Friday, February 24, 2017

#1 The Beatles :: Abbey Road (1969)



Would you believe in a love at first sight?
Yes, I'm certain that it happens all the time
(from 'With A Little Help From My Friends" written by John Lennon & Paul McCartney)

ใช่, ผมเชื่อว่ารักแรกพบมีจริง
แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาหรอกนะ

เมื่อเพื่อนคนหนึ่งให้ผมยืมแผ่นเสียงเก่าๆ (น่าจะเป็นของญาติเขา) ที่มีหน้าปกเป็นชายสี่คนเดิมข้ามทางม้าลายนี้มาฟังที่บ้าน นั่นคือครั้งหนึ่งที่เรียกได้เต็มปากว่าคือรักแรกพบ (ยิน) ผมฟัง Abbey Road ด้วยข้อมูลที่มีบนปกหน้าและหลังแผ่นเสียงเท่านั้น ไม่รู้อะไรมากกว่า ไม่ทราบว่ามันคืองานสุดท้ายของพวกเขา มันน่าจะเป็นราวปี 1981 หลังจาก John Lennon เสียชีวิตไม่นาน และ สิบสองปี หลังจากโลกได้รู้จักอัลบั้มนี้ ณ ขณะนี้ ผมก็กำลังฟังมันอยู่ ไม่ใช่จากแผ่นเสียงแผ่นนั้น แต่เป็นการฟังจากเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ห่างไกลออกไป สตรีมมิ่งผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผมไม่อาจบอกคุณได้ว่ามันเป็นรอบที่เท่าไหร่ เพียงแต่บอกได้ว่ารักแรกพบนี้ไม่ได้จืดจางลงเลยแม้แต่นิดเดียว

เมื่อมีการถามถึงลิสต์อัลบั้มที่ชอบที่สุด ให้จัดกี่ครั้งก็คงแตกต่างกันออกไป แต่อันดับหนึ่งของผมไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่วันนั้นมา

เป็นการยากที่จะบอกว่าชอบอะไรในสิ่งที่คุณใกล้ชิดกับมันมากมายและแสนนานขนาดนี้ คุณคงให้อภัยที่มันจะเป็นรีวิวที่เอียงกะเท่เร่

The Beatles ไม่จำเป็นต้องทำอัลบั้มนี้ พวกเขาก็คงจะเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากนี้มากนัก พวกเขาสามารถจะเลิกรากันไปตั้งแต่ความล้มเหลวไม่เป็นท่าในการทำ Let It Be (ตอนนั้นเรียกว่า Get Back project) ก็ได้ เหมือนกับวงดนตรีระดับพระกาฬหลายๆวงที่มักจะวางมือกันไปด้วยงานที่เจ๊ง หรือพวกเขาอาจจะแตกสลายไปก่อนหน้านั้นด้วยอัลบั้ม White Album และทิ้งเพลง Good Night ให้เป็นเพลงอำลาตลอดกาล...ก็ยังได้

แต่พระเจ้าองค์ที่เขียนบทตอนนี้ คงไม่ประสงค์ให้เรื่องราวของสี่เต่าทองจบลงแบบไม่แฮปปี้ ท่านดลใจให้พวกเขา "ฮึด" เป็นครั้งสุดท้าย โทรศัพท์เรียกโปรดิวเซอร์คู่บุญ จอร์จ มาร์ติน กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งมาร์ตินก็ตอบรับ ด้วยข้อแม้ง่ายๆ ว่าได้สิ แต่เราต้องทำงานกันแบบเดิมๆนะ มันเป็นข้อแม้ที่สำคัญเหลือเกิน

แม้ว่า Abbey Road จะไม่ถึงกับเป็นการย้อนกลับไปทำงานแบบร่วมมือร่วมใจเหมือนเดิมในยุคของ Sgt. Pepper หรือ Revolver ก็ตาม หลายครั้งที่พวกเขาไม่ได้อยู่ร่วมกันในห้องอัด แต่ผลงานที่ออกมาก็มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับที่คนฟังอย่างเราๆรู้สึกได้ เราไม่ได้รู้อะไรมากนักหรอกในสมัยนั้น เราก็แค่ฟังจากเพลงที่พวกเขาทำออกมา

