของเทรน แต่เขาก็ปล่อยให้ลูกวงได้ออกมาผลัดกันโซโล่ถ้วนหน้า Lee Morgan และ Curtis Fuller กำลังอยู่ในฟอร์มที่สุดยอด ส่วนริธึ่มเซ็คชั่นนั้นอยู่ตัวหายห่วง ในเวลานั้นเทรนคงจะหาทีมไหนที่ปึ้กกว่า Drew, Chambers และ Jones ยากนัก

ทั้ง Blue Trian, Moment's Notice, Locomotion และ Lazy Bird กลายเป็นเพลงแจ๊สอมตะในเวลาต่อมา และการคั่นเวลาด้วย "I'm Old Fashioned" ก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ แม้เขาจะขึ้นชื่อในเรื่องการเป่าแซ็กที่รวดเร็วซับซ้อนดุดัน แต่เชื่อผมเถิดว่าเมื่อถึงเวลาที่เขาจะอ่อนหวานกับบัลลาด เทรนไม่เคยพลาดที่จะสะกดหัวใจคนฟัง

คนทั้ง 6 ไม่เคยบันทึกเสียงร่วมกันอีกหลังจากนั้น น่าเสียดายเนอะ แต่โลกดนตรีแจ๊สในทศวรรษ 50's ก็เต็มไปด้วยเรื่องแบบนี้ Blue Train เป็นอัลบั้มแจ๊สที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน? มันอาจจะไม่ได้รับการเทิดทูนในระดับ A Love Supreme แต่ถ้าคุณอยากจะฟังการเล่นดนตรีแนว hard bop ของยอดนักดนตรีแจ๊ส 6 คนในแบบเต็มไปด้วยอิสระ แต่กระนั้นก็ยังไม่หลุดกรอบ ด้วยอารมณ์อันชื่นมื่นเปี่ยมชีวิตชีวา..... คุณมาถูกที่แล้ว


John Coltrane – tenor saxophone
Lee Morgan – trumpet
Curtis Fuller – trombone
Kenny Drew – piano
Paul Chambers – bass
Philly Joe Jones – drums

tidal.com/album/1461669

#70 Miles Davis :: Bitches Brew (1970)



นี่คือหนึ่งในอัลบั้มที่ผมจะขอเอาติดตัวไปด้วยถ้าต้องไปติดค้างในเกาะร้างเป็นเวลาหลายๆปี....หรือตลอดชีวิต ทำไมน่ะหรือ? มันเป็นแจ๊สที่ครบทุกรส มาทุกเสียง และความลี้ลับมหัศจรรย์ของมันคงมีอะไรให้เราคลี่คลายไปได้อีกนานแสนนาน.....น่ะสิ

"สิ่งสำคัญที่สุดในการบันทึกเสียงนี้คือการอิมโพรไวส์ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้แจ๊สนั้นเจ๋งโคตรๆ" - ไมลส์ เดวิส

ไมลส์ เดวิส อาจจะเริ่มทำดนตรีฟิวชั่น (แจ๊ส+ร็อค) มาตั้งแต่อัลบั้มก่อนหน้านี้ - In The Silent Way แต่เป็นใน Bitches Brew นี่แหละ ที่เขาจัดเต็มรูปแบบ ทั้งความยาว (ของบทเพลง) ความใหญ่ (โตของวงดนตรี) และความหลุดพ้นจากรูปแบบดนตรีเดิมๆที่มนุษย์ทุกคนเคยได้ยินมาก่อน รวมทั้้งตัวไมลส์เองด้วย

"สิ่งทีเราทำใน Bitches Brew นั้น มันเป็นอะไรที่ไม่อาจเขียนเป็นสกอร์ให้ออเคสตร้าเล่นได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงไม่เขียนอะไรออกมาทั้งหมด ไม่ใช่ว่าผมไม่รู้ว่าผมอยากได้อะไร ผมรู้ว่าสิ่งที่ผมต้องการนั้นต้องมาจากกระบวนการเล่นสดๆ ไม่ใช่อะไรที่เตรียมกันมาก่อน" ไมลส์ กล่าวไว้อีกครั้ง

เขาใช้มุกเดียวกับที่เคยใช้ใน Kind of Blue session เมื่อ 10 ปีก่อนอีกครั้ง นักดนตรีแต่ละคนแทบไม่เคยรู้ว่าเขาต้องเล่นอะไร ไมลส์ให้ข้อมูลเพียงเล็กน้อย จังหวะ, คอร์ด และเมโลดี้คร่าวๆ รวมทั้งการบอกถึงอารมณ์เพลงที่เขาต้องการ จากนั้นเขาก็ปล่อยให้ลูกวงบรรเลงกันไป โปรดิวเซอร์ Teo Macero ถูกสั่งไม่ให้ลงมายุ่งอะไรทั้งนั้น นอกจากเปิดเทปอัดไปเรื่อยๆ ไมลส์ต้องการให้อัดมันทั้งหมดลงเทป เจ้าของอัลบั้มดอดมาเป่าทรัมเป็ตเป็นระยะๆ บางครั้งก็ล่องลอยหลอกหลอน บางครั้งก็ก้าวร้าวระเบิดความรู้สึก และ,ซับซ้อนไปกว่านั้น บางทีไมลส์ก็บอกให้วงหยุดเล่น ให้ทีโอกรอเทปกลับไปเล่นให้ฟัง และไมลส์จะบอกให้ทางวงเล่นซ้อนทับลงไปเป็นการ edit สดๆลงไปอีก

Teo มามีบทบาทก็หลังจากการบันทึกเสียงเสร็จสิ้นแล้ว เขานำเทปทั้งหมดมาตัดต่อตามความต้องการของไมลส์ด้วยวิธีแบบอนาล็อกเดิมๆ (ก็ตอนนั้นมันไม่มีวิธีอื่น) บางเพลงอย่าง Pharoh's Dance มีการตัดต่อถึง 19 จุด แต่จะด้วยฝีมือของ Teo หรือความล้ำลึกไร้รูปแบบของดนตรีใน Bitches Brew อยู่แล้วก็ไม่ทราบได้ ทำให้มันยากเหลือเกินที่จะหารอยต่อเหล่านั้นในทั้ง 6 แทร็ค เนียนมาก!

Bitches Brew เป็นอัลบั้มคู่ที่ประสบความสำเร็จถึงระดับแผ่นเสียงทองคำและขายไปได้มากกว่า 5 แสนชุด ไม่ว่าเขาจะทำมันออกมาด้วยความอหังการอยากลองของ หรือแค่จะเปิดตลาดใหม่ให้ตัวเอง มันก็เป็นอัลบั้มที่ทำให้ไมลส์โดดลงไปอยู่ในพื้นที่เดียวกับศิลปินร็อคหลายๆคนในยุคนั้น แม้เขาจะยังคงเป็นนักดนตรีแจ๊สเต็มตัว แต่อีกนัยหนึ่ง ไมลส์ เดวิส กลายเป็นร็อคสตาร์ไปแล้ว

รายนามส่วนหนึ่งของเหล่าปีศาจแจ๊สที่มาร่วมวงไพบูลย์กับไมลส์ใน Bitches Brew.....

