Sunday, January 8, 2017

#46 Ella Fitzgerald :: Sings The Rodgers and Hart Songbook (1956)


ค.ศ. 1955 "ป้าเอลล่า" (ผมไม่รู้ว่าใครเริ่มเรียกเธออย่างนี้ แต่มันใช่จริงๆ) เริ่มเบื่อหน่ายกับการร้องเพลงสไตล์ be-bop วันแล้ววันเล่า จนกระทั่งเธอย้ายค่ายจาก Decca มาสังกัดใหม่ของ Norman Granz "Verve" พร้อมกับโปรเจ็คใหม่ The Songbook series ที่เธอจะร้องเพลงของนักแต่งเพลงชั้นครูชาวอเมริกันแบบยกชุด (ชุดละ 1 ท่าน) ความสำเร็จของงานชุดแรกของซีรีส์ : The Cole Porter Songbook ทำให้ทีมงานรู้ดีว่าพวกเขามาถูกทางแล้ว และป้าเอลล่าเองก็เหมือนได้มีชีวิตใหม่ "มันเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตฉัน" เธอตระหนักในทันทีว่ายังมีเพลงดีๆให้เธอขับร้องอีกเยอะ ป้าร้องเพลงในซีรีส์นี้อีกเจ็ดชุด ในระหว่างปี 1956-1964 มันเป็นซีรีส์ที่สร้างชื่อเสียงให้เธอมากที่สุด และถือเป็นมาตรฐานแห่งวงการดนตรีจวบจนทุกวันนี้


Richard Rodgers ร่วมงานแต่งเพลงกับ Lorenz Hart มาตั้งแต่ปี 1919 โดย Rodgers รับหน้าที่ด้านดนตรี ส่วน Hart แต่งเนื้อเพลง ผลงานของทั้งสองเริ่มเป็นที่ยอมรับในปี 1925 และรุ่งเรืองในวงการเพลงบรอดเวย์จนกระทั่งการเสียชีวิตของ Hart ในปี 1943

Ella Fitzgerald Sings The Rogers and Hart songbook เป็นผลงานชุดที่สองในซีรีส์ ออกมาเป็น double LP ในปี 1956 บรรจุเพลงไว้ 34 เพลง ถ้าเทียบกับ Cole Porter หรือเพลงของพี่น้อง Gershwins ผลงานของ Rodgers และ Hart อาจจะฟังดูราบเรียบหวือหวาน้อยกว่า แต่มันมีเสน่ห์ในความสวยงามของเมโลดี้อันแสนสุภาพนั้น เพลงที่ป้าร้องได้ไพเราะมากๆๆๆ (ปกติก็เพราะมากๆทุกเพลงอยู่แล้ว) คือ A Ship Witout A Sail, Ten Cents A Dance, You Took Advantage of Me และเพลงสนุกๆอย่าง Johnny One Note, Thou Swell.... เพลงดังๆของนักแต่งเพลงสองคนนี้มากันครบไม่ต้องกังวล My Romance, Little Girl Blue, Blue Moon, My Funny Valentine..... Buddy Bregman รับหน้าที่ arranger และ conductor ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ป้าเอลล่ามีความเป็นดนตรีสูงส่งในลีลาการขับร้อง ผนวกกับความ"โลกสวย" (optimism)ในสุ้มเสียงอันกระจ่างใสราวคริสตัลเจียระไน นี่อาจจะไม่ใช่งานที่มีความเป็นแจ๊สเต็มขั้น เพลงของป้าฟังง่ายเข้าถึงได้ทุกครัวเรือนเสมอ และ songbook นี้คืองานที่ผมหยิบมาฟังบ่อยที่สุดชุดหนึ่งของป้าครับ

ด้วยความเคารพและชื่นชมเสมอ....จากหลานคนนึงของป้า

#47 Michael Jackson :: Thriller (1982)

<ฝันให้ไกล ไกลแค่ไหน? ไกลที่สุด!>

เด็กน้อยผิวดำรูปร่างบอบบาง ยืนอยู่ริมขอบสระน้ำ เขาน่าจะกำลังจะกระโดดลงไป แต่ยัง, เขายืนนิ่งอยู่ตรงนั้น ยกแขนทั้งสองผายออกไปในอากาศ พึมพำอะไรบางอย่าง เหมือนเขาจะขอพรและส่งออกไปในความว่างนั้น และถ้าคุณเข้าไปยืนใกล้ๆกว่านั้น คุณอาจจะพอฟังออกว่าเขาพูดว่า "ผมขอให้สักวันหนึ่ง ผมได้ทำอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในโลกตลอดกาล" และเขาก็กระโดดลงสระน้ำไป

ไมเคิล แจ็คสัน ทำอย่างนี้ทุกครั้งที่ไปว่ายน้ำ ความใฝ่ฝันจะทำ biggest selling album of all-time มีติดตัวเขามาแสนนานแล้ว และเมื่อ wish ถูกตอกย้ำมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็กลายไปเป็น goal

หลังจากอัลบั้ม Off The Wall งานเดี่ยวชุดแรกของไมเคิล (หนุ่ม) ประสบความสำเร็จอย่างสุดยิ่งใหญ่ หลายคนคงคิดว่ายากแล้วที่ไมเคิลจะทำอะไรอย่างนั้้นได้อีก ระหว่างการพักผ่อนในห้องอัดขณะทำอัลบั้ม Thriller งานชุดต่อมา โปรดิวเซอร์ ควินซี่ โจนส์ เอ่ยปากถามไมเคิล ที่กำลังเล่นพินบอลอยู่ว่า "ถ้าอัลบั้มนี้ออกมาได้ไม่ดีเท่า Off The Wall เธอจะเสียใจไหม?"