ขณะที่พวกเขาเล่นดนตรีบันทึกเสียงกัน ไม่มีใครในเซสชั่นประกาศออกมาหรอกว่า นี่จะเป็นอัลบั้มสุดท้ายของ The Beatles แล้วนะ แต่จากปากคำของหลายๆคนที่มาเล่าให้ฟังภายหลัง ลึกๆแล้ว พวกเขารู้อยู่แก่ใจว่า นี่คงจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะทำงานร่วมกัน

ขอบคุณที่โลกยุคนั้น คนยังฟังเพลงกันด้วยสื่อที่แบ่งอัลบั้มออกเป็นสองหน้า เพราะความดรามาติกของหลายๆอัลบั้มรวมทั้ง Abbey Road คงจะจืดจางลงไปเยอะ ถ้าเปิดฟังกันรวดเดียวไม่มีการกลับด้านแผ่นหรือเทป แม้ทุกวันนี้จะฟังจากสตรีมมิ่ง แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะความทรงจำของเราจะย้ำเตือนอยูแล้วโดยอัตโนมัติ ว่านี่คือเวลาของด้านไหนของแผ่นเสียง

เป็นที่รู้กันว่าหน้าแรกคือหน้าของ 'rocker' ในแบบที่เลนนอนชอบ
และหน้าสองคือหน้าของ 'medley' ในแบบที่แมคคาร์ทนีย์คุม อย่าถามผมว่าชอบหน้าไหนมากกว่ากัน เพราะผมจะตอบแบบซื่อตรงว่าเท่ากัน ความยอดเยี่ยมของแต่ละเพลงคงไม่ต้องสาธยายกันอีก ถ้าคุณเคยฟังคุณคงทราบดี แต่ถ้าไม่เคย, ผมคงไม่สปอยล์มันตรงนี้

จากชื่อเพลงที่เหมือนประกาศการทำงานร่วมกันอีกครั้งใน Come Together จนถึงเพลงสุดท้ายที่"สุดท้าย"เสียออกนอกหน้าใน The End นี่คือการเขียนบทที่ทรงพลังที่สุดของพระเจ้า ในที่สุดตำนานบทนี้ก็จบลงแบบ happy ending

ความรักไม่ใช่คณิตศาสตร์ แต่ถ้ามันจะมีสมการสักสมการที่ไว้อธิบาย The Beatles ตั้งเอาไว้ให้แล้วในประโยคสุดท้ายในเพลงสุดท้ายของพวกเขา ที่เป็นคำตอบว่าทำไม The Beatles ถึงเป็นที่รักท่วมท้นเหลือเกิน......
ในท้ายสุดแล้ว รักที่คุณจะได้รับ=รักที่คุณได้สร้าง

Goodbye, PRESENCE.

#2 Pink Floyd :: Dark Side of the Moon (1973)

\
อะไรมันจะอมตะและยิ่งใหญ่ขนาดนี้? สำหรับมาสเตอร์พีซของโปรเกรสซีฟร็อค Dark Side of the Moon ตอบแบบกำปั้นทุบดิน--มัน perfect!

ความสมบูรณ์แบบ ณ ที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความ extreme ในทุกๆมิติ แต่เป็นความลงตัวกลมกล่อมไม่ขาดไม่เกินที่น้อยอัลบั้มนักจะทำได้

แม้คุณจะไม่ได้สนใจเนื้อหาของมันจริงจังนัก แต่แค่เสียงดนตรีและซาวด์เอ็ฟเฟ็ค มันก็จะสามารถพาคุณไปกับความลึกล้ำของมันได้ มันไม่ใช่เอ็ฟเฟ็คที่ใส่เข้ามาให้เร้าใจโครมคราม แต่ทุกเสียงถูกไตร่ตรองและประดิดประดอยมาอย่างดีก่อนนำมาประดับ บางเสียงถึงกับเป็นส่วนหนึ่งของดนตรี เช่นเสียงนาฬิกาใน Time หรือท่อนริฟฟ์เครืองคิดเงินใน Money ยังไม่รวมเสียงพึมพำสารพัด เสียงหัวเราะจิตๆ (ของโรเจอร์) ที่สอดแทรกเข้ามาสร้างบรรยากาศอย่างเหมาะเจาะ