-Wayne Shorter โซปราโนแซ็ก
-Bernie Maupin เบสคลาริเน็ต
-Joe Zawinul เปียโนไฟฟ้า
-Chick Corea เปียโนไฟฟ้า
-John McLaughlin กีต้าร์
-Dave Holland เบส
-Harvey Brooks เบส
-Lenny White กลอง
-Jack DeJohnette กลอง
-Don Alias คองก้า

and more......


tidal.com/album/1286678

#71 Dire Straits :: Dire Straits (1978)




ผมฟังอัลบั้มชุดแรกของวงร็อค 4 ชิ้นจากลอนดอนวงนี้--Dire Straits ครั้งแรกในช่วงกลางทศวรรษ 80's การฟังแบบย้อนเวลาอย่างนั้นจึงไม่มีบริบทอะไรเกี่ยวกับเรื่องความแปลกแยกในแนวดนตรีของพวกเขากับ"เทรนด์"ในขณะนั้น แต่ความจริงก็คือในปี 1977 เป็นยุคของพังค์ร็อคและดิสโก้ แทบไม่มีที่ยืนใดๆให้มองเห็นสำหรับดนตรีบลูส์-คันทรี่ร็อค และเสียงร้องแนวสนทนา (บ่น) ของ มาร์ค นอฟเลอร์ และทางต้น สังกัด (Vertigo/Phonogram) ก็ดูเหมือนจะรีลีสมันออกมาแบบตามมีตามเกิด ไม่ได้มีการโปรโมตหรือความหวังว่ามันจะเป็นอัลบั้มขายดีอะไร

จะว่าไปก็น้อยครั้งนักที่ค่ายเพลงเหล่านี้จะคิดได้ว่ามันไม่จำเป็นต้องตามกระแสของตลาดตอนนั้นกันเสมอไป และก็เป็นผู้ฟังที่เป็นคนตัดสิน "Dire Straits" หลังจากออกขายเงียบๆในอังกฤษ มันกลับไปสร้างชื่อเสียงในฮอลแลนด์และเยอรมัน ก่อนที่ซิงเกิ้ล Sultans of Swing จะไปติดท็อป 5 ในสหรัฐอเมริกา นั่นแหละ,คนฟังในบ้านเกิดจึงเริ่มตื่นตัวกับมัน จวบจนทุกวันนี้ คงไม่มีใครกังขาว่าอัลบั้มนี้จะเข้ากับยุคสมัยหรือไม่ เพราะความจริงแล้วมันเข้าได้กับยุคสมัย--timeless

แต่ก็อย่างที่บอก--ผมไม่ได้ฟังตอนมันออกจริงๆ สิ่งที่ผมได้ยินจากเทปพีค็อกม้วนนั้น (มันถูกอัดรวมกับอัลบั้มชุดที่ ๒ Communique โดยชุดนี้จะอยู่ที่หน้าสองของเทป) คือบทเพลงที่สดใสไร้ความกดดัน โดดเด่นที่สุดคือเสียงกีต้าร์ที่คมกริบกรีดกรายเต็มไปด้วยลวดลายไม่เหมือนใครของมาร์ค นอฟเลอร์ ทุกเพลงมีความไพเราะประหลาดๆ มันเกือบจะไม่เพราะด้วยเสียงร้องแบบนั้น นี่เป็นม้วนเทปที่เปิดวนได้เป็นวันๆไม่มีจะหน่ายเบื่อแม้ผมจะไม่ได้มีเทปออโตรีเวิร์สในขณะนั้น

ในเวลาต่อมามาร์คและ Dire Straits อาจจะทำงานที่ยิ่งใหญ่,โด่งดังมากกว่านี้มากนัก แต่ไม่มีอัลบั้มไหนที่ผมจะประทับใจมากไปกว่างานเปิดตัวสวนกระแสโลกชุดนี้

เพลงโปรด : Sultans of Swing, Down To The Waterline, Water of Love, Lions, Wild West End


tidal.com/album/622353

#72 David Bowie :: Let's Dance (1983)


David Bowie reinvent ตัวเองอีกครั้งในทศวรรษ 80's จับมือกับโปรดิวเซอร์ Niles Rodgers และมีอกีต้าร์ Stevie Ray Vaughan Let's Dance เป็นป๊อบแดนซ์มิวสิคที่มีรากฐานของดิสโก้และบลูส์ มันเป็นหนึ่งในงานที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเขา และสร้างปัญหาให้โบวี่ที่สุดเช่นกัน ในการที่จะต่อยอดจากความสำเร็จนี้

#73 Bill Evans Trio :: The Complete Village Vanguard Recordings, 1961 (2005)




25 มิ.ย. 1961 มันเป็นวันอาทิตย์ Bill Evans Trio มีกำหนดการแสดงที่นี่, The Village Vanguard ใน New York ณ เวลานั้น มันไม่มีอะไรสลักสำคัญมากไปกว่า ชีวิตประจำวันของนักดนตรีแจ๊สในนิวยอร์ด

Orrin Keepnews โปรดิวเซอร์ และ David Jones เอ็นจิเนียร์ไปถึงที่นั่นก่อนวงเล็กน้อย เขาสองคนจัดหาตำแหน่งโต๊ะดีๆหน้าเวที เพื่อวาง Ampex Portable Tape Recorder  พวกเขามีแผนจะบันทึกการแสดงตลอดบ่ายและคืนนี้ลงในเส้นเทปทั้งหมด

บิล อีแวนส์ (เปียโน) สก็อต ลาฟาโร (เบส) และ พอล โมเชี่ยน (กลอง)ได้ร่วมสร้างผลงานกันในนามของ Bill Evans Trio ไว้ก่อนหน้านี้สองอัลบั้ม พวกเขาเล่นร่วมก้นมาได้ประมาณ 2 ปี ฝีมือและการสอดรับอิมโพรไวส์กันระหว่างทั้งสามนั้นเข้าขากันราวกับมีพลังจิตสื่อกันได้

ถ้าท่านคุ้นกับการเล่นของบิล อีแวนส์คงจะทราบดีว่าเขาเน้นฮาร์โมนี และใส่ space เข้าไประหว่างตัวโน้ตมากมาย ต่างจากมือเปียโนแจ๊สคนอื่นๆในยุคเดียวกัน บิลจะมีซาวนด์เฉพาะตัวที่ก้องหวานเหมือนระฆัง-สุกสว่างอ้อยอิ่งดั่งแสงไฟนีออนสีฟ้าในคืนพร่ำฝน

ขณะที่ฝีมือของสก็อต ลาฟาโรสมาชิกอายุน้อยที่สุดในวงนั้นยอดเยี่ยมเกินบรรยาย น้ำเสียงเบสจากพลังนิ้วของเขานั้นนุ่มนวลแต่ชัดเจนแกร่งกร้าวฉุดลากตัวโน้ตไปในทิศทางซ่านกระเซ็นสุดคาดเดาพร่างพรมไปทั่ว เขากำลังอยู่ในช่วงพุ่งสูงสุดในชีวิตนักดนตรีแจ๊ส

ส่วนมือกลองพอล โมเชี่ยนร่ายแส้ไปบนฉาบแฉและแผ่นหนังราวกับศิลปินปาดพู่กันไปบนผืนผ้าใบ พวกเขาทั้งสามได้สร้างมาตรฐานใหม่ของการเล่นเปียโนทริโอแจ๊สขึ้นมาให้กับวงการ

เมื่อนักดนตรีร่วมกันเล่นดนตรีแจ๊สบนเวที พวกเขาอาจมีเป้าหมายต่างกันออกไป เล่นให้จบๆเพลง เล่นให้สนุกสนาน เล่นให้แม่นยำตามบทประพันธ์ หรือ อิมโพรไวส์ให้หลุดโลกที่สุด แต่สำหรับ Bill Evans Trio ที่ Village Vanguard วันนี้ ชัดเจนว่าจุดประสงค์ของพวกเขาคือ เล่นกับดนตรี ให้ออกมาสวยงามที่สุด เท่าที่ฝีมือและคีตปฎิภาณของพวกเขาจะสรรสร้างออกมาได้