มันเป็นคำถามที่สร้างความผิดหวังให้ไมเคิลอย่างแรง มันไม่ควรจะเป็นคำถามด้วยซ้ำ "Thriller ต้องทำได้ดีกว่า Off The Wall จะบอกให้นะว่าผมต้องการอะไร ผมต้องการให้มันเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดตลอดกาล"

ควินซี่และ ร็อค เทมเปอร์ตันที่อยู่ตรงนั้นด้วยถึงกับปล่อยก๊าก ช่างเป็นความปรารถนาที่เกินเอื้อมอะไรอย่างนั้น

แต่ไมเคิลก็ทำได้จนได้ ด้วยความเป็นอัจฉริยะของเขา, ด้วยความเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสต์, ด้วยทีมดนตรีที่สุดยอด และด้วยการวางแผนการตลาดอันแยบยล Thriller กลายเป็น biggest selling album of all time ตามที่เด็กน้อยคนนั้นฝันเฟื่องเอาไว้จริงๆ

ต่อจากนี้ไปเป็นรีวิวที่ผมเขียนไว้หลังจากไมเคิลเสียชีวิตไม่นาน



-------------------------------------
.
. ครั้งสุดท้ายที่ผมตรวจสอบดู มีการเขียนรีวิวถึงอัลบั้ม Thriller ของไมเคิล แจ็กสันนี้แล้วไม่ต่ำกว่า 15 ล้านครั้ง นี่นับเฉพาะที่ Google ค้นหาในโลกไซเบอร์ ไม่น่าแปลกใจอะไรเพราะมันออกจำหน่ายมา 27 ปีแล้ว และมันก็เป็นอัลบั้มที่....ขายดีที่สุดในโลก

แล้ว...ยังจะมีอะไรให้เขียนถึงอีกหรือ ที่ผู้รีวิวท่านอื่นไม่ได้กล่าวถึงไปแล้ว อาจจะไม่มีอีกแล้ว มันน่าจะเป็นอัลบั้มที่ถูกชำแหละออกมาแล้วทุกแง่ทุกมุมตั้งแต่ดนตรี,เนื้อหา,เบื้องหลัง และความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามผมก็ยังอยากเขียนถึงมันอีกครั้ง ในแง่มุมมองของผม หลังจากไมเคิลเสียชีวิตอย่างไม่คาดฝันเพียงไม่กี่สัปดาห์ เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาเป็นครั้งสุดท้าย

เพราะนี่คือผลงานชิ้นเอกที่ไมเคิลมอบไว้ให้แก่มนุษยชาติ นื่คือสิ่งที่พวกเราควรจดจำมากกว่าท่าเต้นสารพัด (ที่ล้วนแล้วแต่มหัศจรรย์) หรือข่าวอื้อฉาวทั้งปวง (ที่ก็มหัศจรรย์ไม่แพ้กัน) ถ้าไมเคิลไม่ได้ทำอะไรอีกแล้วหลังจาก Thriller ผมก็ยังคิดว่าเขาคู่ควรกับฉายา ราชาแห่งเพลงป๊อบอยู่ดี

ครั้งแรกที่ผมได้ฟัง Thriller ก็น่าจะเป็นเย็นวันหนึ่งในปีพ.ศ. ๒๕๒๖ จากเทปคาสเซ็ตต์ (ปิศาจ) ที่ซื้อมาจากแผงเทปที่ไหนสักแห่ง ก็เหมือนกับอัลบั้มพิเศษทุกอัลบั้มที่คุณยังจำได้ดีถึงครั้งแรกที่ได้ยินมัน แม้ว่าใครๆก็ว่านี่เป็นงานที่เอาใจตลาดแบบออกนอกหน้า แต่สำหรับผมในตอนนั้นก็ไม่คิดว่ามันเป็นงานตลาดอะไร หลายเพลงฟังไม่เข้าหู หลายเพลงออกจะน่าเบื่อ จะมีก็แต่ Beat It, Billie Jean และ The Girl Is Mine เท่านั้นที่ชนะใจผมได้แทบจะทันที แต่เมื่อให้เวลากับมัน ความยอดเยี่ยมของทั้งเก้าแทร็คก็ค่อยๆคลี่คลายให้โสตสดับ และดูเหมือนจะไม่มีการหยุดหย่อนที่จะปล่อยกัมมันตรังสีอันน่าพิศวงออกมาไม่จบสิ้น


ไม่มีใครคิดหรอกครับตอนนั้น ว่ามันจะกลายเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในโลก คุณภาพของดนตรีในทั้ง 9 เพลงย่อมเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้มันขายดีและขายได้ยาวนานขนาดนั้น แต่การวางแผนทางการตลาด และมิวสิกวิดีโอที่ยอดเยี่ยมก็ย่อมมีส่วน และเราต้องไม่ลืมท่าเต้น Moonwalk ในเพลง Billie Jean ที่ไมเคิลเปิดตัวท่าแดนซ์ที่ระบือโลกที่สุดตลอดกาลนี้บนเวทีในงานฉลองครบรอบ 25 ปีของโมทาวน์

อัลบั้มก่อนหน้านี้ของไมเคิล Off The Wall ได้รับคำยกย่องและยอดขายในแบบที่ใครๆก็ต้องชื่นใจ แต่สำหรับไมเคิล-ไม่ เขารู้สึกว่าการที่อัลบั้มนั้นไม่ได้ Album Of The Year ในงานแกรมมี่เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง เขาสร้าง Thriller ขึ้นมาด้วยความหวังแรงกล้าที่จะให้มันเป็นอัลบั้มที่ทุกเพลงนั้นเป็นเพลงเอก เฉกเช่นเดียวกับ The Nutcracker ของ ไชคอฟสกี้ และทำให้คนผิวสีอย่างเขากลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ที่บรรดาสื่อต้องมาคุกเข่าอ้อนวอนขอทำข่าวหรือถ่ายปกหนังสือ

ถึงทุกวันนี้คุณก็รู้ดีว่าไมเคิลทำได้แค่ไหน

โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่า Thriller เป็นอัลบั้มที่ไร้ที่ติ และมันก็มีเพลงที่อ่อนอยู่ในนั้นบ้าง เช่น Baby Be Mine หรือสำหรับบางคน-The Girl Is Mine ที่ออกเป็นซิงเกิ้ลแรก แต่ความสมบูรณ์แบบและหลากหลายของเจ็ดเพลงที่เหลือช่วยดึงเกรดเฉลี่ยของ Thriller ขึ้นมาเข้าใกล้ 4.00 ไมเคิลและควินซี่ โจนส์ต่อยอดจาก smooth funk pop ของ Off The Wall กลายมาเป็น black music ลูกผสมที่เต็มไปด้วยโมเมนตัมมหาศาล มันพร้อมที่จะเจาะตลาดในทุกเหลี่ยมมุมของโลกดนตรี ไมเคิลแต่ง 4 ใน 9 เพลงทั้งหมดของอัลบั้ม และการเขียนเนื้อร้องของเขาก็พัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง หลายเพลงเต็มไปด้วยความหวาดระแวงและความอึดอัดใจในการเป็นป๊อบสตาร์ที่กลายเป็นปมในจิตใจของเขาอันไม่อาจคลี่คลายได้จนวาระสุดท้าย

