Sunday, November 27, 2016

#88 John Lennon :: Walls And Bridges (1974)



ชีวิตคนเราไม่ว่าจะร่ำรวยโด่งดัง หรือจนกรอบไร้คนรู้จักแค่ไหน ไม่มีหรอกที่จะไม่เจออุปสรรคในชีวิต และ ต่อให้เป็นคนที่โชคร้ายที่สุด มันก็ย่อมต้องมีวันโชคดี วันที่ได้เจอโอกาสบางอย่างให้ก้าวข้ามอุปสรรค
นั่นคงเป็น 'Walls' และ 'Bridges' ของ John Lennon.


จอห์น เลนนอน มีงานเดี่ยวจริงๆกี่ชุด? ตอบแบบกวนหน่อย ก็คือ มีชุดเดียวคือ Walls and Bridges นี่แหละ เพราะชุดอื่นๆ ไม่มากก็น้อยเป็นงานที่ออกมาโดยมีอิทธิพลของ Yoko Ono ครอบงำ
จอห์นทำช่วงนี้ในช่วงที่เขาแยกตัวออกมาจากโยโกะชั่วคราว (จริงๆคือถูกไล่ออกมา จากพฤติกรรมทีแม้แต่โยก็รับไม่ได้) หรือที่เขาตั้งชื่อพีเรียดนี้ไว้เท่ๆว่า 'Lost Weekend' เขาหัวหกก้นขวิดกับเพื่อนเดนตายในแอลเอ. เริงรักกับสาวน้อยที่โยโกะจัดหามาให้ May Pang แต่เขาไม่เคยหยุดทำดนตรี
Walls and Bridges อาจจะไม่ได้ดึงความเป็น John Lennon กลับมาได้ 100% แต่มันก็เป็นงานที่แซ่บที่สุดของเขาในทศวรรษ ความหลากหลาย ชีวิตชีวาในเสียงร้อง ความคิดสร้างสรรค์ในโปรดักชั่น หลายอย่างที่ทำท่าจะหายไปแล้วจากชีวิตของเลนนอนได้ทยอยกันกลับเข้ามา
รวมทั้งเพลงอันดับ ๑ เพลงแรกและเพลงเดียวในช่วงชีวิต "Whatever Gets You Thru The Night" ที่เขาพนันกับเอลตัน จอห์น ผู้มาร่วมร้องคอรัสและเปียโนให้ ว่ามันไม่มีทางขึ้นอันดับ ๑ หรอก และเลนนอนแพ้พนัน
มันเป็นฟังกี้ร็อคอัพบีทเร้าใจ ที่ฟังตอนนี้อาจจะเชยไปสักหน่อย แต่ในห้วงเวลานั้น ต้องถือว่ามันพร้อมเลยที่จะเถลิงอันดับ ๑
ถ้าไม่นับเพลงสั้นๆ Ya Ya ที่จอห์นชวนจูเลียนลูกชายมาร่วมเล่นดนตรีด้วย (ตีกลอง) และเพลงบรรเลง Beef Jerky ทุกเพลงใน Walls and Bridges จัดอยู่ในระดับ Prime Lennon โดยเฉพาะ เสียงร้องมหัศจรรย์ของเขาใน #9 Dream (ต้องผ่านกระบวนการมากมายกว่าจะออกมาแบบนั้น), เพลงอกหักที่แอบเมโลดิก และโหยหาโยโกะ Going Down On Love, แอบหวานให้เมย์ แพงใน Sweet Bird of Paradox, สะท้อนความหวาดหวั่นใน Scared, เพลงรักเศร้าๆแบบคนผ่านชีวิตมาเยอะใน Bless You, ชีวิตระทมของศิลปินตกอับ (คิดไปเองมากกว่า) ใน Nobody Loves You (When You're Down and Out), Old Dirt Road บัลลาดไพเราะที่เลนนอนร่วมแต่งกับแฮรี่ นิลส์สันตอนไม่เมามากนัก และรีเวิร์ค How Do You Sleep ใน Steel and Glass ที่จอห์นไม่ระบุชัดว่างานนี้ลงที่ใคร ("ที่แน่ๆคือ ไม่ใช่พอล"--เขาบอกไว้)
บันทึกเสียงกันที่ Record Plant ไมโครโฟนที่จอห์นบันทึกเสียงร้อง เป็นไมค์เก่าๆที่ถูกใช้ในการอัดกระเดื่องมานาน เสียงมันออกจะด้านๆ แต่เมื่อมาอัดเสียงของจอห์นที่ไบรท์มากในช่วงนั้น กลับลงตัวน่าฟังเอามากๆ
ช่วง Lost Weekend ของเลนนอนจบลงหลังจากนั้นไม่นาน เขากลับไปสู่อ้อมกอดโยโกะ ให้กำเนิด Sean และใช้เวลาห้าปีที่เหลือกับการเป็น House Husband ทิ้ง May Pang ไว้กับความทรงจำที่ไม่มีผู้หญิงคนไหนในโลกจะได้รับ

#89 Genesis :: Selling England By The Pound (1973)