แต่แค่ 10 วันหลังจากการบันทึกเสียงที่วิลเลจฯ ลาฟาโรเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์อย่างไม่มีใครคาดฝัน เทคที่สองของเพลง Jade Visions ที่สก็อตแต่งเอง เป็นเพลงสุดท้ายที่คลาสสิกทริโอวงนี้ได้เล่นด้วยกัน จากนั้นมา Bill Evans ไม่เคยมีวงทริโอที่ยอดเยี่ยมเท่านี้อีก

คุณภาพในการบันทึกเสียงก็เป็นอีกหนึ่งในความน่าอัศจรรย์จากงานแสดงสดชุดนี้ บิลและสก็อตปักหลักอยู่คนละฟากฝั่งของสเตอริโอโดยมีเสียงกลองและฉาบของโมเชี่ยนคอยโยงเป็นสายใยเชื่อมต่อระหว่างสองแชนเนล ไม่น่าเชื่อว่าเสียงทั้งหมดนี้มันจะมาจากการแค่วางเครือ่งอัดเทปเครื่องเดียวบนโต๊ะหน้าเวที มันเก็บมาได้หมดทั้งบรรยากาศบนเวที และเสียงกระทบแก้วบนโต๊ะผู้ฟังรอบๆ

บันทึกการแสดงทั้งหมดถูกคัดเลือกออกมาเป็นอัลบั้มไลฟ์สุดคลาสสิกสองชุดคือ Sunday At The Village Vanguard และ Waltz For Debby โดยชุดแรกจะเน้นที่เพลงโชว์ผลงานการประพันธ์และฝีมือเบสของสก็อตต์มากกว่า

จนกระทั่งปี 2005 เราจึงได้มีโอกาสฟังเทปทั้งหมดโดยไม่ตัดต่อ ทั้ง 5 เซสชั่น เรียงตามเวลา ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ผมนำมาเสนอ ณ ที่นี้ (ตอนแรกคิดว่าจะเลือกอัลบั้ม Sunday... แต่ ณ เวลาปัจจุบันหลายแทร็คในอัลบั้มนี้ไม่อาจฟังได้ใน TIDAL จึงเปลี่ยนใจจัดเต็มเซ็ตใหญ่ไปเลยครับ)

tidal.com/album/4098412

#74 Sonny Rollins :: Saxophone Colossus




<อนุสาวรีย์เทพแซ็ก>

คุณต้องมีความมั่นใจระดับไหนถึงจะกล้าตั้งชื่ออัลบั้มแบบนั้น และภาพปกแบบนั้น ขณะที่คุณมีอายุแค่ 26 ปี?

คำตอบ--ก็ต้องระดับเดียวกับ Sonny Rollins ในปี 1956 นั่นแหละครับ

ชีวิตแจ๊สของซันนี่ดูเหมือนจะไม่มีช่วงค้นหาตัวเองอะไรมากมาย เขาเข้าสู่วงการก็เริ่มร่วมเล่นกับบรรดาเทพเจ้าแห่งแจ๊สเลย ตั้งแต่ J.J. Johnson, Bud Powell, Miles Davis, Modern Jazz Quartet, Charlie Parker และ Thelonious Monk แต่ปัญหาเรื่องยาเสพติดและการถูกจับกุมดูจะฉุดรั้งเขาไว้ไม่ให้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด จนกระทั่งปี 1955 เขายอมทดลองการใช้ Methadone (ขณะนั้นยังอยู่ในช่วงทดลอง) เพื่อการเลิกเฮโรอีน และผลออกมาในแง่บวก

ความหวั่นเกรงว่าชีวิตที่ไร้ยาเสพติดจะมีผลเสียต่อความสามารถทางดนตรีของซันนี่นั้นถือเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะหลังจากนั้น นักแซ็กโซโฟนหนุ่มระเบิดฟอร์มสุดขีดแห่งชีวิต ปี 1956 เขาร่ายมนต์ปล่อยผลงานระดับสี่ดาวออกมาราวกับว่ามันง่ายดายยิ่งกว่ากินกล้วยที่ปอกแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Sonny Rollins Plus 4, Tenor Madness หรือ Plays For Birds ล้วนออกมาในปีเดียวกันนี้ (ทุกชุดมีให้ฟังใน TIDAL)

แต่เหนืออื่นใดในปีนั้นก็คือ "อนุสาวรีย์แห่งเทพเจ้าแซ็กโซโฟน" Saxophone Colossus นี่แหละ 60 ปีที่แล้ว ซันนี่นำทีม quartet ที่ประกอบไปด้วยตัวเขาเอง (เทเนอร์แซ็ก) Tommy Flanagan (เปียโน) Doug Watkins (เบส) และ  Max Roach (กลอง) เดินทางเข้าห้องอัดที่สตูดิโอที่บ้านของหมอ Rudy Van Gelder ในนิวเจอร์ซี่ในวันที่ 22 มิ.ย. 1956 เพื่อสร้างประวัติศาสตร์หน้านี้ของแจ๊ส

มีเพียง 5 เพลงในอัลบั้ม เปิดด้วย "St. Thomas" เพลงที่ต่อมากลายเป็นเพลงลายเซ็นของซันนี่ มันเป็นแจ๊ซคาลิปโซที่ฟังสนุกเร้าใจ แต่ในการอิมโพรไวซ์แซ็กของเขาเต็มไปด้วยเทคนิคซับซ้อนที่คนฟังอาจจะไม่ต้องรู้เบื้องหลัง และคงไม่มีใครตีกลองแบบนี้ได้สนุกเท่า Max Roach มันคือหนึ่งในเพลงแจ๊สที่โด่งดังที่สุดตลอดกาล ระดับเดียวกับ So What ของ Miles Davis "You Don't Know What Love Is" บัลลาดจากการแต่งของ Don Raye และ Gene de Paul ที่ซันนี่โชว์การเป่าที่แสนหวานกลมกล่อมอยู่ในความกล้าแกร่ง เขาจบหน้าแรกของแผ่นเสียงด้วยเพลง original อีกเพลง "Strode Rode". อันเป็น upbeat hard bop สุดเข้มข้น

หน้าสองของแผ่นเสียงมีเพียง 2 แทร็ค "Moritat" ก็คือ Mack The Knife ที่เรารู้จักกันดี และปิดท้ายด้วยเพลงบลูส์มาสเตอร์พีซ "Blue 7" ที่เป็นเพลงปล่อยของประจำอัลบั้ม มีนักวิจารณ์นักวิเคราะห์ชำแหละการเดินทางของเส้นเสียงและตัวโน้ตในเพลงนี้มากมาย โดยเฉพาะวิธีการในการอิมโพรไวส์ของซันนี่ ที่ผู้สนใจลึกซึ้งคงต้องไปศึกษาต่อกันเอง

มันคือมาสเตอร์พีซยาว 40 นาทีที่ฟังสนุกไม่รู้เบื่อ เข้าถึงง่าย (อาจจะยกเว้นแทร็คสุดท้าย) แม้คนไม่เคยฟังแจ๊ส  performance และ musicianship ของนักดนตรีทั้ง 4 อยู่ในขั้นสูงสุด มันอาจจะไม่ได้เป็นขวัญใจออดิโอไฟล์เหมือน Way Out West แต่การบันทึกเสียงระบบโมโนในปี 1956 ด้วยฝีมือของหมอรูดี้ก็แทบจะไร้ที่ติเตียนใดๆ