The Girl Is Mine เป็นซิงเกิ้ลแรกด้วยบารมีของ Paul McCartney แท้ๆ ว่ากันว่ามันทำให้อัลบั้มนี้เกือบล่ม เพราะกระแสตอบรับไม่แรงเอาเสียเลย ก่อนที่ซิงเกิ้ลที่สอง Billie Jean จะช่วยกู้หน้าได้ทัน แต่ใครจะทราบเล่าว่าถ้า Billie Jean ออกเป็นซิงเกิ้ลแรกจะเกิดอะไรขึ้น? แน่ใจได้หรือว่ามันจะไม่ล้มเหลว The Girl… เป็นเพลงที่ถ้าคุณไม่รักก็จะเกลียดไปเลย หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเพลงรักปัญญาอ่อน แต่แฟนสี่เต่าทองอย่างผมย่อมถูกจริตเป็นธรรมดา ไมเคิลแต่งเพลงนี้ในแบบพอลๆได้อย่างเนียนสนิท และถ้าคุณจ้องมองลงไปให้ลึก การเรียบเรียงและคิวการร้องในเพลงคู่เพลงนี้ถือว่าไม่เหมือนเพลงร้องคู่ทั่วไปที่ผลัดกันร้องไปกลับ ตรงข้ามมันเต็มไปด้วยชั้นเชิงและลีลาที่เป็นธรรมชาติราวกับเป็นบทสนทนา

และ Billie Jean… แน่นอนว่านี่คือเพลงที่ทำให้ไมเคิล แจ็กสัน เป็นไมเคิล แจ็กสัน และคือหนึ่งในซิงเกิ้ลที่น่าจดจำที่สุดแห่งทศวรรษ 80’s มีไม่กี่เพลงในโลกที่คุณจะจำมันได้ทันที แค่ได้ยินเสียงกลองสองสามแต็กในช่วงอินโทร จังหวะ light funk, ท่อนเบสไลน์บันลือโลกจากฝีมือของ Louis Johnson, เสียง Lyricon จากปากของ Tom Scott และกีต้าร์นวลเนียนของ Dean Parks ช่วยกันสร้าง history of pop กี่ล้านคนที่เคยโลดแล่นบนแดนซ์ฟลอร์ไปกับเพลงนี้ แต่น่าขันที่เนื้อหาของเพลงไม่ได้รื่นเริงไปด้วยเลย ไมเคิลเขียนจากเรื่องจริงที่เคยถูกหญิงแฟนเพลงยัดข้อหาเป็นพ่อของเด็กให้ … but the kid is not my son… เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่พวกเขาบันทึกเสียงกันตอนทำอัลบั้ม Thriller ว่ากันว่า Bruce Swedien เอ็นจิเนียร์ของอัลบั้มต้องมิกซ์เพลงนี้ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าตามความต้องการของควินซี่และไมเคิล จนสุดท้ายพวกเขาก็ได้มิกซ์ที่ 91 ที่ทุกคนคิดว่ามัน ‘hot’ ที่สุดแล้ว แต่จู่ๆควินซี่ก็ทำหน้าเจ้าเล่ห์ และขอให้บรูซกลับไปเปิดมิกซ์ #2 อีกครั้งหนึ่ง ผลก็คือทุกคนในห้องอัดออกสเตปร่ายรำไปกับมันอย่างไม่อาจห้ามใจ และนั่นก็คือมิกซ์ที่เราได้ยินกันในทุกวันนี้!

(มีเวอร์ชั่นจากแผ่น 12 นิ้วของ Billie Jean ที่ยาว 6:24 นาที ซึ่งมันก็คือเวอร์ชั่นเต็มๆของเพลงที่ยังไม่ถูกตัดต่อ ลงให้เหลือสี่นาทีกว่าๆเพื่อให้เหมาะกับอัลบั้ม แนะนำให้หามาฟังกันนะครับ เพราะมันคือ Billie Jean ที่สมบูรณ์ที่สุด)


แต่ Billie Jean ไม่ได้เปิดตัวครั้งแรกในแทร็คที่ 6 นี้ ไมเคิลเอ่ยนามเธอมาครั้งหนึ่งแล้วในเพลงแรกของอัลบั้ม Wanna Be Startin’ Somethin’ ฟังกี้แดนซ์ที่เร่าร้อนเสียจนในบางช่วงเหมือนกับเพลงจะคุมตัวเองไม่อยู่ ราวกับรถยนต์ที่พร้อมจะหลุดโค้งทุกเมื่อ ไมเคิลกราดเกรี้ยวกับความสับสนและข่าวลือที่กดดันชีวิตป๊อบสตาร์ แต่ก็สรุปไว้อย่างผู้กำชัยว่า ma ma se ma ma coo sa? นี่คือแทร็คที่ไม่อาจวางไว้ที่อื่นได้เลยนอกจากขอบนอกสุดของแผ่นเสียงหน้าเอ

คนผิวสีทำเพลงร็อค? ไมเคิลอาจจะไม่ใช่คนแรกแน่นอน แต่ไม่มีใครทลายตลาดได้อย่างสิ้นเชิงได้เหมือนกับที่เขาทำไว้กับ Beat It ป๊อบร็อคที่หนักแน่นด้วยริธิ่มเซ็กชั่นระดับพระกาฬอย่าง Steve Lukator, Paul Jackson และ Jeff Porcaro ,เมโลดี้ที่ไม่ได้เขียนไว้ให้ใครลืม และสุดท้ายคือแขกรับเชิญ-นักกีต้าร์ที่ร้อนแรงที่สุดบนพิภพ(ขณะนั้น) Eddie Van Halen การโซโลของเอ็ดดี้ในเพลงนี้ถือว่าทำดีกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะเขาใส่ความเป็นตัวเองและเทคนิคต่างๆลงไปอย่างงดงามและเมามันส์ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าไอ้หมอนี่มาเล่นโชว์ออฟเกินหน้าเกินตาเจ้าของบ้านแต่อย่างใด ผลลัพธ์ก็คือนี่เป็นเพลงที่ทำให้คนขาวและชาวร็อคต้องมาควักกระเป๋าซื้ออัลบั้มของคนผิวสีอย่างไมเคิล และทำให้แฟนไมเคิลเองได้ตระหนักถึงความยอดเยี่ยมของการโซโลกีต้าร์ระดับเซียน และเหนือไปกว่านั้น แม้เพลงนี้จะเร้าอารมณ์แค่ไหน แต่มันเป็นบทเพลงที่ต่อต้านความรุนแรงโดยสิ้นเชิง