ถ้าจะมีผู้ชายสักคนที่ต้องรับผิดชอบกับการตกเป็นสาวกของดนตรีโปรเกรสซีพร็อคของเด็กไทยจำนวนหนึ่งในยุค 80's ชื่อของเขาคือ พัณณาศิส ศิลาพันธุ์ เจ้าของคอลัมน์ "เดินตามร่อง"อันโด่งดังในสตาร์พิคส์ และแฟนๆของคุณพัณณาศิสจะรู้กันดีว่า Genesis คือวงดนตรีสุดรักของยอดคอลัมนิสต์ดนตรีผู้นี้
ไม่หรอก, เราไม่ได้สิ้นคิดขนาดที่ว่าต้องเดินตามสิ่งที่พัณณาศิสแนะนำทุกอย่าง แต่ในวันเวลาแบบนั้น เราแทบจะอยากฟังทุกอย่างที่เขาเอ่ยถึง เพราะทุกอย่างที่เขาแนะนำ มันช่างดีงาม และเปิดโลกทัศน์ดนตรีของเด็กๆอย่างเราให้กว้างไกลออกไปอย่างรวดเร็วและน่าตื่นเต้นยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น ถ้ายุคนั้นมี TIDAL เราคงไม่คิดจะหลับนอน ฟังเพลงกันจนน้ำลายฟูมปาก
มันนานเนิ่นมาแล้วจนระลึกไม่ได้แน่ชัดว่าทำไมเราถึงชอบดนตรีโปรเกรสซีพ คงไม่ใช่เพราะความเท่แน่ๆ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปอวดใคร เดาว่ามันคงเป็นจังหวะแห่งวัยวุฒิที่ต้องการแสวงหาอะไรที่มันเป็นปรัชญา ลุ่มลึก ต้องการการตีความ วันเวลาที่รู้สึกว่าเราพร้อมเหลือเกินกับอะไรที่ต้องใช้พลังสมองอย่างเต็มที่ (ไม่เกี่ยวกับการเรียนหนังสือ)
ผมไม่ใช่นักฟังพร็อกที่ดีนัก เพราะมีช่วงเวลาระเบิดในการกวาดล้างสั้นๆไม่กี่ปี ก่อนที่จะถดถอยและหลบหนีไปในซอกมุมของดนตรีแนวอื่น เช่น แจ๊ซ คลาสสิก โซล แต่ในเวลาไม่กี่ปีนั้นตามสูตรก็หนีไม่พ้นต้องฟังสิ่งที่เขาว่ากันว่าดีที่สุดในวงการ และ "Selling England By The Pound" ของ Genesis ก็เป็นหนึ่งในชุดที่ต้องมี ต้องฟัง ผมเริ่มฟังมันจากแผ่นเสียงเลย โดยได้มาในช่วงราวปี 1983-84 พร้อมๆกับอีกหลายชุดของพวกเขา
การฟัง Genesis เหมือนหลุดเข้าไปใน FairyTales ที่ทุกอย่างบรรยายด้วยเสียงดนตรี เสียงคีย์บอร์ดแบบสร้างบรรยากาศและแต่งแต้มสีสันของ Tony Banks ไม่ได้ฉูดฉาดเข้าหูเหมือน Rick Wakeman หรือ Keith Emerson, Peter Gabriel ก็ร้องเหมือนกำลังแสดงละครเวทีพร็อกร็อค, Phil Collins ที่ผมแอบทราบมาจากอนาคตว่าต่อมาจะเป็นนักร้องดัง ตีกลองได้ละเอียด,รวดเร็วและเต็มไปด้วยลูกเล่นพันลึก, โซโลกีต้าร์และอคูสติกของ Steve Hackett เจิดจ้า หวาน และงดงามเป็นธรรมชาติ และผมชอบเสียงเบสที่เต็มไปด้วยลีลาสีสันของ Mike Rutherford
ในความเห็นของผมนี่คืออัลบั้มที่ดีที่สุดของ Genesis แทบทุกเพลงล้นเหลือไปด้วยไอเดียและฝีมือ ตั้งแต่แทร็คแรก Dancing With The Moonlit Knight, Firth of Fifth และ The Cinema Show เหล่านี้ทุกเพลงคือตำนานของดนตรีพร็อก
แต่ก็อย่างที่บอก Genesis ไม่เหมือนวงพร็อกระดับเจ้าพ่อวงอื่นๆ พวกเขาไม่ทำให้ฟังแล้วดูอวดฉลาดหรือโชว์-ออฟ (แม้ว่าจริงๆจะโชว์) มันเหมือนแค่พวกเขามาเล่านิทานปรัมปราให้พวกเราฟัง และบางตอนของมันก็ซับซ้อนเข้าใจยาก จนเราต้องขอให้พวกเขาเล่าอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
แต่ไม่ว่านิทานนั้นจะเข้าใจยากแค่ไหน Genesis ก็เล่ามันได้สนุกทุกครั้งไป


Friday, November 25, 2016

#90 David Bowie :: Scary Monsters (And Super Creeps) (1980)