ปัจจุบัน Sonny Rollins อายุ 86 ปี เขาไม่ได้มีผลงาน studio albums ที่เลิศเลอมาหลายสิบปีแล้ว แต่บนเวทีการแสดงเขายังยิ่งใหญ่เสมอ เราคงอยากเห็นเขาโลดแล่นในวงการต่อไปในฐานะ มหาบุรุษแจ๊สคนสำคัญที่สุดที่ยังมีลมหายใจ แต่เมื่อถึงวันนั้น ผมมั่นใจว่า ณ ที่ใดที่หนึ่ง ต้องมีการสร้างอนุสาวรีย์ให้ซันนี่ โรลลินส์ ทองสัมฤทธิ์สีดำสนิท ดั่งปกอัลบั้มนี้

tidal.com/album/3339170

#75 Joe Henderson :: Lush Life (1992)




ทศวรรษ 90's ในวัย ๕๔ ปี นักเทเนอร์แซ็กโซโฟนและคอมโพสเซอร์แจ๊ส โจ เฮนเดอร์สัน ได้รับการยอมรับพอสมควรว่าเป็นยอดฝีมือคนหนึ่งในวงการ แต่ก็ยังจัดว่าเขาไม่ใช่คนดังระดับหัวแถวของแจ๊สยุคนั้น ยุครุ่งเรืองสุดๆของเขาคงต้องย้อนกลับไปในสมัยที่เขาออกอัลบั้มกับสังกัด Blue Note ในยุค 60's นู่น คงไม่มีใครคิดว่าการมาเซ็นสัญญากับ Verve Records ในปี 1991 นี้ จะนำมาซึ่งผลงานซีรีส์สุดท้ายของชีวิต ที่ทำให้โจประสบความสำเร็จสูงสุดในวิชาชีพในทุกๆมิติ

ทุกอย่างเริ่มต้นที่ debut album นี้ ทุกเพลงเป็นผลงานการประพันธ์ของ Billy Strayhorn มือขวาและหัวใจของ Duke Ellington โจได้ทีมสุดแกร่ง Christian McBride (เบส), Wynton Marsalis(ทรัมเป็ต), Stephen Scott (เปียโ, Gregory Hutchinson

อัลบั้มที่ถือเป็นการกลับมาสร้างชื่ออีกครั้งของนักเทเนอร์แซ็กวัย ๕๔ ปีคนนี้ โจ เฮ็นเดอร์สัน นำเพลงจากการแต่งของ Billy Strayhorn คอมโพสเซอร์คู่บารมีท่าน Duke Ellington มาตีความใหม่ ด้วยสไตล์การเป่าที่ลุ่มลึกและการอิมโพรไวส์ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเหนือชั้นกว่านักแซ็กโซโฟนทั่วไป แต่ปัจจัยหลักของความยิ่งใหญ่ของอัลบั้มนี้อยู่ที่ลีลาการประสมวง ที่เหมือนการแสดงและแบบฝึกหัดให้ชาวแจ๊สได้สดับในทุกรูปแบบ ตั้งแต่วงห้าคน (quintet) ใน "Johnny Come Lately" สี่คน (quartet) ใน "Blood Count" สามคน (trio) ใน "Rain Check" สองคน (duo) โดย โจจะดวลหนึ่งต่อหนึ่งกับริธึ่มเซ็กชั่นทุกคนๆคนละเพลง กับคริสเตียนใน "Isfahan" กับสตีเฟนใน "Lotus Blossom" และกับมือกลองเกรเกอรี่ใน "Take The A Train" และ มาจบด้วยการเดี่ยวแซ็กโซโฟนใน "Lush Life"

#76 Sam Cooke :: The Best of Sam Cooke (1962)



ทุกคนรู้ดีว่าอนาคตของนักร้องผู้บุกเบิกดนตรีโซลคนนี้สดใสแค่ไหน
ทุกคนรู้ซึ้งว่างานของ Sam Cooke ยังไม่จบ
ตั้งแต่เริ่มมาทำงาน mainstream ในปี 1957 แซมมีเพลงฮิตมากมายตลอด 8 ปี
คุณสมบัติใดที่ป๊อบสตาร์ควรจะมี แซม คุก ได้รับการติ๊กถูกในทุกหัวข้อ

รูปลักษณ์
การร้องเพลง
แต่งเพลงเองได้
หัวทางธุรกิจ
ความคิดสร้างสรรค์

แต่แล้วในปี 1964 ทุกอย่างก็ถูก delete ไปอย่างไร้สาระที่สุด
แซม คุก ในวัยเพียง 33 ปีถูกหญิงเจ้าของโมเต็ลยิงตาย ด้วยข้ออ้างว่าเธอป้องกันตัวจากการที่แซมจะเข้ามาทำร้าย แซมหัวเสียที่ผู้หญิงที่เขาพาเข้าโมเต็ลแห่งนั้นและหมายจะข่มขืน ได้ขโมยเสื้อผ้าและกระเป๋าเงินของเขาหนีไป
มันเป็นการตัดสินคดีที่แทบจะไม่มีแฟนเพลงคุกคนไหนเชื่อ
คนระดับแซม คุกนี่นะ ต้องลากผู้หญิงมาข่มขืน?

แสนเสียดายที่โลกมีโอกาสได้ฟังเพลงจากเขาเพียงแค่นั้น
แซมเริ่มจากการเป็นนักร้องกอสเพลอยู่หลายปี
จนเขาโตเกินกว่าดนตรีแนวนั้น และวงดนตรีที่เขาร้องอยู่
"You Send Me" คือเพลงแรกๆที่แซมมาชิมลางในแนวป๊อบ
และโลกดนตรีก็ไม่ลังเลที่จะดึงเขาเข้ามาไว้ในอ้อมกอด
โธ่ ก็เพลงมันไพเราะเสียขนาดนั้น เสียงร้องแบบนั้น ใครจะทนได้
จากนั้นที่เหลือก็คือประวัติศาสตร์
"Wonderful World" "Cupid" "Chain Gang" "Bring It On Home To Me" และ "Nothing Can Change This Love"
เพลงเหล่านี้ ฟังเมื่อไหร่ แม้แต่วินาทีนี้
มันก็ยังละลายหัวใจผู้คน
เสียงร้องของแซมเต็มไปด้วยความมั่นใจ ฟังสบาย และอ่อนหวาน
สาวๆน่าจะอยากไล่ปล้ำเขามากกว่าที่แซมจะไปขืนใจใคร

แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดในความเป็นแซม คุก
ถ้าคุณได้ฟังในอัลบั้มแสดงสดสองชุดดังของเขา จะแทบไม่เชื่อว่านี่คือนักร้องคนเดียวกัน
เพราะมันคือ แซม คุก ที่ทรงพลังและร้อคแอนด์โรลโคตรๆ

อย่างไรก็ตามผมเลือกอัลบั้มรวมฮิตเก่าแก่ชุดนี้มาไว้ในลิสต์
เพราะมันเป็น แซม คุก ที่อยากจะจดจำไว้
มันออกมาในปี 1962 ก่อนเขาเสียชีวิตสองปี
เพลงฮิตอาจจะไม่ครบ แต่อย่างน้อยแซมก็คงเคยเห็นมัน
เขาเป็นศิลปินในยุคที่เน้นการขายซิงเกิ้ลเป็นหลัก
แซมจึงไม่มีอัลบั้มระดับเลิศเลอมากนัก
คงไม่ว่าอะไร ถ้าผมจะให้อัลบั้มนี้แหละ คือมาสเตอร์พีซของ
"ผู้ชายที่คิดค้นดนตรีโซล"

Sam Cooke
งานของคุณยังไม่จบ
แต่นักร้องอีกหลายคนได้สานต่อให้คุณแล้ว
Otis Redding, Stevie Wonder, Aretha Franklin....
หรืออีกนัยหนึ่ง นักร้องเพลงโซลทุกคนหลังจากนั้น.....