เมื่อพูดถึงความลึกล้ำ....มันเป็นความลึกล้ำที่พอจะเข้าถึงได้.... หรือไม่ก็ทำให้คุณ"คิดว่า"เข้าถึงได้

มันมีความไพเราะ ไม่ใช่ไพเราะแบบ The Beatles หรือ Simon & Garfunkel แต่เป็นความไพเราะแบบซับซ้อนของ Progressive Rock ที่อย่างน้อยก็ทำให้"ขาจร"ของแนวเพลงนี้ก็ยังรับมันได้สบายๆ

ฝีมือ... แม้ทั้ง 4 จะไม่ใช่นักดนตรีที่ได้รับการยกย่องว่าถึงระดับเทพเจ้า (อาจจะยกเว้น Gilmour คนหนึ่ง) แต่ performance และการร้อง (ทั้งนำและประสาน) ของพวกเขาก็เพียงพอเหลือเฟือในการถ่ายทอดบทเพลงใน Dark Side....

การบันทึกเสียง.. แม้จะฟังในทุกวันนี้ พวกเราก็ยังอิ่มเอมไปกับสุ้มเสียงอันหนักแน่นเต็มไปด้วยรายละเอียด และคงความเป็นอนาล็อกอย่างน่าทึ่ง... ขอบคุณ Alan Parsons และ Chris Thomas

ความสนุกของดนตรีโปรเกรสซีพอย่างหนึ่ง คือการถอดรหัส ตีความ เนื้อหาและดนตรีในแต่ละอัลบั้ม ใน Dark Side ไม่ได้ใช้ถ้อยคำเลิศหรูยากเข็ญ เรื่องราวก็ดูเหมือนจะเป็นสัจธรรมในชีวิตธรรมดาๆ แต่ความอัจฉริยะของพวกเขา (วอเตอร์ส) อยู่ที่การทำให้มันเป็นดนตรีปลายเปิด ที่อาจจะตีความไปได้สารพัด ในถ้อยคำง่ายๆนั้น

และนี่คือ the way I see the dark side of the moon.... ที่ก็เป็นแค่การตีความของแฟนเพลงคนหนึ่งที่ฟังมันมาหลายสิบปี.....

speak to me
หัวใจเริ่มเต้น เสียงจากภายนอก แทรกซึมเข้ามาถึงโสตของคุณ คุณไม่เข้าใจมัน เสียงเหล่านี้คุณจะได้ยินมันอีกในเวลาข้างหน้า ว่ากันว่าก่อนตายเราจะได้เห็นภาพทั้งหมดในชีวิตย้อนกลับมาฉายอย่างรวดเร็วให้ชมอีกครั้ง แต่เสียงที่ได้ยินนี้ มันเหมือนกับการ flash-back ล่วงหน้าให้คุณก่อน คุณกรีดร้อง

breathe (in the air)
คุณเริ่มสูดอากาศเข้าไปในชีวิต และเริ่มน้อมรับกฎไม่ธรรมชาติที่สังคมครอบงำใส่ จินตนาการ? มันไม่มีอยู่จริง สิ่งที่คุณสัมผัสได้ นั่นคือของจริง นั่นคือสิ่งที่คุณต้องทำ

on the run
วุ่นวาย วิ่งวน วิ่งวุ่น แม้จะพินาศไปหมดแล้ว คุณก็ยังวิ่งอยู่

time
เวลา..มันจะเตือนคุณเมื่อสายไปแล้ว

the great gig in the sky
เส้นบางๆระหว่างความสุขสมและความทรมานสาหัส คุณรู้ถึงความตายที่รอคุณอยู่ แต่อะไรกันแน่ที่คุณพรั่นพรึง ความตาย หรือ ชีวิต?

money
ไม่ต้องตีความ ไม่มีสัญลักษณ์ เพราะเงินคือสัญลักษณ์ในตัวมันเอง

us and them
สรรพนามในสถานะ"กรรม" ความแตกต่าง ด้านตรงกันข้าม เอาเข้าจริง ใครตัดสิน และมันมีค่าพอไหมกับการไฟต์?

any colour you like
คุณมีสิทธิ์ที่จะเลือก อะไรก็ได้ ไม่ว่าคุณจะเลือกอะไร จุดจบก็เหมือนกัน

brain damage
ความผิดแผก คิดไม่เหมือนคนอื่น บ้าหรือ? เสียสติหรือ? ไม่เป็นไร ไม่ต้องตะโกนหาใคร เราไปรอเจอกันที่อีกด้าน ด้านมืดของดวงจันทร์

eclipse
ทุกอย่างเป็นไปตามกรรม แต่อย่าลืมนะ ว่าบางทีอะไรๆก็อาจจะไม่เป็นอย่างทีมัน"ควรจะ"เป็น..... หัวใจยังเต้น แต่ช้าลง...เบาลง....