"จอมดัดจริต"
คุณวิฑูร วทัญญู ดีเจร็อคในตำนานเคยให้สมญานามนี้ไว้ให้กับ เดวิด โบวี่ มันอาจจะเป็นฉายาที่ฟังแล้วไม่ค่อยจะเข้าหูแฟนๆนัก แต่ลึกๆแล้วมันใช่เลย จะมีศิลปินร็อคคนไหนที่"ดัด" "จริต" ของตัวเองได้มากมายหลากหลายเท่าผู้ชายคนนี้อีกเล่า ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์หรือแนวดนตรี ตั้งแต่ ร็อคเกอร์ยากระบุเพศ, สิ่งมีชีวิตทรงอำนาจจากดาวอังคาร จนถึงท่านดุ๊คผอมซีด ตั้งแต่แกลมร็อค พลาสติกโซล จนกลายเป็นร็อคสุดอาร์ต ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในยุค 70's
แต่ Scary Monsters คือการเริ่มต้นใหม่ในทศวรรษใหม่ของโบวี่ หลังจากความสำเร็จด้านศิลปะในงานไตรภาคเบอร์ลิน (Heroes, Low และ Lodger) โบวี่กลับมาตั้งหลักในนิวยอร์ค ทำงานร่วมกับ Tony Visconti ในวิถีทางที่กลับไปสู่แบบดั้งเดิม แต่งเพลงให้เรียบร้อย แล้วค่อยเข้าห้องอัดบันทึกเสียง ตัวเพลงอาจจะไม่หวือหวาเท่าสามชุดนั้นจากเบอร์ลินที่ฟังตอนนี้ก็ยังฮิปนำยุคอยู่ แต่ด้วยเสียงกีต้าร์ของ Robert Fripp (King Crimson) ที่มาวาดลวดลายอยู่ค่อนอัลบั้ม ก็ทำให้ทุกอย่างใน Scary Monsters ดูเซอร์ฯและโปรเกรสซีพขึ้น โดยเฉพาะการโซโล่หลุดระบบสุริยะของเขาใน Scary Monsters และ Teenage Wildlife ส่วนใน It's No Game โบวี่บอกให้ฟริปป์ เล่นเหมือนกับกำลังโซโล่อยู่กับบี.บี. คิง แต่ต้องทำให้ได้ดีกว่าคิง.... ช่างเป็นคำแนะนำที่ดัดจริตดีจริงๆ
Ashes To Ashes คือเพลงที่สมบูรณ์แบบของโบวี่ และเป็นซิงเกิ้ลนำร่องจากอัลบั้มนี้ อีก 9 เพลงมีลีลาที่แตกต่างกันออกไปในแบบที่คาดเดาทางลำบาก แต่ก็ไปด้วยกันได้อย่างชื่นมื่น
สำหรับผม, นี่เป็นอีกหนึ่งในหลายๆชุดที่อยู่ใน 100 อันดับส่วนตัวอันมีคุณสมบัติพิเศษ, ฟังแต่ละครั้ง ได้สิ่งใหม่ๆมาประดับหูเสมอ บางทีราวกับมันไม่เคยอยู่ตรงนั้นมาก่อน
ออกอัลบั้มนี้มาได้ไม่นาน เพื่อนสนิทของเขา-จอห์น เลนนอน ถูกยิงตาย โบวี่พับแผนการทัวร์สนับสนุน Scary Monsters เขาเก็บตัวเงียบอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะกลับมาในอีกรูปแบบหนึ่ง (ไม่ใช่เรื่องแปลกนักสำหรับเขา) ใน Serious Moonlight... "Let's Dance"
ผมจะได้พูดถึงเขาอีก ๒ ชุดในอันดับที่สูงกว่านี้ ซึ่งคุณคงเดาได้ว่ามันต้องเป็นอีก ๒ จริตที่ต่างออกไป


#91 Sade :: Diamond Life (1984)



ก่อนหน้าที่จะมีศิลปินไร้นามสกุล(ในการนำเสนอ) อย่าง Adele, EMINEM หรือ Beyonce.... ยังมี Sade (ก่อนหน้านี้ก็มี)
แต่เดี๋ยวก่อน หลายคนรวมทั้งผมอาจจะเข้าใจผิดหรือหลงลืมไปแล้วว่า Sade เป็นงานของวงดนตรีชื่อนี้ อันมีนักร้องนำคือคุณ Sade Adu, สาวอังกฤษเชื้อสายไนจีเรียนหน้าตาแปลกๆคนนี้
สมาชิกคนอื่นในวงยุคแรกนั้นคือ Paul Denman, Paul Cook, และ Stuart Matthewman แต่เชื่อสิ ว่าพรุ่งนี้คุณก็จะลืมชื่อพวกเขาอีก
1984....ในยุคที่การสื่อสารระหว่างคนฟังกับศิลปินยังเชื่องช้าและบางเบา เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเธอเลย นอกจากได้ยินเสียงร้องไร้อารมณ์ที่แสนเท่ ดนตรีที่ฟังเหมือนๆแจ๊ซ หรือโซลนุ่มๆนั้น ในเพลงที่ติดหูอย่างร้ายกาจอย่าง Smooth Operator, Your Love Is King หรือ Hang On To Your Love ทางวิทยุที่เปิดกันเบาๆ (แต่กระหึ่มในความถี่) รู้ตัวอีกทีเทป Diamond Life ก็มาอยู่ในมือแล้ว (สารภาพ-พีค็อก)
อัลบั้มเปิดตัวของ Sade ชุดนี้ผ่านการพิสูจน์มาหลายปี และจากหูหลายล้านคู่ว่าเป็นงานคลาสสิกของ smooth soul ไพเราะเข้าถึงง่าย แต่ไม่ง่ายที่จะหน่ายล้าในการฟังมันครั้งแล้วครั้งเล่า
Sade มีอัลบั้มออกมาอีกไม่กี่ชุด โดยทิ้งช่วงกันแบบตามใจเธอจริงๆ เธอรู้ว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งรีบอะไร เพราะงานของเธอ(อ้อ วง) แต่ละชุดนั้นฟังได้นานแสนนานอยู่แล้ว
ขณะที่เขียนมานี่ หลายคนอาจจะกำลังคิดถึงชุดสีขาวอันแสนสง่างามและเซ็กซี่ของเธอใน Live Aid 1985 อยู่ เป็นไฮไลท์ของงานรองจาก Queen ทีเดียว......

tidal.com/album/3327824

Wednesday, November 23, 2016

#92 Natalie Cole :: Take A Look (1993)



ร่มเงาของความเป็นแน็ต "คิง" โคลผู้เป็นบิดาคงแผ่กว้างจนเธอแทบมองไม่เห็นขอบ นั่นอาจเป็นสาเหตุที่นาตาลี โคลไม่เคยร้องเพลงแนวสแตนดาร์ด (พรี-ร็อค) ในแบบที่คุณพ่อขับร้องไว้โด่งดังมาก่อนเลย จนกระทั่งปี 1991 ในอัลบั้ม Unforgettable with Love ที่เธอควงคู่ร้องกับแน็ตผ่านเทคโนโลยี่ที่น่าตื่นเต้น(ในตอนนั้น) และบทเพลงอื่นๆที่พ่อเคยร้องเอาไว้.....