tidal.com/album/57755156

อ่านรายละเอียดที่น่าสนใจมากๆเกี่ยวกับการตายที่แสนจะเป็นปริศนาของเขาได้ที่ http://performingsongwriter.com/mysterious-death-sam-cooke/

#77 Coldplay :: A Rush of Blood To The Head (2002)

เกือบจะเลิกรากันไปเพราะความกดดันจากความสำเร็จจากอัลบั้มแรก Parachutes แต่พวกเขาก็กลับมาได้ ด้วยอัลบั้มที่เติบโตขึ้นทั้งฝีมือและแนวคิด มันเป็นงานที่ลงตัวที่สุดของ Coldplay จนถึงทุกวันนี้ ทั้งความลึก ความร็อค และความหวาน Clocks, God Put A Smile Upon Your Face และ The Scientist คือบทเพลงยืนยัน

#78 Steely Dan :: Aja (1977)



งานมาสเตอร์พีซของ Steely Dan ที่ตอนนั้นก็เหลือแค่ Donald Fagen และ Walter Becker เป็นสมาชิกหลักแค่สองคน มันเป็นอัลบั้มที่แจ๊สที่สุดของพวกเขา และมีความเป็น perfectionism สูงสุดด้วย นักดนตรี (รับเชิญ) แต่ละคนถูกคัดสรรมาเล่นอย่างละเอียดและไม่กลัวเปลืองค่าห้องอัด ด้วยจุุดประสงค์จะให้แต่ละเพลงออกมาได้สมบูรณ์แบบที่สุด  และมันก็เป็นอย่างนั้น aja ประสบความสำเร็จได้ทั้งเงินและกล่อง  มันยังเป็นงานขวัญใจ audiophile ตลอดกาลอีกด้วย

#79 Fourplay :: Fourplay (1990)


งานเปิดตัวของ smooth jazz supergroup ในปี 1990 Bob James, Lee Ritenour, Nathan East และ Harvey Mason ไม่ได้ทำอะไรที่ออกนอกลู่นอกทาง นี่คือฟิวชั่นแจ๊สนุ่มนวลที่เน้นฝีมือละไมและทีมเวิร์ค ไม่มีการโชว์ทักษะหรือการโซโล่ระดับพระเจ้า แต่เน้นความมีระดับและรับฟังได้เนิ่นนาน และพวกเขาก็ยังรวมตัวกันอยู่อย่างเนิ่นนานจนถึงทุกวันนี้ (เปลี่ยนแต่มือกีต้าร์)

#80 Diana Krall :: Love Scenes (1997)




ฉากรักในเพลงแจ๊ส



ในวงการภาพยนตร์เป็นที่ทราบกันว่าคำว่า love scene มีความหมายไปลึกและไกลว่าฉากรักกระหนุงกระหนิง และไดอาน่า ครอลล์ก็คงจะทราบดี นี่จึงเป็นงานทริโอของเปียโน,กีต้าร์,เบสและเสียงร้องของเธอ บนเพลงรักสแตนดาร์ดเก่าๆ (ไม่มีเพลงไหนใหม่ไปกว่าปี 1965) อันเหมาะยิ่งนักที่จะฟังประกอบฉากรักอันดูดดื่มนั้น

ความสวย,ความบลอนด์ของเธอ ไม่ปฎิเสธหรอกว่ามันดึงดูดใจให้อยากลิ้มลอง แต่สุดท้ายเราคงไม่มานั่งฟังใครร้องเพลงเพราะความงามอย่างเดียว ครอลล์มีการถ่ายทอดบทเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ เสียงร้องที่แผ่วเบาเกือบกระซิบ ความแหบเล็กน้อยในลำคอ จังหวะจะโคนที่เนิบนาบผ่อนคลายแต่เร้ารุ่มร้อนในอารมณ์ มันคือการร้องเพลงแจ๊สที่ยื่นทางเลือกให้คนฟังเพียง ๒ แบบ ไม่ง่วง ก็หลับ...เอ๊ย! หลงไปเลย

มือเบสร่างยักษ์ Christian McBride ถมช่องว่างใดๆในบทเพลงได้หมด เขาดีดเด้งโอบอุ้มแต่ไม่เกินเลย สตรองตลอดอัลบั้ม และนี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ฟังฝีมือกีต้าร์ของ Russell Malone ที่ดูจะเคล้าคลอไปกับเสียงเปียโนของ Krall (ที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าการร้องเพลง)ได้ราวกับหนุ่มสาวพลอดรัก การบันทึกเสียงแจ่มกระจ่าง สงัดเงียบด้วยบรรยากาศ ออดิโอไฟล์ยิ้มรับตอบสนอง (ทีมงาน Doug Sax-Al Schmitt ที่คุณวางใจ)

หลังจากนี้ไป Krall หันมาจับงาน commercial มากขึ้นจนแทบจะกลายเป็น pop เต็มตัว มันก็เพราะดี แต่อย่าเอามันมาเทียบกับความดื่มด่ำใน Love Scenes

เพลงแนะนำ: They Can't Take That Away  From Me, You're Getting To Be A Habit With Me, Garden In The Rain, How Deep Is The Ocean และ I Miss You So

tidal.com/album/592982

#81 Deep Purple :: Made In Japan (1972)


ผลิตภัณฑ์โดยชาวอังกฤษ ทำในญี่ปุ่น เพื่อคนฟังดนตรีทั้งโลก!

สถานที่ๆเหมาะสมกับการบันทึกเสียงดนตรีเพื่อนำเสนอแก่ผู้ฟัง มันควรจะเป็น Studio ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมสรรพ และสภาพอคูสติกที่ถูกปรับแต่งไว้อย่างดีเลิศ... จริงไหมครับ? มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่โลกนี้สวยงามก็ตรงมันมีข้อยกเว้นในแทบทุกเรื่อง โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นศิลปะอย่างดนตรี

Deep Purple's Mk II : Ian Gillan (กรีดร้อง) , Ritchie Blackmore (ชายชุดดำเจ้าโมโห) , Jon Lord (ออร์แกนนิสต์หนวดงาม)  และ Ian Paice (คนใหญ่บนกลองเล้ก) ในช่วงสูงสุดของฝีมือและความรู้อกรู้ใจกันในปี 1972 (ร่วมเล่นกันมา 3 ปีเต็ม)  ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าเอ็นจิเนียร์มือดีอย่าง Martin Birch และเครื่องบันทึกเสียง 8 แทร็ค ในการที่จะจับเอามวลเสียงที่พวกเขากระหน่ำกันบนเวทีที่โอซาก้าและโตเกียวในสามคืนจากเดือนสิงหาคม 1972 เอามาผลิตเป็นหนึ่งในบันทึกการแสดงสดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล "Made In Japan"

มันคือ landmark แห่ง rock live album, ฝีมือเอกอุที่บรรลุโสดาบันทะลุทะลวงเวอร์ชั่นเดิมๆในห้องอัดไปถึงไหนๆ ด้วยการยืดยาวบทเพลงออกไปอย่างสร้างสรรค์และเมามันตื่นเต้น การอัดเสียงที่ยอดเยี่ยมเด็ดขาดทุกอณูเสียง และเหนืออื่นใด ทั้งหมดนำเสนอบนบทเพลงที่เป็นยิ่งกว่าคำว่าตำนานของเมทัล: Smoke On The Water, Highway Star, Child In Time, Strange Kind of Woman, Space Truckin', Lazy และ The Mule ทุกเพลงใส่กันยาวเหยียดจาก 6 ถึงเกือบ 20 นาที แต่ไม่มีสักวินาทีที่คุณจะเบื่อหน่าย