-------------
จริงๆแล้วมันไม่มีหรอก ด้านมืดของดวงจันทร์น่ะ
จะว่าไป มันก็มืดทั้งหมดนั่นแหละ
ผมไม่รู้สินะ ตอนนั้นผมเมามากจริงๆ

#3 Derek and the Dominos :: Layla and other Assorted Love Songs (1970)


บทคัดย่อ : Layla เป็นงานที่กลั่นออกมาจากหัวใจที่ปวดร้าว เล่นด้วยนักดนตรีฝีมือเก่งขั้นเทพลงมาแสดงปาฏิหาริย์ และทีมดนตรีที่เข้าขากันด้วยการแจมต่อเนื่องยาวนาน มันคือปรากฏการณ์ครั้งหนึ่งในโลกดนตรีที่ไม่ได้มีบ่อยๆ
-------
เมื่อผู้ชายสักคน ไม่อาจได้รับการสนองตอบในรักที่เขาโหยหา
ถ้าเขาเป็นคนธรรมดา ก็อาจจะชวนเพื่อนมานั่งกินเหล้าปรับทุกข์
ถ้าเขาเป็นวัยรุ่นขี้ยา เราอาจจะได้เห็นชือของสาวคนนั้นถูกพ่นตามกำแพง
ถ้าเขาเป็นกวี แน่ล่ะ ต้องมีบทกลอนอันปวดร้าวออกมาจากหัวใจและปลายปากกาของเขา
และถ้าเขาเป็นนักกีต้าร์ บลูส์แมน อย่าง Eric Clapton ล่ะ
คำตอบชัดเจน เขาต้องทำอัลบั้มอันแสนเศร้าเพื่อระบายความทุกข์ระทมนั้น
และLayla and other assorted love songs คืออัลบั้มนั้น
คนระดับ Eric Clapton ถ้าจะไปชอบพอหญิงคนไหนในยุคนั้น
คงจะไม่ยากเข็ญอะไรนักที่เขาจะเอาชนะใจ
แม้ว่าหล่อนจะเป็นภรรยาของเพื่อนก็ตามที
แต่นี่ดันเป็นเพื่อนรัก
และเพื่อนรักคนนั้นไม่ใช่ระดับธรรมดา เขาคือ Beatle George Harrison
เรื่องเหล่านี้คือตำนาน
--------------
Layla คืองานคลาสสิกของวงการร็อคแอนด์โรลอย่างไม่มีใครจะเถียง แต่ตอนมันออกมาใหม่ๆในปี 1970 อัลบั้มนี้คว่ำไม่เป็นท่า ทั้งยอดขายและคำวิจารณ์ เพราะไม่มีใครรู้ว่า Derek คือ Eric Clapton และแคลปตันก็คิดว่างานนี้มีความดีพอที่จะขายได้ด้วยตัวของมันเอง เขาคิดผิดถนัด แต่ในที่สุดโลกก็เริ่มรับรู้ว่าอะไรเป็นอะไร และมันก็ไต่เต้าไปอยู่ในสถานะที่มันคู่ควรในที่สุด