นั่นคือการปลดล็อคแห่งชีวิตนักร้องของนาตาลี โคล หลังจากนั้นจวบจนวาระสุดท้าย เธอไม่เคยปฏิเสธที่จะขับร้องและตีความเพลงเก่าๆเหล่านี้อีก Take A Look คืองานชิ้นต่อมา ซึ่งแม้อาจจะเป็น 18 เพลงที่ไม่โด่งดังคุ้นหูเท่าเพลงใน Unforgettable with love แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะด้อยกว่าแม้แต่สักนิด หลายเพลงเป็นเพลงครูที่ผมเคยฟังครั้งแรกจากเสียงเธอในอัลบั้มนี้ หลายเพลงไม่เคยได้ยินจากไหนมาก่อน นาตาลีส่งเสียงหวานปานน้ำผึ้งใน I Wish You Love ร่าเริงบันเทิงแจ๊สใน All About Love แจ่มใสผ่อนคลายใน Calypso Blues ดื่มด่ำลึกล้ำใน Take A Look และเศร้ารันทดประชดประชันได้ใจจะขาดใน Cry Me A River.

ในขณะที่คุณพ่อได้ทำงานกับมือดีๆอย่าง Gordon Jenkins หรือ Nelson Riddle นาตาลีก็มี Tommy LiPuma และ Al Schmitt ที่เป็นมือทองแห่งยุคของเธอเช่นกัน สุ้มเสียงและดนตรีชุดนี้เฉียบขาดระดับอ้างอิง

Natalie.. you're unforgettable too.




Tuesday, November 22, 2016

#93 Rolling Stones :: Tattoo You (1981)

แฟนลิเวอร์พูลจำเป็นไหมต้องเกลียดขี้หน้าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด? อาจจะจำเป็นมากกว่าการที่แฟน The Beatles ต้องชัง Rolling Stones ซึ่งถ้านักฟังเพลงคนไหน"ต้อง"ไม่ชอบพวกหินกลิ้งด้วยเหตุผลนั้น......ขอแสดงความสลดใจด้วยครับ


แม้ว่าพวกเขาจะดังมาพร้อมๆกัน แต่แนวทางของทั้งสองวงก็มีหลายอย่างอยู่คนละขั้ว สโตนส์มีรากฐานของบลูส์อันหนักแน่น (แต่จะ"โรย"แนวอื่นๆไปตามยุค) ภาพพจน์ที่ดิบ,ไร้ความแยแสสังคม ส่วนเต่าทองนั้นพัฒนาดนตรีของตัวเองไปเรื่อยๆในช่วงทศวรรษเดียวของพวกเขาในการบันทึกเสียงนั้น และแทบจะบอกได้ยากว่าภาพพจน์ที่แท้จริงของพวกเขามันเป็นอย่างไรกันแน่

ชอบนะ ชื่อวง Rolling Stones พวกเค้าคงไม่ได้คิดอะไรมากมายตอนตั้งมัน นอกจากการที่ไบรอัน โจนส์มองปราดไปที่ปกแผ่นเสียงของมัดดี้ วอเตอร์สซึ่งวางแหมะอยู่ที่พื้น แล้วเห็นเพลงๆนึงชื่อ 'Rollin' Stone'

แต่...ให้ตายสิม้ดดี้! มันเป็นชื่อที่เหมาะกับพวกเขาเป็นบ้า หินก้อนแกร่ง กลิ้งกระโดกกระเดกไร้ทิศทางไปเรื่อยเปื่อย แต่ไม่เห็นมันหยุดหมุนหยุดกลิ้งเสียที

ไม่เล่าประวัติวงล่ะนะ ข้ามมาที่ปี 1981 เลย ปีแรกที่ผมจะได้ฟังสโตนส์แบบพร้อมๆกับพี่ป้าน้าอาทั้งโลก และมันคือปีของอัลบั้ม Tattoo You

แฟนๆหลายคนยกให้ Tattoo You (ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครเฉลยว่าทำไมต้องแทททูยู มันมีความหมายยังไง?) เป็นอัลบั้มชั้นเลิศชุดสุดท้ายของพวกเขา (แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็น Steel Wheels มากกว่า) ถ้ามันจะเป็นมาสเตอร์พีซ มันก็เป็นมาสเตอร์พีซที่ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างกระท่อนกระแท่นไร้การวางแผนใดๆ พวกเขากำลังจะออกทัวร์ มิคกับคีธไม่ค่อยลงรอยกันตอนนั้น แต่การจะออกทัวร์ของวงในยุคนั้น ก็หมายความว่าต้องมีอัลบั้มใหม่ ทางเลือกมีทางเดียว คือต้องเอาเพลงเก่าๆที่ไม่ได้ใช้มาทำกันใหม่ หลายเพลงย้อนหลังกลับไปเป็นทศวรรษ (ซึ่งไม่ต้องไปจำหรอก ไม่ออกสอบ)

แต่ถ้าคุณไม่รู้เบื้องหลัง คงยากที่จะทราบว่ามันคือการเอาของเหลือๆมาปะติดปะต่อแต่งองค์ทรงเครื่อง เพราะ Tattoo You เป็นงานที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวยิ่ง มีความเป็นสโตนส์ยิ่ง ทรงพลังอย่างยิ่ง มันสด,เร้าใจ เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และที่สำคัญ มันเหมือนกับพวกเขาจะไม่แยแสเทรนด์ดนตรีใดๆในตอนนั้น ประมาณว่า ชุดนี้กูจะเอาอย่างงี้ล่ะวะ

เป็นความเท่อย่างแรงที่แผ่นเสียง (และเทป) แบ่งเป็นสองหน้า สองอารมณ์ขาดกัน หน้าแรกเป็นร็อคแอนด์โรลล์และบลูส์มันส์ๆ นำทีมโดย Start Me Up, Slave และ Neighbors ส่วนหน้าสองผมกลับยิ่งหลงรัก มันคือบัลลาดคนบาปที่มีแต่สโตนส์เท่านั้นที่ทำได้ Tops, Worried About You, No Use In Crying มันทั้งไพเราะอ่อนหวานและย้วยเยิบอ้อนตีนไปในวาระเดียวกันได้อย่างน่าจับมาเตะตูดรอบวง

เหนืออื่นใด Waiting On A Friend เพลงจิ๊กโก๋คอยเพื่อนเพลงนั้น อาห์ มันทำให้การยืนคอยเพื่อน คูลกว่าการยืนคอยหญิงขึ้นมาในบัดดล

I ain't waiting on a lady
I'm just waiting on a friend.