ถ้าจะมีข้อติติงแบบหาเรื่องหน่อยสำหรับ Made In Japan ก็คงเป็นการตอบสนองของผู้ชมชาวญี่ปุ่นที่เหมือนจะนั่งดูกันเงียบๆ แต่พวกเค้าอาจจะกำลังอ้าปากค้าง ดื่มด่ำความอลังการของการแสดงอยู่ก็ได้ (จริงๆคงเป็นวัฒนธรรมของคุณยุ่นในห้วงเวลานั้นมากกว่า)

ทางวงไม่ได้ตั้งใจจะปล่อย Made In Japan ออกมาขายทั่วโลกในตอนแรก โชคดีที่เปลี่ยนใจกัน และความสำเร็จของมันทำให้มีอีกหลายเวอร์ชั่นตามออกมา อย่างไรเสียแนะนำ original version จาก double LP ยาว 76 นาทีนี่ล่ะครับ มันดีพอที่จะไม่ต้องไปโหยหาอะไรอีก

#82 Elvis Presley :: Elvis (1956)



LP ชุดที่สองในสังกัด RCA ของ King of Rock 'n' Roll มันอาจจะไม่โด่งดังก้องโลกเหมือนชุดแรก "Elvis Presley" แต่คุณภาพของเพลงไม่ได้ด้อยไปกว่าเลย และถ้าจะวัดกันที่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบทเพลง "Elvis" อาจจะเหนือกว่าเล็กน้อย เพลงเด่น "Love Me" "Paralyzed" "So Glad You're Mine" "Rip It Up" และเพลงที่เอลวิสเคยร้องประกวดบนเวทีครั้งเยาว์วัย "Old Shep"

#83 George Harrison :: Cloud Nine (1991)


ปลายปี 1986....ถือเป็นโชคดีของวงการดนตรีที่ Jeff Lynne ไม่หัวใจวายเสียชีวิตไปเสียก่อน เมื่อ George Harrison ส่งสารเทียบเชิญให้เขามาเป็นโปรดิวเซอร์ให้อัลบั้มชุดใหม่ของเขา ในฐานะแฟนเต่าทองตัวฉกาจ ไม่มีใครในโลกที่เขาอยากจะทำงานร่วมด้วยมากกว่า "เต่าทองผู้เงียบขรึม" คนนี้ แน่นอนว่าเขาตอบรับอย่างไร้ข้อแม้ใดๆ

จอร์จไม่ได้มีงานใหม่ออกมาตั้งแต่ปี 1982 หลังจากความล้มเหลวของอัลบั้ม Gone Troppo ที่ฟังแล้วแทบไม่ให้ความหวังอะไร แต่ Cloud Nine กลับมาเป็นการเกิดใหม่ที่สดใสอย่างเหลือเชื่อ มองไปที่ปก--รอยยิ้มเบิกบานเจิดจ้าของเขา พร้อมกับกีต้าร์ตัวเก่าที่ยึดคืนมาจาก Klaus Voorman บอกทุกอย่างถึงดนตรีด้านใน

การทำงานของจอร์จและเจฟฟ์ลงตัวสุดๆ โปรดักชั่นของผู้นำ ELO ตอบรับบทเพลงชุดใหม่ของจอร์จที่เข้มข้นติดหูและล้นเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา นอกจากจอร์จเองที่โชว์สไลด์กีต้าร์ระดับเทพเจ้าของเขาตลอดรายการแล้ว ก็ยังมีนักดนตรีไม่ค่อยดังนักอย่าง Eric Clapton (กีต้าร์), Elton John (เปียโน), Jim Keltner และ Ringo Starr (กลอง)

อัลบั้มประสบความสำเร็จสูงมาก ซิงเกิ้ล Got My Mind Set On You พุ่งขึ้นสู่อันดับ 1 แต่เพลงที่น่าตื่นใจตื่นหูที่สุดกลับเป็น When We Was Fab ที่จอร์จทริบิวต์ให้วงเก่าของตัวเองในแบบไซคีดีลิกและการเรียบเรียงดนตรีแบบ I Am The Walrus

#84 Dire Straits :: Love Over Gold (1982)



"...สำหรับใจผมแล้วคิดว่า แผ่นนี้น่าจะสมบูรณ์แบบทุกอย่าง ถ้าวันหนึ่งข้างหน้ามีคนบอกผมว่าวงนี้แตกกัน ผมจะไม่แปลกใจเลย เพราะทุกวันนี้ Dire Straits ก็คือ Mark Knopfler เห็นได้ชัดว่าเขาผยองและยโสในความมีฝีมือของตัวเองมาก ซึ่งผมคิดว่านักดนตรีที่ดีควรจะมีความคิดอันนี้ไว้ ผยองและยโสโดยฝีมือ แต่อย่าแสดงถึงความไม่มีฝีมือออกมาโดยความผยองและยโสล่ะ มันเป็นสิ่งที่แตกต่างกัน...."

-พัณณาศิส ศิลาพันธุ์, เดินตามร่อง , นิตยสารสตาร์พิคส์

-----------



คุณจะไม่มีวันลืมวันแรกที่คุณได้ฟังอัลบั้มที่มีความหมายมากๆในชีวิตของคุณ แม้รายละเอียดจะเลอะเลือนเหลือเพียงร่องรอยหยาบๆในความทรงจำ บ่ายวันนั้น ผมหยิบเทปลิขสิทธิ์ Love Over Gold ออกจากถุง ปกเทปแบบตกไม่แตกอันเป็นนวัตกรรมแห่งยุค ผมไม่เคยฟังมาก่อน แต่ผมรู้ว่ามันต้องดีแน่ๆ เพราะนักวิจารณ์คนไหนก็ว่ามันดีทั้งนั้น รวมทั้งคนข้างบนนั้นด้วย

ฟังดูไม่มีความเป็นตัวของตัวเองสิ้นดีกับความคิดอย่างนั้น แต่ผมก็ไม่พลาด Love Over Gold ประเสริฐขนาดนั้นจริงๆ

ผมใช้เวลาหลายชั่วโมงในบ่ายวันนั้นจนถึงย่ำค่ำ ดื่มด่ำกับเทปม้วนเดียวนั้น แอร์เย็นฉ่ำ อยากจะกลับบ้านเหมือนกัน แต่ต้องรอคุณแม่เลิกงาน ผมจำไม่ได้ว่าแยแสใครหรือไม่ในห้องพักที่วิทยาลัยที่แม่สอนอยู่นั้น จิตสำนึกและไม่สำนึกทั้งปวงของผมจดจ่ออยู่กับอัลบั้มชุดที่ ๔ ของวงดนตรีที่ผมไม่เคยฟังมาก่อนนี้

Telegraph Road มหากาพย์แห่งกีต้าร์ของมาร์ค นอฟเลอร์ เวลายาวเหยียดกับเพลงสร้างชาติแบบนี้ ไม่เคยคิดเลยว่ามันยาวเกินไป การร่ายยาวโซโลของมาร์คไม่ให้ความรู้สึกว่าเป็นการโชว์-ออฟ แต่เป็นการเล่าเรื่องที่นอกเหนือและส่งเสริมการเล่าด้วยภาษาในเนื้อเพลงอีกที (ทั้งๆที่เนื้อเพลงก็ยอดเยี่ยมมากแล้ว)
 Private Investigations จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคิดว่ามันเป็นไอเดียที่ระห่ำอะไรเยี่ยงนั้น กับการตัดเพลงขี้บ่นและดนตรีลึกลับราวกับซาวนด์แทร็คหนัง suspense นี้เป็นซิงเกิ้ล