น่าเสียดายที่เพลงปิดอัลบั้มไม่ใช่เพลง Thriller เพราะผมคิดว่ามันน่าจะเป็นเพลงปิดที่ยิ่งใหญ่ได้ ซิงเกิ้ลสุดท้ายของอัลบั้มที่มีกระแสของมิวสิกวิดีโอยาว 14 นาทีหนุนหลัง ผลงานการประพันธ์ของ Rod Temperton ที่ตอนแรกจะให้ชื่อ Starlight เป็นความคมคายยิ่งนักของผู้แต่งที่ผูกเรื่องของหนังสยองขวัญไปโยงไยกลายเป็นเพลงรักไปได้ในที่สุด ไมเคิลร้องด้วยเสียงที่น่าตื่นเต้นแทรกด้วยเสียงสะอึกอันกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขาในเวลาต่อมาเป็นระยะๆก่อนที่เพลงจะปิดท้ายอย่างสุดยอดด้วยเสียง “แร็ป” ของ Vincent Price และการระเบิดหัวเราะที่ก้องไปทั้งโลก

Human Nature และ The Lady In My Life เป็นสองเพลงช้าที่น่าประทับใจซึ่งไมเคิลได้โชว์เสียงร้องใสปิ๊งของเขาเหมือนวันวานยุคโมทาวน์อีกครั้ง และ P.Y.T. ก็สนุกสนานไปกับเหล่าคอรัสที่ไม่ใช่ใครอื่น สองสาวแจ็กสัน Janet และ La Toya นั่นเอง

ค่อนชีวิตที่ผมฟัง Thriller มา คงไม่อาจคาดคะเนได้ว่ามันกี่ร้อยกี่พันรอบแล้ว แต่ทั้ง 9 เพลงนี้ก็ยัง ‘thrill’ ผมได้อยู่
“Cause I can thrill you more than any ghost would dare to try.”

Tracklist ทุกเพลงแต่งโดยไมเคิล แจ็กสัน เว้นแต่ที่มีวงเล็บต่อท้าย
1. "Wanna Be Startin' Somethin'" 6:02
2. "Baby Be Mine" (Rod Temperton) 4:20
3. "The Girl Is Mine" (with Paul McCartney) 3:42
4. "Thriller" (Temperton) 5:57
5. "Beat It" 4:17
6. "Billie Jean" 4:54
7. "Human Nature" (John Bettis, Steve Porcaro) 4:05
8. "P.Y.T. (Pretty Young Thing)" (James Ingram, Quincy Jones) 3:58
9. "The Lady in My Life" (Temperton) 4:59

Note-มีซีดีสามเวอร์ชั่นของอัลบั้มนี้ คือเวอร์ชั่นแรกที่ไม่มีเพลงแถม (ตอนนี้อาจจะหายากแล้ว ว่ากันว่าตอนไมเคิลตายใหม่ๆเวอร์ชั่นนี้บางแผ่นมีให้ประมูลในอีเบย์ในราคาเฉียดร้อยเหรียญ) และเวอร์ชั่นครบรอบ 21 ปีที่มีสัมภาษณ์ควินซี่ โจนส์ ,เดโมเพลง Billie Jean และเพลง Someone In The Dark จากหนัง E.T.และเวอร์ชั่นครบรอบ 25 ปีที่มีเพลงรีมิกซ์ใหม่ร้องกับศิลปินรุ่นใหม่ๆ ถ้าเป็นแฟนจริงก็ต้องเก็บให้เรียบ!


#48 The Dave Brubeck Quartet :: Time Out (1959)

<จังหวะ เวลา และ ความกล้า>



5/4
6/4
9/8
.....
time signatures ตัวเลขไม่คุ้นตานี้ น้อยครั้งนักที่จะมีการนำมาใช้ในดนตรี jazz ที่ส่วนมากจะเป็น 4/4 หรือ 3/4 เกือบทั้งหมด


ในเมื่อไม่คุ้นตา ก็ไม่น่าจะคุ้นหู มันไม่ควรจะเป็นจังหวะดนตรีที่ผู้ฟังจะเต้นรำไปกับมันได้ และเมื่อ Dave Brubeck และลูกวงของเขา Paul Desmond (alto sax), Eugene Wright (bass) และ Joe Morello (กลอง) ตั้งใจจะออกอัลบั้มที่มีคอนเซพท์จะ"เล่น"กับจังหวะพิลึกๆเหล่านี้ทั้งชุด ฝ่ายการตลาดของ Columbia Records จึงไม่ปลื้ม พวกเขามองไม่ออกว่ามันจะขายได้อย่างไร

เท่านั้นยังไม่พอ มันยังเป็น 10 เพลงที่เป็นเพลง original (แต่งใหม่) ทั้งสิ้น นี่ก็ขัดกับ"กฎทอง"ทางการตลาดของอัลบั้มแจ๊สยุคนั้นอีกล่ะ ทำไมไม่มีเพลง standard ล่ะ อย่างน้อยก็ต้องมีสักเพลงสองเพลงสิ

แล้วหน้าปก? โอย ใครเขาเอาภาพ painting ดูเข้าใจยากอย่างนั้นมาเป็นปก ปกอัลบั้มแจ๊สก็ต้องเป็นภาพของนักดนตรีหรืออย่างน้อยก็เป็นสาวๆน่ามองไม่ใช่หรือ

"Time Out" แหวกกฎทั้งหมดนั้น จริงๆมันไม่น่าจะออกมาวางขายได้เลยด้วยซ้ำ โชคดีที่ประธานของ Columbia Records ยุคนั้น Goddard Lieberson ยืนอยู่ฝั่งเดียวกับนักดนตรี เขาเล็งเห็นอะไรบางอย่างใน Time Out และนั่นน่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้มันได้ออกมาเป็นแผ่นเสียงให้เราฟัง นอกจากความแข็งกร้าวและยืนกรานของตัวบรูเบ็คเอง มันไม่ได้ประสบความสำเร็จในทันที แต่เมื่อดีเจเริ่มเปิดเพลง Take Five ทางวิทยุ ไม่นานหลังจากนั้นผู้คนก็เริ่มถามหา ที่เหลือคือประวัติศาสตร์ ทุกวันนี้เรารู้จักมันในฐานะอัลบั้มที่ขายดีที่สุดชุดหนึ่งตลอดกาลในสายแจ๊ส และอยู่ในอันดับต้นๆเสมอเมื่อจะจัดโพลล์อัลบั้มแจ๊สยอดเยี่ยมตลอดกาล