ขอบคุณเทพแซ็กฯ Sonny Rollins ที่มาร่ายมนต์เทเนอร์ของเขาในเพลงนี้ และอีกสองเพลงด้วย (ได้รู้จักเขาครั้งแรกก็ในชุดนี้ล่ะ)

ทั้งหมดคือความดีงามที่ประทับใจ จนทำให้เลือกมันเข้ามาเป็นหินกลิ้งชุดเดียวในลิสต์นี้ เหนือกว่างานมหาคลาสสิกทั้งปวงของวง

ครับ. ผมเป็นแฟนบอลที่ชอบดูทั้งหงส์และผี
และผมก็ชอบทั้งเต่าทองและหินกลิ้ง

แต่ไม่เท่ากันหรอกนะ!




Monday, November 21, 2016

#94 Nirvana :: Nevermind (1991)


บ่ายแก่ๆวันนั้นผมเดินขึ้นบันไดเลื่อนอย่างใจเย็นไปที่ชั้น ๒ (หรือ ๓) มาบุญครอง เดินตรงดิ่งไปที่ร้านโซล่าร์เฮ้าส์ ทำไมต้องเป็นร้านนี้ก็จำไม่ได้ เพราะปกติก็ไม่ใช่ร้านประจำ ผมคงไม่มีจุดหมายหรอกว่าจะซื้อเทปอะไร แต่เมื่อเห็นปกเทปสีฟ้าๆอันโด่งดังของ Nevermind ก็คว้ามันไว้ในอ้อมกอดทันที ก่อนที่อาจจะหยิบเอาม้วนอื่นอีก ๒-๓ ม้วนติดมือมาด้วย (คงไม่มีความจำเป็นต้องเอ่ยถึงเทปผู้โชคร้ายนั้น) และเย็นนั้น,ตลอดคืนนั้น ผมก็ได้เป็นประจักษ์พยานของดนตรีร็อคที่เปลี่ยนโลก ต่อหน้าต่อตาต่อหู คงจะตอแหลไปหน่อย ถ้าจะบอกว่าความรู้สึกนั้นบอกได้เลยว่าโลกต้องเปลี่ยนไปแน่ๆจากฝีมือไอ้หนุ่มโทรมๆสามตัวนี้ แต่ความจริงก็คือนี่เป็นดนตรีที่ทรงพลังและไม่เหมือนอะไรที่เคยได้ยินมาก่อน มันดาร์ค มันเปี่ยมพลัง มันร้องตามได้ มันมีหนักมีเบา มันติดหู มันบ้าคลั่ง มันเซอร์ฯ
ผมจะไม่มีวันลืมครั้งแรกที่ผมได้ฟัง Nevermind.


#95 Willie Nelson :: Stardust (1978)



ทอดหุ่ยและเหม่อลอยอย่างไร้จุดหมายไปยังละอองดาวบนท้องฟ้า อันอาจจะหมายถึงกาแล็กซี่อันไกลโพ้นกับ 10 เพลง pop standard ที่วิลลี่นำมาร้องในแบบของเขาเอง ละมุนละไม,เรียบง่าย และลุ่มลึก มันคืองานที่ทำลายขอบเขตบางๆระหว่างเพลงป๊อบ,แจ๊ซและคันทรี่ขาดกระจุย ที่มาของ 10 เพลงนี้วิลลี่บอกไว้ง่ายๆว่ามันก็แค่เป็น 10 เพลงที่เขาชอบที่สุดตลอดกาล นี่คืองานที่ขายดีที่สุดของวิลลี่ที่แรกเริ่มค่ายเพลงแทบจะไม่กล้าออก เพราะมันขัดกับภาพพจน์ 'Outlaw' ของเขา แต่นั่นล่ะ เขาแหกกฎทุกกฎแม้แต่ความเป็นพวกแหกกฎของเขาเอง สิ่งที่วิลลี่ทำใน "Stardust" นี้เหมือนเป็นสิ่งตรงข้ามในครรลองเดียวกันกับที่ Ray Charles ทำไว้ใน Modern Sounds of Country & Western Music ขอคารวะ Willie Nelson ที่ยังร้องเพลงให้เราฟังอยู่จนถึงทุกวันนี้ ด้วยวัย 83 ปี

tidal.com/album/30726509




#96 The Style Council :: Our Favourite Shop (1985)



คงไม่ใช่ความผิดของข้าพเจ้าที่เริ่มรู้จัก Paul Weller ในฐานะของหนึ่งในสมาชิกของ The Style Council ก็ข้าพเจ้าเป็นเด็กแห่งยุค 80's นี่นา นี่เป็นอัลบั้มที่ ๒ ของพวกเขา ที่ข้าพเจ้าไม่ลังเลที่จะคว้าเทปพีค็อกราคา..(เท่าไหร่นะ?) มาเป็นเจ้าของทันที ด้วยว่าคุ้นเคยกับเพลงของพวกเขาและถูกจริตมาตั้งแต่ชุดแรก (ใครจะทนได้กับเพลงอย่าง You're The Best Thing หรือ My Ever Changing Moods?) ชุดนี้ข้าพเจ้าคิดว่ามันยิ่งลงตัวและฟังง่ายขึ้นอีก แน่นอนว่าข้าพเจ้าในวัยนั้นไม่ได้สนใจการเขียนเนื้อเพลงของเวลเลอร์ที่แดกดันสังคมหรืออิงการเมืองอะไรหรอก สำหรับข้าพเจ้า พวกเขาก็เหมือนชื่อวง เป็นโรงเรียนแห่งสไตล์ที่สอนให้ข้าพเจ้ารู้จักการประสมดนตรี R&B, Funk, Jazz, Latin, Pop กันไว้อย่างกลมกลืน อัลบั้มนี้เป็นเหมือนร้านโปรดที่ข้าพเจ้าแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนและมีอะไรติดมือกลับมาเสมอ... ทุกครั้งไป