Derek and the Dominos ประกอบไปด้วยตัวแคลปตัน (ร้อง, กีต้าร์) และอีกสามอดีตสมาชิกของ Delaney and Bonnie คือ Bobby Whitlock (ร้อง, คีย์บอร์ด) , Carl Radle (เบส), Jim Gordon (กลอง) รวมทั้งแขกรับเชิญอีก 1 ท่านคือ Duane Allman ยอดมือกีต้าร์จาก The Allman Brothers Band Layla and other Assorted Love Songs คือสตูดิโออัลบั้มชุดเดียวของพวกเขา แต่นั่นก็เพียงพอกับการที่จะเป็นตำนาน มันคืองานที่ผสมผสานแนว Memphis Soul, Country, Blues, Rock and Roll ไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืนและไม่เหมือนใคร ด้วยฝีมือของนักดนตรีที่เอกอุและเข้าขากันอย่างเหลือเชื่อ ฝีมือริธึ่มเซ็กชั่นของ Carl และ Jim นั้นเรียกว่าไม่แพ้ใครในรุ่นเดียวกัน (แคลปตันเคยชมว่าจิมเป็นมือกลองที่ดีที่สุดที่เขาเคยเล่นด้วยมา) และเสียงร้องของ Bobby ที่ตะเบ็งแข่งและสลับกับแคลปตันก็สร้างอารมณ์ในแบบเพลงของ Sam & Dave ได้ไม่เลว ส่วนตัวแคลปตันเองก็ไม่เคยร้องเพลงได้อารมณ์เท่านี้มาก่อน และฝีมือกีต้าร์ของเขาก็สุดเสียงสังข์ไม่แพ้ยุค Cream หรือสมัยเล่นกับ John Mayall เลย
หลังจากผิดหวังกับ Blind Faith ซุปเปอร์กรุ๊ปวงใหม่ของเขาที่ไปได้แค่อัลบั้มเดียว แคลปตันก็หันไปสนุกสนานกับการแจมและออกทัวร์กับทีมนักดนตรีอเมริกันที่เคยเป็นวงเปิดให้ Blind Faith: Delaney and Bonnie และต่อมา Delaney ก็เชียร์ให้เขาออกอัลบั้มเดี่ยว (เสียที) โดยเขาจะช่วยแต่งเพลงและโปรดิวซ์ให้ ผลที่ได้คืองานโซโลชุดแรกของแคลปตันในชื่อ Eric Clapton ดูเหมือนเขาจะกลายมาเป็นศิลปินเดี่ยวอย่างเต็มตัว

แต่แล้วเมื่อเขาทราบว่าลูกวงของ Delaney แตกกระเซ็นในเวลาต่อมา แคลปตันก็ไม่รีรอที่จะเปิดอ้อมแขนรับ Bobby, Carl และ Jim เข้ามาร่วมวงด้วย ทั้งสามย้ายมาปักหลักที่บ้านของแคลปตันกันเลยทีเดียว และเริ่มต้นแจมกันอย่างไม่รู้เดือนรู้ตะวัน เคมีของเขาทั้ง 4 เข้ากัน รวมทั้งสารเคมีจากภายนอกทั้ง up และ down ที่เติมเต็มเข้ามาตลอดการเล่นดนตรี

ในอีกด้านหนึ่งของชีวิตที่ดำเนินไปพร้อมๆกัน แคลปตันเริ่มตกหลุมรัก Pattie ภรรยาของ George Harrison เพื่อนรักมาได้พักหนึ่งแล้ว เขาแอบสังเกตว่าชีวิตแต่งงานของจอร์จและแพ๊ตตี้ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก พระเจ้าแห่งกีต้าร์ได้พยายามหาโอกาสจีบเมียเพื่อนอยู่เนืองๆ แต่แพ๊ตตี้ก็ไม่ใจอ่อนเสียที บทเพลงที่เขาแต่งในอัลบั้มนี้เป็นการระบายความในใจที่อัดอั้นให้แพ๊ตตี้ล้วนๆ

การบันทึกเสียงครั้งแรกของพวกเขาคือมาเล่นแบ็คอัพให้ George Harrison ในอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของจอร์จ All Things Must Pass ที่โปรดิวซ์โดย Phil Spector โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือฟิลต้องโปรดิวซ์ซิงเกิ้ลให้พวกเขา 1 แผ่น ผลงานที่ออกมาคือ Roll It Over (จอร์จเล่นกีต้าร์ด้วย) และ Tell The Truth มันเป็น rock and roll-blues ในแบบ wall of sound ที่ยอดเยี่ยมทีเดียว น่าเสียดายที่การร่วมงานของฟิลและ Derek and the Dominos จบลงแค่นี้ (Tell The Truth ถูกนำมาเล่นอีกครั้งใน Layla ในการเรียบเรียงที่ต่างกันกับเวอร์ชั่นนี้มากมาย)