ผมอาจจะกรอฟัง 2 เพลงนี้หลายรอบหน่อยในวันนั้น ส่วนอีก 3 เพลงที่เหลือ พวกเขากลับมาสู่คุณภาพระดับดีมากๆ ไม่ใช่ดีเลิศเหมือน 2 เพลงแรก แต่ก็เป็นการถ่วงสมดุลย์อารมณ์ฟังได้ลงตัวพอดี

ผมคงไม่ถึงกับประกาศก้องหรอกว่า ฉันขอปวารณาตนเป็นสาวกของ Dire Straits นับแต่บัดนี้ไป แต่จากนั้นมาผมก็ค่อยๆครอบครองอัลบั้มของพวกเขาจนครบ (มันมีไม่มากนักหรอก)

และ--ไม่เคยหยุดฟังอัลบั้มเหล่านั้น จวบจนทุกวันนี้

tidal.com/album/621765

#85 Beck :: Mutations (1998)




mutation: (นาม) การกลายพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม (genetic material) อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของยีน (gene) แต่ละตัว ซึ่งมีผลให้การทำงานเปลี่ยนไป หรือเป้นการจัดเรียงตัวใหม่ของโครโมโซมหรือการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของโครโมโซม ซึ่งอาจมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ การเปลี่ยนแปลงนี้เรียกว่า การก่อกลายพันธุ์ของโครโมโซม

หลังจากสร้างมาสเตอร์พีซแห่งความอลหม่านของการขโลกประสมแนวดนตรีสารพัดนึก ด้วยความอุตลุตของการใช้แซมปลิงจากบทเพลงเก่าๆ(ของคนอื่น) อย่างทรงประสิทธิภาพใน "Odelay" เมื่อปี 1997 The Nerd King of Pop* -- Beck คงอยากจะทำงานสบายๆไม่กดดันสัก ๑ ชุด ก่อนที่จะออกงานอย่าง"เป็นทางการ" ต่อจาก Odelay



และนี่คืออัลบั้มไม่เป็นทางการชุดนั้น Beck หลีกหนีการแซมปลิงโดยสิ้นเชิงใน Mutations  เบ็คจับเครื่องดนตรีจริงๆทั้งหมด กีต้าร์โปร่ง เครื่องเป่า ซีต้าร์ เครื่องสาย มู๊กซินธ์.....เขาสวมวิญญาณเป็น Bob Dylan ที่มาจากยุคอวกาศ, เป็น Nick Drake ที่มีอะไรมากกว่าความหม่นหมอง, เล่นเพลงบลูส์ที่เฟี้ยวฟ้าวที่สุดที่มนุษยชาติเคยได้ยิน,โปรเกรสซีพร็อคที่ขับร้องด้วยสีหน้าไร้ความรู้สึก และ ยังมีบราซิลเลี่ยนแดนซ์ที่มีความชิลล์เท่ๆของเบิร์ท บาคารัค... ทั้งหมดนี้คงเป็นคอลเลกชั่นรวมเพลงย้อนยุคธรรมดาๆ ถ้าไม่ได้ production ของ Nigel Godrich ผู้ซึ่งเพิ่งสร้างชื่อจากการสร้าง OK Computer ร่วมกับ Radiohead มาเป็นปัจจัยสำคัญใน Mutations สุ้มเสียงเฉพาะตัวของไนเจลผงาดล้ำให้เห็นเด่นชัดทั่วอัลบั้ม แต่มันก็ไม่ได้กลบความเป็น Beck จนหมดสิ้นแต่อย่างไร ไนเจลเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายในการ "กลายพันธุ์" บทเพลงเหล่านี้ของ Beck เขาสองคนทำให้ Mutations เป็นดนตรีที่บิดเบี้ยวแปลกใหม่ ไม่ไร้ราก แต่แผกแยก

Geffen สัญญากับ Beck ว่าจะออกอัลบั้มนี้ในค่ายเพลงเล็กๆ แต่เมื่อได้ฟังมาสเตอร์ของ Mutations พวกเขาหักหลังเบ็คเอาเสียอย่างนั้น ซึ่งเราคงจะไปโทษ Geffen ไม่ได้ งานระดับนี้ คงยากที่ผู้บริหารจะทำใจปล่อยให้มันหลุดมือไปออกกับค่ายเล็กๆได้ และ Mutations ก็ออกมาในเดือนพ.ย. 1998 ในตราแผ่นเสียง  DGC ของGeffen หรา

มันเป็น album of the year ของหลายสำนักในปี 1998 รวมทั้งสำนักส่วนตัวของผมด้วย ในความเห็นของผม นี่เป็นการผ่าเหล่ากลายพันธุ์ดนตรีโบราณๆที่ให้ผลงดงาม สมควรที่ธรรมชาติของวงการดนตรีจะคัดเลือกมันไว้ให้สืบสกุลต่อไป

----------

* ผมตั้งเอง

#86 Art Pepper Meets The Rhythm Section (1957)

Art Pepper ไม่ได้จับอัลโต้แซ็กโซโฟนของเขามานานแล้ว เขาไม่เคยเล่นดนตรีกับคนพวกนี้มาก่อน และเขาก็เพิ่งได้ทราบข่าวว่าต้องบันทึกเสียงกับเขาเหล่านั้นในตอนเช้าวันนั้นเอง บังเอิญ "คนเหล่านั้น" คือ Red  Garland, Paul Chambers และ Philly Joe Jones ทีม Rhythm Section อันโด่งดังของ Miles Davis อุปสรรคมากมายที่น่าจะทำให้เซสชั่นนี้ไม่ราบรื่นกลับอันตรธานไป และนี่คืองานที่ถึงพร้อมในความเป็นงานคลาสสิกของอาร์ต เพ็พเพอร์ ทั้งในแง่ performance และ sound quality อาร์ตและทีมริธึ่มเซ็คชั่นเล่นกันเข้าขาดีเหมือนเล่นดนตรีมาด้วยกันหลายปี


#87 Eric Clapton :: Clapton (2011)

Clapton (2010)-Eric Clapton ****

แนวดนตรี-Blues, Rock
โปรดิวเซอร์-Eric Clapton, Doyle Bramhall II, Justin Stanley



Eric Clapton เคยมีอัลบั้มชื่อเดียวกับตัวเขามาก่อนแล้ว ตอนออกโซโลอัลบั้มชุดแรกในปี 1970 แต่การที่เขาตัดสินใจใช้นามสกุลของเขาเป็นชื่ออัลบั้มชุดที่ 20 ของเขานี้ ย่อมมีความหมายอะไรบางอย่างมากกว่าการคิดอะไรไม่ออก ช่วงหลายปีหลังมานี้ แคลปตันเดินทางไปเยี่ยมผู้ร่วมงานทางดนตรีของเขาในอดีตกาลแทบจะครบทุกคนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการไปเล่นคอนเสิร์ตกับ John Mayall รียูเนียนกับ Jack Bruce และ Ginger Baker ในนาม Cream, หวนอดีต Blind Faith กับ Steve Winwood, เล่นเพลงของ Derek and the Dominos แทบจะยกอัลบั้มในสมัยที่ได้หนุ่มมือสไลด์กีต้าร์อัจฉริยะ Derek Trucks มาร่วมวงด้วย, ออกแสดงกับมือกีต้าร์ที่เคยอยู่วง Yardbirds ด้วยกัน Jeff Beck, ออกอัลบั้มคู่กับศิลปินคนโปรด J.J. Cale, ทำอัลบั้ม tribute ให้ Robert Johnson นักกีต้าร์ผู้มีอิทธิพลต่อเขามากที่สุด ดูเหมือนแคลปตันจะเยี่ยม ญาติทางดนตรีของเขาครบถ้วนแล้ว