#97 Arctic Monkeys :: Suck It And See. (2011)


หน้าปกของ Suck It And See เป็นสีขาวล้วน มีเพียงตัวอักษรเรียบง่ายสีดำที่กลางอัลบั้ม มันเป็นปกที่แม้แต่นิตยสาร NME ที่ถือว่าเป็นแม่ยกตัวแม่ให้ทางวงมาตลอดก็ยังต้องออกมาวิจารณ์ว่าเป็นหนึ่งใน 50 ของปกที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่จะมีวงดนตรีชั้นนำสักกี่วงที่จะกล้าทำอะไรห่ามๆแบบนี้ แต่ The Monkeys ก็ขึ้นชื่ออยู่แล้วกับการทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้าน พวกเขาคงจะพยายาม “ก้าวข้าม” การ “ล่อซื้อ” ด้วยหน้าปกอันสวยงาม และชักชวนด้วยความมั่นใจให้ผู้ฟังลองรับฟังอัลบั้มนี้ด้วยตัวและหูของพวกเขาเอง แล้วจะเข้าใจในคุณค่าของมัน ดั่งชื่ออัลบั้ม “Suck It And See” (แต่ NME ก็ยังชมตัวอัลบั้มแบบขั้นเทพเหมือนเคย) อ้อ.. พวกเขาเคยเกือบจะให้ชื่ออัลบั้มนี้ว่า “Thriller” !!!
อัลบั้มก่อนของพวกเขา Humbug (ผมเคยรีวิวไว้ใน GM2000 เล่มเก่าๆ) Arctic Monkeys ใช้บริการของ Josh Homme ในฐานะโปรดิวเซอร์ และรับสุ้มเสียงดนตรีร็อคกลางทะเลทรายของ Queens of the Stone Age ของ Josh มามากมาย เป็นทางออกของวงที่ไม่เลวและมันก็เป็นอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้สองชุดแรก แต่ก็ทำให้แฟนๆของวงตั้งแต่ยุค I Bet You Look Good On The Dance Floor เลิกรากันไปหลายคน ขณะที่ได้แฟนใหม่ๆมาจำนวนหนึ่ง พวกเขาเงียบหายไปพักใหญ่ ก่อนที่ Alex Turner จะโผล่มาทำ soundtrack ให้ภาพยนตร์เรื่อง Submarine ของ Richard Ayoade และอย่างรวดเร็วก่อนที่แฟนๆจะสงสัยเรื่องการดำรงอยู่ของวง The Monkeys ก็ปล่อยเพลง Brick By Brick ออกมาให้ชิมกัน
มันเป็นเพลงที่ออกมาให้แฟนๆไขว้เขวชัดๆ (คิดว่าเป็นความขี้เล่นของวง) เพราะนี่คือเพลงที่มีริฟฟ์ยังกะ Led Zeppelin ผสม AC/DC และร้องนำโดย Matt Helders มือกลองเป็นครั้งแรก แถมมีเนื้อหาแบบ “I wanna rock and roll! Brick By Brick!” ไม่นานจากนั้น single แรกแท้ๆก็ตามมา Don’t Sit Down Cause I’ve Moved Your Chair ค่อยเป็น The Monkeys อย่างที่แฟนๆรู้จัก มันให้ feel ของดนตรีในแบบ Humbug แต่กระชับและสนุกสนานขึ้น
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ภาพรวมของ Suck It And See อยู่ดี เพราะ 10 เพลงที่เหลือดูเหมือนจะเป็นการต่อยอดจาก Cornerstone แทร็คหนึ่งใน Humbug ที่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็น ballad ที่สุดของพวกเขา, เสียงร้องที่นุ่มนวลชัดถ้อยชัดคำของ Alex Turner , แน่นอนบนเนื้อหาของการเล่นคำอย่างสนุกสนานในแบบของ Bob Dylan, และแบบฟอร์มโครงสร้างของเพลงที่เป็นมาตรฐานไม่หลุดโลก สุ้มเสียงของ Franz Ferdinand, The Libertines, Oasis, The Clash ที่เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาในอัลบั้มชุดแรกเหลือน้อยลงเต็มทน แต่เต็มไปด้วยอิทธิพลของ Nick Cave, The Stone Roses, The Smiths และ The Cramps เข้ามาแทนที่
Alex Turner นักร้องและนักแต่งเพลงยังทำหน้าที่เขียนเนื้อเพลงทุกเพลงในอัลบั้ม ไอเดียของ Alex ในการคิดพล็อตและสนุกกับภาษานั้นนับวันยิ่งจัดจ้านและไม่เห็นวี่แววว่าจะตีบตัน ลีลาอันเหนือชั้นของเขาประหนึ่งเปรียบได้กับ ลีโอเนล เมสซี่แห่งวงการดนตรีปัจจุบัน (หน้าตาก็มีส่วนคล้าย) ส่วนฟากดนตรีนั้นพวกเขาทุกคนช่วยกันแต่ง Matt Helders ยังคงเป็นมือกลองที่เยี่ยมที่สุดใน generation ของเขา ด้วยพลังในการฟาดที่ดุเดือดและมีชีวิตชีวาบวกกับลูกเล่นอันสร้างสรรค์ไม่หยุดนิ่ง James Cook เป็นมือกีต้าร์ที่นับวันยิ่งเหนือชั้น แต่เขาไม่ใช่ Guitar hero ในแบบที่เด็กๆจะคลั่งไคล้ Cook ใส่สุ้มเสียงจากกีต้าร์ของเขาเหมือนแต่งแต้มให้บทเพลงงดงามและลงตัวแต่บทจะต้องจัดเต็ม เขาก็ไม่เคยผิดคิว Nick O’Malley มือเบสที่เป็นสมาชิกใหม่สุดของวงก็พัฒนาฝีมือขึ้นมากมาย ทางเบสสวยๆมีให้ฟังกันแทบทุกแทร็ค