แคลปตันพาลูกวงไปที่ Criteria Studios ในไมอามี่ เพื่อบันทึกเสียง LP ชุดแรก พวกเขาพกฝีมือและความเมามายไปเต็มเปี่ยม แต่บทเพลงในมือยังมีไม่มากนัก จึงต้องอาศัยเพลงบลูส์เก่าๆมาเป็นวัตถุดิบด้วย Duane Allman เข้ามาเสริมทีมภายหลัง หลังจากแคลปตันดอดไปดูเขาแสดงแล้วชวนมาแจมด้วยและจีบมาทำอัลบั้มด้วยในที่สุด Duane ไม่ได้เล่นทุกเพลงในอัลบั้ม และเมื่อเราฟังเพลงที่ไม่มี Duane (3 เพลงแรกใน LP) ก็จะพบว่าแคลปตันและลูกวง “เอาอยู่” อยู่แล้ว แต่เพลงที่ยอดนักสไลด์เข้ามาเล่นด้วย ยิ่งยกระดับความยิ่งใหญ่ของบทเพลงขึ้นไปอีก แคลปตันนั้นเป็นที่รู้กันว่าเขาจะเล่นดีขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อมีนักกีต้าร์มือดีๆมาประกบด้วย คงไม่มีตัวอย่างไหนเห็นได้ชัดกว่าในอัลบั้มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการโซโลไฟลุกใส่กันแบบไม่ยั้งใน Why Does Love Got To Be So Sad, บลูส์หลุดโลก Key To The Highway หรือไทเทิลแทร็คที่แคลปตันและ Duane แข่งกันสไลด์อย่างเมามันบนท่อนริฟฟ์บันลือโลกนั้น และเพลงเผยความในใจที่แสนระทม Have You Ever Loved A Woman เขาทั้งสองยังร่วมกันเล่น Little Wing ของ Jimi Hendrix ในแบบที่เจ้าของเพลงถ้าได้ฟังคงต้องภูมิใจ (แต่เฮนดริกซ์ไม่เคยได้ฟัง เขาตายเสียก่อน)

แคลปตันสุดจะประทับใจในฝีมือของ Duane และชวนเขามาเป็นโดมิโนตัวที่สี่อย่างเป็นทางการและเต็มตัว แต่ Duane ไม่เอาด้วย เพราะเขามี”ครอบครัว”แล้ว นั่นก็คือ Allman Brothers แต่ Duane ก็เสียชิวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในอีก 1 ปีถัดมา

หลังจากอัลบั้มชุดแรกขายไม่ดีนัก พวกเขาก็กลับมาเข้าห้องอัดกันที่ Olympic Studios ในปี 1971 เพื่อบันทึกเสียงอัลบั้มชุดสอง แต่ทำกันไปได้แค่กี่เพลงวงก็แตก ด้วยสาเหตุของการใช้ยาอันหนักหน่วงของแต่ละคนอันนำมาซึ่งความหวาดระแวงและการทะเลาะเบาะแว้งในที่สุด ยังดีที่ยังมี่การบันทึกเสียงเอาไว้ได้บางส่วนที่ฟังดูแล้วก็ไม่เลวทีเดียว เช่น Snake Lake Blues, Evil, Mean Old Frisco, One More Chance และเพลงที่น่าจะดีที่สุดในเซสชั่น Got To Get Better In A Little While ต้องบอกว่าน่าเสียดายจริงๆครับที่พวกเขาไม่อาจอยู่กันทำต่อจนเสร็จ

แคลปตันเคยเชิญแพ็ตตี้มานั่งฟังอัลบั้มนี้ที่บ้านหลังจากบันทึกเสียงเสร็จใหม่ๆ หวังว่าจะทำให้เธอใจอ่อนยอมมาอยู่กับเขาด้วยพลังของบทเพลงที่เขาสร้างเอาไว้ แพ๊ตตี้รู้สึกทึ่ง แต่ก็ไม่ถึงขั้นจะทิ้งสามีมาอยู่กับเขา แคลปตันขู่ว่าถ้าไม่มาเขาจะเสพเฮโรอีนแบบ full-time แพ๊ตตี้ได้แต่ยิ้มๆ และแคลปตันก็ทำตามนั่น ชีวิตเขาดำดิ่งลงไปในความมืดอีกสามปีเต็ม

Layla เป็นงานที่กลั่นออกมาจากหัวใจที่ปวดร้าว เล่นด้วยนักดนตรีฝีมือเก่งขั้นเทพลงมาแสดงปาฏิหาริย์ และทีมดนตรีที่เข้าขากันด้วยการแจมต่อเนื่องยาวนาน มันคือปรากฏการณ์ครั้งหนึ่งในโลกดนตรีที่ไม่ได้มีบ่อยๆ

#4 The Beatles :: Revolver (1966)


"ผลการทดลองปรากฏว่า....."