ทั้งๆที่มันเต็มไปด้วย time signatures หลุดโลก แต่ผู้ฟังแทบไม่รู้สึกถึงความแปลกแยกขัดขืนความรู้สึกเมื่อนั่งฟัง Time Out ต้องขอบคุณความสามารถอันสูงส่งและทีมเวิร์คของนักดนตรีทั้ง 4 นำทีมโดยอัลโต้แซ็กพลิ้วหวานของเดสมอนด์ เสียงเปียโนที่แปลกแปร่งแต่น่าฟัง,เน้นริธึ่มแฝงเมโลดี้อย่างชาญฉลาดของบรูเบ็ค, เบสนุ่มหนาหนักแน่นของยูจีน และเสียงกลองแสนกระหึ่มของโจ มอเรลโล โดยเฉพาะการโซโล่ในตำนานของเขาใน Take Five (บก.ธานีแห่ง GM2000 เคยกล่าวชมการบันทึกเสียงกลองโซโล่นี้ไว้หลายครั้งครา)

Take Five ยังเป็นเพลงแจ๊สที่มีชื่อเสียงที่สุดเพลงหนึ่งตลอดกาล มันเป็นเพลงของบรูเบ็ค ที่แต่งโดยเดสมอนด์ เริ่มจากการแค่เป็นเพลงที่ประสงค์จะโชว์เสียงกลองของมอเรลโลเท่านั้น แต่ด้วยจังหวะ 5/4 และทำนองหลักบนอัลโต้แซ็กที่แสนจะอมตะขณะที่บรูเบ็คย้ำคอร์ดยืนพื้นคลอ... มันกลายเป็นเพลงยอดนิยมในตัวมันเอง และในการนำไปตีความใหม่มากมายชนิดไม่อาจนับเวอร์ชั่นได้ ที่น่าอัศจรรย์อีกอย่างคือ ทั้งๆที่มัน over-exposure ขนาดนี้ ก็ยังไม่มีอะไรทำลายความดีงามของ original version ในอัลบั้มได้

ในโลกนี้,ไม่ว่าจะเป็นศิลปะหรือศาสตร์แขนงไหน,น้อยครั้งนักที่จะมีอะไรที่ซับซ้อนแต่เข้าถึงง่ายและเป็นอมตะได้อย่าง TIME OUT.

#49 Yes :: Fragile (1971)

<เปราะบาง แต่ ยิ่งใหญ่ >



Tony Kaye คุณคือจุดอ่อน กรุณาหลีกทางไป

หลังจากมือ"ออร์แกน"ของ Yes คนนี้ ปฏิเสธที่จะเล่นเครื่องดนตรีใหม่ๆ(ในขณะนั้น) อย่าง mellotron และ Moog Synthesizer สมาชิกที่เหลือของวงก็ตัดสินใจได้ว่าควรจะทำอะไร เคย์ถูกเชิญให้ออกจากวงอย่างสุภาพในปี 1971

การเข้ามาถึงของพ่อมดคีย์บอร์ด Rick Wakeman ผู้คล่องแคล่วในเครื่องดนตรีลิ่มคีย์แทบทุกรูปแบบ อีกทั้งยังมีพื้นฐานดนตรีคลาสสิกแน่นปึ้ก เติมเต็ม line up ที่คลาสสิกที่สุดของ Yes ร่วมกับ Jon Anderson (ร้อง) , Chris Squire (เบส) , Steve Howe (กีต้าร์) และ Bill Bruford (กลอง) เป็นหนึ่งในวงร็อคที่ได้ชื่อว่าทุกตำแหน่งคือยอดฝีมือ

Fragile คืองานชุดแรกของคลาสสิกไลน์อัพชุดนี้ มันยังเป็นการร่วมงานด้านอาร์ทเวิร์คเป็นครั้งแรกกับ Roger Dean ที่ต่อไปจะกลายเป็นอะไรที่แยกจากกันไม่ออก โลโก้ในตำนานของ Yes ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเต็มสูตร แต่ภาพแฟนตาซีไซไฟปรัมปราในแบบของดีนนั้นมาแล้วบนปกนี้

ไม่มีใครบอกได้ชัดๆว่าอะไรคือความ fragile (เปราะบาง,แตกง่าย) ในอัลบั้มนี้ แต่โรเจอร์ ดีนบอกว่า เขาคิดว่ามันสื่อถึงสภาพจิตใจของสมาชิกในวง ซึ่งเขาสื่อในภาพปกเป็นโลกบอนไซใบเล็กที่ดูเหมือนพร้อมจะแตกสลาย

9 เพลงในอัลบั้ม เป็นงานของวงจริงๆ 4 เพลง ส่วนอีก 5 เพลงเป็นเหมือนงานเดี่ยวของแต่ละคน นั่นอาจเป็นจุดอ่อนที่ทำให้อัลบั้มนี้ยังไม่ใช่ masterpiece ของ Yes เพราะมีเพียง Mood For A Day เพลงเดี่ยวกีต้าร์คลาสสิกของ Steve Howe เท่านั้นที่เข้าขั้นยอดเยี่ยม อีก 4 เพลงเป็นแค่เพลงคั่นเวลาให้แฟนๆหายใจ

ทำไมต้องคั่นเวลาให้หายใจ? เพราะอีก 4 แทร็คที่เป็นฝีมือของวงจริงๆนั้นมันช่างน่าอัศจรรย์จนคนฟังแทบจะไม่อยากหายใจหายคอน่ะสิ! ตั้งแต่ซิงเกิ้ลสุดฮิต Roundabout ที่ซับซ้อนสนุกสนานและติดหู แค่เพลงแรกก็รู้แล้วว่าเวคแมนเหนือกว่าเคย์แค่ไหน ทั้งความหลากหลายในการใช้เครื่องดนตรี และฝีมือที่เปี่ยมชีวิตชีวา South Side of The Sky เพลงร็อคหนักปิดหน้าแรกที่ไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึง Long Distance Runaround ยังอยู่ในเรื่องการหมุนวนต่อจาก Roundabout เพลงที่ทำให้เห็นฝีมือการแต่งทำนองสุดไพเราะของ Jon Anderson (เพลงนี้เชื่อมต่อกับ The Fish เพลงโชว์เบสของคริส) และเพลงปิดท้ายที่เป็นหนึ่งใน progressive rock ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกเคยมี-- Heart of the Sunrise (ขอบคุณท่อนกีต้าร์จาก King Crimson)