พวกเขาบันทึกเสียง Suck It And See กันที่ L.A. ภายใต้การโปรดิวซ์ของ James Ford ที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่อัลบั้มที่สอง Favourite Worst Nightmare ในการทำงานของอัลบั้มนี้พวกเขาหลีกเลี่ยงการนำเพลงไปค่อยๆแต่งเติมกันในห้องอัดทีละเล็กละน้อย แต่เน้นไปที่การซักซ้อมกันอย่างหนักหน่วงก่อนที่จะบันทึกเสียงกันอย่างสดๆที่สุดเท่าที่จะทำได้
She’s Thunderstorms อเล็กซ์เขียนเพลงนี้ท่ามกลางพายุในนิวยอร์คพร้อมกับกีต้าร์ในมือ เขาคิดว่ามันเป็นคำจำกัดความที่ดีของผู้หญิงสักคน โปรดสังเกตว่าเธอไม่ใช่พายุธรรมดา แต่เป็นพายุหลายลูกมาพร้อมๆกัน Black Treacle ความหวานเคลิ้มต่อเนื่องจากแทร็คแรก คอรัสเพราะพริ้ง เนื้อหาอาจคิดไปได้ถึงยาเสพติดบางชนิด “Does it help you stay of late, does it help you concentrate?” The Hellcat Spangled Shalalala เพลงที่น่าจะติดหูที่สุดในอัลบั้ม Alex เล่นสนุกกับตัวอักษรเต็มที่ “She’s got a telescopic hallelujah hanging upon her wall….” แต่แฟนๆคงจะรอที่จะร้อง shalalala ไปกับเขาในคอนเสิร์ตก็เพียงพอ Piledriver Waltz เพลงนี้อยู่ใน soundtrack Submarine มาก่อน แต่นี่เป็นอีกเวอร์ชั่นที่ The Monkeys เล่นกันเต็มวง ฟังต่อกับ Love is a Laser Quest และ Suck It And See เป็นความเคลิ้มหวานต่อเนื่องที่น่าหลงไหลยิ่งนัก ไทเทิลแทร็คเป็นการนำความงามของหญิงสาวไปเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มได้อย่างน่ารัก “You’re rarer than a can of Dandelion and Burdock / and the other girls are just post-mix lemonade….”
Library Pictures เป็นเพลงเดียวที่หวนระลึกถึงพลัง post-punk-hard-rock ที่พร้อมจะเขย่าฟลอร์ของพวกเขาในวันคืนเก่าๆ ส่วนใครที่คิดถึง Josh Homme เขามาร่วมร้องคอรัสใน All My Own Stunts และ That’s Where You Wrong คือ Arctic Monkeys ที่สวมวิญญาณของ The Stone Roses ยุครุ่งเรือง ด้วยดนตรีที่ค่อยๆ built อย่างเร้าใจทีละน้อย เป็นเพลงที่ตื่นเต้นและยิ่งใหญ่ Ian Brown คงแทบจะอยากมาร้องนำให้เอง
แฟนๆที่รับไม่ได้กับ Humbug น่าจะให้โอกาสพวกเขาอีกครั้ง ฝีมือไม่ต้องพูดถึง นี่คือ Arctic Monkeys ที่กลมกล่อมถึงรสและคุณค่าทางดนตรีและเนื้อหาเช่นเดิม พวกเขาไม่ได้ถอยหลังกลับ แต่นี่คือทิศทางใหม่ที่เติบโตไปอีกขั้น อดไม่ได้ที่จะคิดว่าพวกเขาไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าทำเพลงดีๆในแบบที่พวกเขาชอบกันอยู่โดยไม่ได้วางแผนอะไรทางการตลาด ในยุคแห่งการเสพดนตรีตัวอย่างอันง่ายดายนี้ คงไม่ยากอะไรที่คุณจะลองฟังมัน suck it… and see

#98 Miles Davis +19 : Miles Ahead, orchestra under the direction of Gil Evans (1957)



แจ๊สชุดแรกในซีรีส์ของผม นี่คือการร่วมงานกันในแบบ original LP ครั้งแรกของไมลส์และกิล อีแวนส์ ก่อนที่จะมีงานที่ประสบความสำเร็จกว่านี้ตามมาอย่าง Porgy and Bess และ Sketches of Spain แต่ผมกลับชอบชุดนี้มากกว่าสองชุดนั้น ไมลส์เป็น soloist หนึ่งเดียวในอัลบั้ม อนึ่ง,มันน่าสนใจที่เขาวางทรัมเป็ตลงชั่วคราวและเป่าเพียงแต่ flugelhorn ตลอดรายการ
การเรียบเรียงดนตรีสำหรับวงใหญ่ของกิลไม่ได้เน้นความโฉ่งฉ่าง แต่ละเมียดละไมและช่างคิด ทรงพลังเมื่อถึงเวลา ส่วนไมลส์ก็ยังคงเป็นไมลส์ ไม่ว่าจะมีเครื่องเป่าอะไรอยู่ที่ริมฝีปาก สง่างาม ลึกลับ พอเพียง และไม่ว่าดนตรีเบื้องหลังจะกระหึ่มก้องหรือซับซ้อนแค่ไหน ความโดดเด่นของฮอร์นของไมลส์ก็ไม่เคยถูกกลบ (สมชื่ออัลบั้ม Miles Ahead)
ไม่น่าเชื่อว่าอัลบั้มนี้ไม่เคยออกเป็นสเตอริโอมาก่อนจนกระทั่งปี 1997 และอย่างที่คุณได้ยิน, มันช่างเป็น perfect stereo เสียนี่กระไร (หันไปมองปี... 1957!)
หมายเหตุ: 4 แทร็คหลังเป็นโบนัสแทร็ค ที่ทำให้เราได้ซึมซับบรรยากาศของการสรรสร้างอัลบั้มนี้ก่อนที่จะมีการปรุงแต่งตัดต่อ