แต่ยัง.. ‘Clapton’ เป็นงานที่แคลปตันเดินทางกลับไปลึกยิ่งกว่านั้น ดนตรีที่ดังจากวิทยุที่บ้านของเขาในวัยเด็ก Blues, New Orleans Jazz, Standard ที่เขาชื่นชอบ ก่อนที่ร็อคแอนด์โรลจะเดินทางมาถึง มีเพลงใหม่ใน ‘Clapton’ เพียงแค่ 2 เพลง และเขาร่วมแต่งด้วยแค่เพลงเดียว แต่ทั้ง 14 เพลงก็ไปด้วยกันได้ดี

คราวนี้เขาไม่ได้เรียกใช้บริการของ Simon Climie มาเป็นโปรดิวเซอร์อีก อาจจะเป็นเพราะเขาต้องการ sound ที่ดิบและติดดินในแบบแผ่นเสียงของ J.J. Cale มากกว่างานที่เนี้ยบทุกโน้ตด้วย Pro-tools ในแบบของ Simon

อัลบั้มนี้เริ่มต้นด้วยการที่แคลปตันอยากทำงานร่วมกับ J.J. อีกครั้งเพราะเขายังไม่ค่อยพอใจกับ The Road To Escondido อัลบั้มที่แล้วที่เขาทำกับ Cale นัก แต่แผนก็เปลี่ยนไปเมื่อเวลาผ่านไป โดยสุดท้ายมีเพลงของ Cale 2 เพลงและเขาร่วมเล่นกีต้าร์อีกในบางเพลง และที่เหลือเป็นเพลงเก่าๆที่แคลปตันรักและไม่เคยนำมาบันทึกเสียงมาก่อน

นักดนตรีหลักใน ‘Clapton’ คือ Doyle Bramhall II มือกีต้าร์คู่บุญที่รับบทโปรดิวเซอร์ร่วมกับแคลปตันด้วย ฝีมือของ Doyle ในชุดนี้ดูจะบรรลุไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว, มือกลองรุ่นเก๋า Jim Keltner ที่ฝากฝีมือไว้ในอัลบั้มดังๆมากมายของหลากหลายศิลปิน, Willie weeks เล่นเบสทั้งไฟฟ้าและอคูสติก ส่วนคีย์บอร์ดคือ Walt Richmond

นักดนตรีหลักทั้งห้าคน(รวมแคลปตัน) เล่นเปิดในเพลง Travelin’ Alone เพลงเก่าของ Melvin Jackson ที่แคลปตันเคยซื้อแผ่นเสียงไว้ตั้งแต่อายุ 15 เป็น blues jam ที่เข้มข้นและน่าตื่นเต้น Rockin’ Chair เพลงของ Hoagy Carmichael จังหวะโยกเยกนุ่มนวลสบายๆ ได้ Derek Trucks มาสไลด์กีต้าร์เพราะๆ แคลปตันร้องอย่างสบายอารมณ์โดยมีเสียงประสานเคลิ้มๆของ Nikka Costa คลอไปด้วย เพลงของ Cale สองเพลงคือ River Runs Deep และ Everything Will Be Alright ก็ยังคงเป็นเพลงในแบบฉบับของเขาอยู่ แต่ได้เครื่องสายจาก The London Session Orchestra มาโอบอุ้มให้ความอลังการขึ้นอย่างงดงาม
Judgement Day บลูส์สนุกๆของ Snooky Pryor แคลปตันร้องได้เฮฮาล้อไปกับเสียงฮาร์โมนิกาอันโดดเด่นของ Kim Wilson ฟังแล้วครึกครื้นยิ่งนัก

เพลงแสตนดาร์ดชื่อดังสองเพลงที่แคลปตันนำมาร้องในชุดนี้คือ How Deep Is The Ocean ของ Irving Berlin ได้เทพแจ๊ซ Wynton Marsalis เป่าทรัมเป็ตให้หมดจด ส่วน Autumn Leaves ของ Johnny Mercer เพลงปิดอัลบั้ม แคลปตันฝากโซโลอันน่าจดจำไว้ถึงสองโซโล ท่อนแรกเป็นอคูสติก และท่อนปิดท้ายเป็นอีเล็กทริคที่นุ่มนวลและเปี่ยมอารมณ์อย่างที่สุด Ry Cooder เคยเตือนแคลปตันไว้ว่าการนำเพลงแบบนี้มาใส่ในอัลบั้มบลูส์แบบนี้อาจจะทำให้ผู้ฟัง หัวทิ่ม ได้ แต่แคลปตันก็วางเพลงได้ดี ฟังแล้วไม่รู้สึกอะไรอย่างที่ Cooder กลัว สองเพลงนี้ยืนยันว่าแคลปตันได้ก้าวผ่านพรมแดนของแนวดนตรีไปแล้ว มันไม่ใช่การ cover แบบ Rod Stewart แต่คือการนำเพลงแนวอื่นที่ไม่ใช่แนวถนัดมาทำเป็นของตัวเองได้อย่างเนียนแนบ

ถ้าอยากฟังแคลปตันในแบบ laid back ร็อคนุ่มๆเหมือนในยุค 461 Ocean Boulevardหรือ Slow Hand ก็มี 2 เพลงคือ That’s No way To Get Along ผลงานของ Robert Wilkins ที่ Rolling Stones เคยนำไปดัดแปลงเป็นเพลง Prodigal Son มาแล้ว แคลปตันร้องคู่กับ Cale และปล่อยให้ Doyle โซโลกีต้าร์โดดเด่น ส่วน Run Back To Your Side ยิ่งร็อคมากขึ้น Derek, Doyle และ แคลปตันแจมกีต้าร์กันอย่างเมามัน มันเป็นเพลงที่เชื่อว่าแฟนๆของแคลปตันอยากจะฟัง และอยากให้มีแบบนี้อีกมากๆ

นอกจาก Wynton Marsalis ที่มาในทาง jazz แล้ว แคลปตันยังได้ Allen Toussaint มาเล่นเปียโนให้ในเพลง When Somebody Thinks You’re Wonderful และ My Very Good Friend The Milkman ที่ออกไปในแนวนิวออร์ลีนแจ๊ซสนุกๆแบบของอัลเลน

ซิงเกิ้ลแรกของอัลบั้มคือ Diamonds Made From Rain ที่ได้ Sheryl Crow มาร้องด้วย เป็นบัลลาดที่ฟังง่ายและน่าจะติดหูที่สุดในอัลบั้ม และเป็นอีกเพลงที่แคลปตันฝากโซโลไว้ได้แสนไพเราะ

ชื่ออัลบั้ม ‘Clapton’ น่าจะมาจากบทเพลงเหล่านี้คือตัวตนของเขา บอกความเป็นมาของดนตรีในหัวใจของเขาตั้งแต่วัยเด็ก และความเป็นตัวของตัวเองในปัจจุบันที่ดูเหมือนเขาจะทำเพลงในแบบที่เขาอยากทำจริงๆไม่ได้อิงตลาดหรืออะไรอีกต่อไป นี่เป็นอัลบั้มที่อาจจะฟังยากและน่าเบื่อเสียหน่อยสำหรับคนไม่คุ้นเคยกับเพลงแนวนี้ แต่เมือท่านทำความรู้จักกับมันดีพอแล้ว ไม่น่าพลาดที่จะหลงรัก ‘Clapton’ ครับ นี่คืออัลบั้มที่ดีที่สุดของเขาในรอบหลายปี คุณค่าของมันอยู่ในระดับดียวกับอัลบั้ม Unplugged แม้จะไม่งดงามน่าหลงใหลเท่าก็ตาม