เคยคิดเล่นๆว่าถ้าจะเอาเพลง America (cover Simon & Garfunkel) ไปใส่แทนสี่เพลงที่ไม่ค่อยได้เรื่องนั่นจะทำให้อัลบั้มนั้นดีกว่าเดิมไหม (America เป็นซิงเกิ้ลเดี่ยวที่ออกตามหลังอัลบั้มมาไม่นาน) แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้นของตัวเอง Fragile มันลงตัวในแบบของมันแล้ว และ fillers เหล่านั้นก็อาจเป็นสิ่งจำเป็น

อย่าได้ไปคิดไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรมันเลย... มันเปราะบางเหลือเกิน

หมายเหตุ: ไม่ต้องสงสาร Kaye มาก เขาจะกลับมาอีกครั้งในอนาคตอันไกล
tidal.com/album/1584394
(Expanded version นี้มีเพลงแถม 2 แทร็ค คือ America และ Roundabout (early rough mix) ที่ฟังแปลกๆดี)

#50 Queen :: The Game (1980)

< แผงหนวดและเสียงซินธ์>


เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่อาจจะยังไม่ได้ไว้หนวดปื้นหนาที่จะเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวต่อไปของเขาในอีกทศวรรษข้างหน้าบนปกอัลบั้มชุดที่ 8 ของ Queen: The Game แต่คุณจะเห็นมันในไม่นานหลังจากนั้น นั่นคือภาพที่แฟนเพลงไม่เคยเห็น

ซินเธอะไซเซอร์..เครื่องดนตรีเสียงสังเคราะห์ที่พวกเขาประกาศอย่างภาคภูมิใจเสมอมาว่าไม่เคยแตะต้องเอามันมาใช้ในการบันทึกเสียง กฎนั้นถูกทำลายใน The Game นั่นคือเสียงที่แฟนเพลงไม่เคยได้ฟัง

อย่าเข้าใจผิด,มันยังเป็นอัลบั้มที่ฟังยังไงก็เป็น Queen วงเดิม แต่มันมีความเพรียวลม,คล่องตัว,สนุกสนาน และ "ร็อคแอนด์โรล" ยิ่งกว่าเดิม บอกได้เลยว่านี่เป็นอัลบั้มที่ฟังสนุกที่สุดของควีน แม้จะสั้นไปหน่อยแค่ 35 นาที

ผมรู้จักควีนครั้งแรกก็จากงานชุดนี้ (อาจจะเป็นต้นปีพ.ศ. ๒๕๒๔) น่าจะเป็นจากเอ็มวีเพลงดังสุดขีด Another One Bites The Dust (เพลงดิสโก้จากฝีมือการประพันธ์ของมือเบสมาดขรึม John Deacon) ดูแล้วก็หมั่นไส้จริตของนักร้องนำพอสมควร แถมยังแอบอวยพรให้เพลงนี้ตกจากชาร์ตเร็วๆ ไม่อยากให้แซงเพลงของ John Lennon ที่เราเชียร์อยู่! (คิดอะไรปัญญาอ่อนมาก) แต่ไม่ว่าจะยังไง สิ่งหนึ่งที่ประจักษ์ชัดคือฝีมือของพวกเขา ที่แม้แต่เด็กน้อยอย่างผมตอนนั้นก็ยังรู้สึกได้ว่า ดนตรีในชุดนี้มันธรรมดาเกินไปสำหรับฝีมือระดับนี้ เหมือนเอามาราโดน่ามาเตะฟุตบอลถ้วยก. ในยุครุ่งเรืองที่สุดของเขา

หลังจากทำงานแบบสารพัดท่าใน Jazz เมื่อมาถึง The Game ดูจะมีความเป็นเอกภาพของอัลบั้มมากกว่า ไม่มีเพลงแบบ anthem, epic ในแบบเดิม แต่แทนที่ด้วยร็อคอะบิลลี่ในแบบ "เฟรดดี้ เพรสลีย์" ใน Crazy Little Thing Called Love, ร็อคดิบๆที่ซับซ้อนในลีลาของเมย์ใน Dragon Attack, Glam Pop ของ Deacon ใน Need Your Loving Tonight, มือกลอง โรเจอร์ เทย์เลอร์ได้แต่งเพลง (และร้องนำ) ร็อคมันส์ๆสองเพลง Rock It และ Coming Soon, บัลลาดของเมย์สองแทร็ค Sail Away Sweet Sister และ Save Me ก็ไพเราะไม่แพ้ที่เขาเคยทำไว้ เพียงแต่มันดูติดดินไม่อลังการก้องฟ้าเหมือนเคย แต่เหนืออื่นใดก็คือเสียงเบสและความฟังกี้-ดิสโก้ใน Another One Bites The Dust เพลงที่นำความหายนะให้ควีนในอนาคต การนำซินธ์มาใช้ใน The Game ทำอย่างไม่กระมิดกระเมี้ยน แต่ก็ไม่ออกแนวเห่อเกินงาม โดดเด่นที่สุดก็คือในไทเทิลแทร็ค...ไม่สินะ แค่เกือบๆไทเทิล เพลงเปิดอัลบั้ม.... Play The Game ที่มีความเป็นควีนในยุคเดิมมากที่สุดในอัลบั้ม

เหมือนกับ Jazz, The Game ยังเป็นอัลบั้มที่บันทึกเสียงกันในคืนวันที่ควีนไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนัก แต่ผมเชื่อว่าคุณจะไม่ได้ยินอะไรอย่างนั้นใน 35 นาทีนี้หรอก

#51 blur : best of (2000)