#99 Gorillaz :: Gorillaz (2001)



➟Kiss จะยังคงเป็น Kiss ไหม ถ้าไม่มี make-up เหล่านั้น
➟ทำไม The Beatles ต้องสร้าง alter-ego ให้ตัวเองเป็นวงของ Sgt. Pepper ในปี 1967
➟กี่ครั้งที่ David Bowie หยิบหน้ากากใหม่ๆขึ้นมาสวมใส่ในทศวรรษ 70's
➟แม้แต่ Garth Brooks.....
บางทีการซ่อนรูปลักษณ์ แฝงตัวเอง อาจจะไม่ใช่แค่การหลบหนีจากสังคม
แต่มันเป็นการหลบตัวเอง ตัวตนเก่าๆของตัวคุณที่เกาะแน่นยากสลัด
เมื่อพวกเขาอยู่ใต้อิมเมจใหม่ๆเหล่านี้ ข้อผูกมัดบางอย่างถูกกรีดขาด อิสรภาพทางไอเดียที่ไม่เคยมองเห็นมาก่อนร่วงหล่นจากฟากฟ้า
Damon Albarn อาจจะไม่คิดมากอะไร นอกจากโปรเจ็คสนุกๆของเขากับนักวาดแอนิเมชั่น Jamie Hewlett และเพื่อนนักดนตรีอีกบางคน ตอนที่เริ่มทำ Gorillaz
แต่มันกลับกลายเป็นไฮไลท์สำคัญรองจาก blur ในชีวิตของ Damon ไปได้
มันอาจจะเป็นเรื่องถูกต้องถ้าคุณจะบอกอย่างเถรตรง ว่าจริงๆแล้ว Gorillaz ก็คืองานโซโล่ของ Damon ในรูปแบบหนึ่งนั่นแหละ แต่มันจะไปสนุกอะไร
เราเลือกที่จะสนุกไปกับไอเดียที่ว่ามันเป็นวงการ์ตูน (virtual band) ที่มีสมาชิกชื่อ 2D(ร้องนำ,คีย์บอร์ด), Mudoc Niccals (เบส,ร้อง) , Noodle (กีต้าร์,คีย์บอร์ด,ร้องประสาน) และ Russel Hobbs (กลอง,เพอร์คัสชั่น) ดีกว่า
อัลบั้มแรกของ Gorillaz ทำออกมาแบบไร้ความกดดัน และประเคนไอเดียกันเต็มที่
พวกเขาโลดแล่นกันไปบนดนตรีอัลเทอร์เนทีพร็อค,บริทป๊อบ ทริปและฮิปฮอป, อีเล็กโทรนิกา,อินดี้,เร็กเก้..... โดดเด่นด้วยเสียงกลองและเบสที่หนักแน่นใหญ่โต สรรพเสียงเล็กๆน้อยๆที่หลอกหลอนยั่วยวน ฟังกันมา 15 ปีก็ยังค้นหากันไม่รู้จบ
เราแน่ใจว่าถ้ามันออกมาในนามของ Damon หรือ blur มันไม่มีทางดีเท่านี้ ไม่มีทางหลุดโลกอย่างนี้
น่าเสียดายที่อัลบั้มต่อๆมาของ Gorillaz แม้จะยังยอดเยี่ยม แต่ก็ไม่ได้ดีเด่นโดดเด้งถึงระดับชุดเปิดตัวนี้
อาจเป็นได้ว่ามันเริ่มกลายเป็นตัวตนขึ้นมาจริงๆจนสร้างปัญหาแบบเดิมขึ้นมาอีกตลบ
คุณล่ะ... มี account อื่นใน facebook ไหม? ✏


#100 Bob Marley & The Wailers :: Legend (1984)



You can fool some people some time
But you can't fool all the people all the time....
จังหวะแห่งความโหยหาอิสรภาพบนท่วงทำนองที่แสนหวานและแสนเศร้าในเวลาเดียวกัน หลายเพลงในชุดนี้เป็นเพียงเพลงรัก แต่มันไม่ใช่แค่เพลงรักธรรมดาๆ ไม่รู้สิ ผมรู้สึกว่าตอนบ๊อบร้องเพลงรัก เค้าแค่หยิบเรื่องจริงมาใส่ทำนอง นี่คืองานรวมเพลงของศิลปินคนเดียวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งเท่าที่มนุษย์เคยรวมเพลงกันมา..... Legend อาจจะไม่ได้ฉายแสงให้เห็นในทุกๆด้านของราชาเร็กเก้คนนี้ แต่มันก็เป็นบทแนะนำอันสมบูรณ์แบบต่อดนตรีของเขา และสำหรับหลายๆคน,รวมทั้งผมด้วย ก็แทบไม่อยากไปไหนต่ออีกแล้ว.....
No woman
No cry.
หมายเหตุ: อัลบั้มรวมเพลงชุดนี้มีหลายเวอร์ชั่น ดูเหมือนเวอร์ชั่นใน TIDAL จะเป็น cassette version.....