<เบลอ...จัง>

ถึงทุกวันนี้ยังมีใครเอา blur ไปเทียบเปรียบกับ oasis อยู่ไหม, ถ้ามี โปรดหยุดเถิด พวกเขาแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย เว้นแต่ยุคสมัยและอยู่ใต้ร่มเงาของคำว่า 'britpop' เหมือนกันเท่านั้น และ blur ก็คงไม่มีทางมีภาพยนตร์สารคดีแบบ Supersonic ที่สามารถจัดรอบพิเศษให้แฟนๆเข้าไปนั่งกรี๊ดในโรงหนังได้


blur เป็นวงอังกฤษในยุค 90's ที่ผมคิดว่ายอดเยี่ยมที่สุดในแง่การทำเพลง"ป๊อบ" ที่ "สร้างสรรค์" blur อาจจะเริ่มจากแนวดนตรีที่ลังเลระหว่างการเดินตามรอย The Stone Roses ที่เป็นกีต้าร์ร็อคฟังค์แดนซ์ หรือแนวกีต้าร์ดังสนั่นแบบ My Bloody Valentine (ผมได้ยิน The Kinks และ The Smiths แว่วๆในนั้นด้วย) แต่กระนั้นอัลบั้ม Leisure งานเปิดตัวของพวกเขาในปี 1991 ก็มีเพลงที่ส่อแววว่านี่จะเป็นวงยิ่งใหญ่หลายแทร็์ค "She's So High" และ "There's No Other Way" คือสองในนั้น

blur มาค้นพบแนวทางที่เป็นตัวของตัวเองในงานขวัญใจแฟนตัวจริง Modern Life Is Rubbish (1992) และมาพีคในตำแหน่งของราชาบริทป๊อบใน Parklife (1994) และ The Great Escape (1995) ก่อนที่จะหลบตัวเองไปในแนว lo-fi และ alternative ใน blur (1997) และ 13 (1999)

'best of' รวมเพลงชุดนี้ออกมาในปี 2000 หลังจาก 13 ในฐานะที่เป็นคนหลงใหลในงาน"รวมฮิต" นี่เป็นหนึ่งในการรวมเพลงเอกที่ทำได้ลงตัวที่สุด เทียบเท่า Greatest Hits ของ Queen และ Legend ของ Bob Marley แน่ล่ะ, มันมีหลายเพลงที่แฟนเบลอร์พันธุ์แท้สามารถบ่นได้เป็นปีๆว่าทำไมถึงมองข้ามไป (โดยเฉพาะหลายแทร็คจาก Modern Life...) แต่ในเวลาเกือบ 80 นาที นี่เป็นงานรวมเพลงที่ตอบโจทย์สุดๆ 17 ซิงเกิ้ลจาก 23 ของ blurที่ออกมาจนถึงปี 2000 รวมอยู่ในอัลบั้มนี้ (เว้นแต่ This Is A Low เท่านั้นที่ไม่ได้ออกเป็นซิงเกิ้ล)

best of... ไม่ได้มีการเรียงเพลงแบบตามวันเวลาที่ออก แต่เป็นการลำดับเพลงเพื่อความรื่นรมย์ในการฟัง หลายแทร็คที่ถูกมองข้าม นั่นอาจเป็นเพราะความยาวหรือซับซ้อนเกินไปของมัน ในพื้นที่ตรงนี้ เป็นการนำเสนอด้านป๊อบของ blur เสียมากกว่าด้าน art และมันก็ทำให้เพลงของ blur ในยุคต่างๆทั้ง 18 แทร็คนี้กลมเกลียวกันได้เป็นอย่างดี และน่าจะดีกว่าเรียงตาม chronology แน่นอน

พวกเขามีงานรวมเพลงตามออกมาในอีกหลายปีต่อมาในชื่อ Midlife: A Beginner's Guide to blur ซึ่งมีเพลงที่แฟนๆเสียดายที่ไม่อยู่ใน best of.. หลายเพลงอยู่ในนั้น (สมใจเสียที) และจำนวนเพลงที่มากกว่า (2 CDs) แต่นั่นเหมือนแค่เป็นการตอกย้ำถึงความยิ่งใหญ่ของ blur: the best of เพราะอรรถรสในการนั่งฟังยาวๆมันเทียบกันไม่ได้เลย

นี่คือศิลปะแห่ง compilation จากวงดนตรีที่มีศิลปะเสมอในการแสดงออกในทุกๆด้านของพวกเขา

เพลงโปรด : There's No Other Way, Beetlebum, Coffee & TV, Charmless Man และ No Distance Left To Run

#52 Queen :: Jazz (1978)

สาวๆนุ่งลมห่มฟ้า ปั่นจักรยานแข่งกันท้าสายตาคนดู เป็นภาพจำที่ยากจะกระชากออก มันเป็นความชาญฉลาดในการโปรโมท double A-side single Fat Bottomed Girls / Bicycle Race ในหมัดเดียว... แต่ "Jazz" มีอะไรมากกว่านั้น... มารำลึกกัน


ก่อนอื่นต้องประกาศอย่างเป็นทางการ ว่านี่ไม่ใช่อัลบั้มที่ Queen เล่นดนตรีแนวแจ๊ส (ถ้าจะมีก็แบบควานหาจริงๆ) แต่คำว่า jazz ในที่นี้ น่าจะมีความหมายอีกทาง... ความกระตือรือร้น,ขี้เล่นไร้สาระ หรือ อะไรที่เป็นสัพเพเหระ... นั่นแหละครับ อัลบั้มนี้

ถึงแม้ว่า "Jazz" จะไม่ใช่อัลบั้มคู่ แต่มีหลายอย่างในอัลบั้มนี้ที่ทำให้ผมคิดถึง The White Album ของ The Beatles มันสร้างขึ้นในช่วงที่วงถึงจุดพีคไปแล้ว, ระหว่างบันทึกเสียง พวกเขามองหน้ากันไม่ค่อยติด ไม่มีความปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนชุดก่อนๆ (อาจจะสังเกตได้ง่ายๆจากคุณภาพของเสียงประสาน ที่แม้จะยังยอดเยี่ยมแต่ก็ไม่ได้ซับซ้อนและกลมกล่อมเช่นเคย) มันประกอบไปด้วย 13 เพลงที่ไปคนละทิศละทาง มีหลายเพลงที่เป็นแนวทดลองแปลกๆที่พวกเขาไม่เคยทำมาก่อน

แต่ทั้งหมด เมื่อมารวมกันอยู่ใน "Jazz" กลับฟังแล้วกลมกลืนกันดี! นักฟังและนักวิจารณ์หลายคนคงไม่เห็นด้วยกับผม ประเด็นอาจจะอยู่ที่การมองเพลงระดับรองลงมา (ผมจะไม่เรียกมันว่า filler) ในอัลบั้มนี้แบบไหน


เพราะเพลงอย่าง Mustapha, Fat Bottomed Girls, Bicycle Race และ Don't Stop Me Now นั้น ถ้าคุณไม่ใช่คน anti-Queen อย่างเต็มเหนี่ยว ก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่ามันคือเพลงร็อคชั้นแนวหน้าของพวกเขา ทั้งฝีมือและไอเดีย (ความจริงมีสี่เพลงระดับคลาสสิกใน 1 อัลบั้มนี่ก็น่าจะถือว่าเกินพอ)

ถ้าคุณดื่มด่ำในความไพเราะเหลือเชื่อในบัลลาดของเฟรดดี้ Jealousy / สนุกสนานไปกับดิสโก้ร็อค (ที่จะชี้ทางให้อนาคตของพวกเขา) ใน Fun It ของโรเจอร์ / โยกหัวตามเฟรดดี้ใน Let Me Entertain You / เมามันไปกับ Dead On Time ที่ร้อนแรงรวดเร็วสุดๆของเมย์ (เสียงฟ้าผ่าท้ายเพลงเป็นของจริง ที่เมย์อัดด้วยเครื่องบันทึกเสียงพกพา) และเพลินๆไปกับเพลงช้าอีก 3 เพลง In Only Seven Days, Dreamer's Ball และ Leaving Home Ain't Easy... คุณก็น่าจะอยู่ในฝั่งเดียวกับผม คือคิดว่านี่คือสุดยอดอัลบั้มอีกชุดหนึ่งของ Queen ในแง่ความหลากหลายท้าทาย และก็ยังมีอาวุธหนักประดับอัลบั้มในระดับที่ไม่น้อยหน้าชุดไหน.....

(อย่าพลาดฟัง Don't Stop Me Now ใน Volume 2 อันจะมีท่อนโซโล่กีต้าร์ของเมย์ที่สุดติ่งยิ่งกว่าเดิมเล็กน้อย)

Sunday, January 1, 2017

#53 Linda Ronstadt :: Cry Like A Rainstorm, Howl Like The Wind (1989)


<ร่ำร้องเพลงป๊อบกลางพายุฝน, และสายลมแห่งความโหยหา>


รู้มาว่าลินดา รอนสตัดท์คือสาวฮ็อตแห่งวงการคันทรี่-ร็อค และ เวสต์โคสต์ในทศวรรษที่ 70's แต่ตอนผมเริ่มซื้อเทปฟังเพลงเองในยุคต้น 80's ลินดากำลังสนุกกับการทำเพลงแสตนดาร์ดร่วมกับอะเรนเจอร์คู่ใจของแฟรงค์ สินาตร้า- Nelson Riddle ซึ่งทั้งสามอัลบั้ม -- What's New, Lush Life และ Sentimental Reasons ก็ถือเป็นอัลบั้มที่มีพระคุณ มันแนะนำให้ผมรู้จักเพลงโบราณๆเหล่านั้นมากมาย และหลายเพลงในนั้นผมยังมีความรู้สึกว่าไม่มีใครร้องได้กินใจเท่าลินดา

Cry Like a Rainstorm, Howl Like The Wind คืออัลบั้มที่เธอกลับมาสู่แนวป๊อบ-ร็อคอีกครั้ง ก่อนที่ทศวรรษ 80's จะปิดลง แม้เธอจะขับร้องเพลงแสตนดาร์ดได้เลิศเลอแค่ไหน แต่ผมรู้สึกว่านี่คือเพลงในแบบที่เธอเกิดมาเพื่อมันมากกว่า มันเป็นบทเพลงที่เอื้ออำนวยให้เธอได้โชว์พลังเสียงและลูกคอที่ไม่มีใครเหมือน และความสามารถอันโดดเด่นที่สุดของเธอ--การตีความใหม่ในบทเพลงของศิลปินอื่น

ในอัลบั้มนี้ลินดาทำงานร่วมกับโปรดิวเซอร์คู่บารมี Peter Asher และเอ็นจิเนียร์ George Massenburg ในอัลบั้มป๊อบร็อคที่มีสุ้มเสียงที่ยิ่งใหญ่ในแบบ orchestral rock ที่ Roy Orbison, Phil Spector และ Brian Wilson เคยทำมาแล้ว อิทธิพลของ Wall of Sound ของสเป็กเตอร์ดูจะชัดเจนที่สุด แต่มันเป็นกำแพงเสียงในแบบไฮไฟไม่ได้มาเป็นปึกแผ่น ความเห็นส่วนตัวผมว่าน่าฟังกว่า ด้วยเสียงประสานของ Oakland Interfaith Gospel Choir และออเคสตร้าโดย Skywalker Symphony Orchestra (เกี่ยวอะไรกับลุค?)

เมื่อพูดถึงอัลบั้มนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่กล่าวถึงแขกรับเชิญคนสำคัญ พ่อเอื้อน Aaron Neville ที่มาร้องคู่กับลินดา 4 แทร็ค All My Life, I Need You, When Something Is Wrong With My Baby และการ duet ที่โด่งดังที่สุดของคู่นี้ Don't Know Much ความโรแมนติกที่ดูจะเกินเลยกว่าการร้องเพลงคู่ธรรมดาของเขาและเธอทำให้ถึงกับมีข่าวลือว่าสองคนนี้มีอะไรกัน"หลังไมค์"หรือเปล่า (ไม่มี)

12 เพลงในอัลบั้มมี 4 เพลงที่เป็นผลงานการแต่งของยอดนักประพันธ์ Jimmy Webb ที่โดดเด่นที่สุดคือ Still Within The Sound of My Voice (เนื้อร้องเหมือนลูกทุ่งสาวอ้อนพ่อยก) และ Adios ที่เพอร์เฟ็คมากๆ

นี่คือ vocal pop album ที่ย้อนเวลาไปสู่ความรุ่งโรจน์ของดนตรีรักเพื่อความรัก อารมณ์ของโซลและริธึ่มแอนด์บลูส์ในการขับร้องบนโปรดักชั่นที่กระหึ่มและสง่างาม อย่าถามถึงความหมายของชีวิตหรือเรื่องซับซ้อนปรัชญาทางการเมือง อัลบั้มนี้มีแต่เรืองของหัวใจ