Revolver อัลบั้มที่ 7 ของ The Beatles ซึ่งถ้าจะนับจริงๆมันเป็นอัลบั้มที่เจ็ดในช่วงเวลาแค่ 3 ปีเท่านั้นนับจากแผ่นลองเพลย์แผ่นแรก Please Please Me ตอนต้นปี 1963 สามปีที่ผ่านมาแม้จะไม่ได้อยู่ในห้องอัดเสียงกันนานนักแต่พวกเขาก็ได้เรียนรู้อะไรต่างๆมากมายในสตูดิโอนับจากวันแรกที่แม้แต่ใส่หูฟังเล่นกีต้าร์ไปด้วยก็ยังทำไม่ค่อยถนัด จวบจนวันนี้ที่พวกเขาถึงขั้นชี้นิ้วสั่งวิศวกรบันทึกเสียงได้

จะบอกว่า Revolver เป็นงานแนว"ทดลอง"ของสี่เต่าทองก็ว่าได้ มันเป็นการทดลองที่มีสมมุติฐานง่ายๆว่า ดนตรีป๊อบ-ร็อคนั้นไม่มีพรมแดนใดๆที่จะก้าวข้ามไปไม่ได้ พวกเขาลองอะไรแปลกๆหลายอย่างในการบันทึกเสียง ดนตรีในแต่ละเพลงก็หลากหลายไปคนละแนวแทบจะสิ้นเชิง ด้านเนื้อหาก็ทำได้น่าสนใจ ใช้คำสั้นกระชับและมีมุมมองที่ไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อนในแทบทุกเพลง

หน้าปกเป็นฝีมือภาพลายเส้นของ Klaus Voorman เพื่อนเก่าสมัยเยอรมันของพวกเขาผนวกกับงานตัดปะ collage ที่เคลาส์ทำเอง เป็นปกอัลบั้มของ Beatles ที่ผมว่า cool ที่สุดแล้วครับ คือมันอาจจะไม่อลังการเท่า Sgt. Pepper's หรือคลาสสิกแบบ Abbey Road แต่มันเท่น่ะ...

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกที่ผมจะรู้สึกอย่างเดียวกันกับตัวงานดนตรีข้างใน

จอร์จ แฮริสันไม่ค่อยได้มีบทบาทนักในฐานะนักแต่งเพลงในวง แต่งานนี้เพลง Taxman ของเขากลับได้รับเกียรติตัดริบบิ้น เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวกับคนขับแท็กซี่ แต่ต่อว่าการขูดรีดภาษีของรัฐบาลอังกฤษยุคนั้นได้อย่างมันส์ปากเขาล่ะ ว่ากันว่าจอห์นมีส่วนช่วยเขียนเนื้อด้วยบางส่วน เสียงเบสของพอลโดดเด่นขึ้นกว่างานเก่าๆอย่างชัดเจน (อาจเป็นเพราะเขาเปลี่ยนมาใช้ rickenbacker หรืออาจเป็นเพราะฝีมือเอ็นจิเนียร์คนใหม่-Geoff Emerick) แถมท่อนโซโลกีต้าร์พอลก็ยังรับบทนำอีก (ข่าววงในบอกว่าจอร์จพยายามเล่นอยู่หลายชั่วโมงแต่ไม่เวิร์ค ก็เลยต้องให้พอลลองบ้าง ซึ่งเขาทำได้อย่างง่ายดาย สร้างความเซ็งให้จอร์จพอสมควร) จอร์จยังได้โควต้าอีกสองเพลง เขาส่งเพลงแขกเต็มตัว Love You To เข้าประกวด จอร์จเล่นซีต้าร์ ริงโก้เคาะแทมโบรีน ร่วมกับนักดนตรีอินเดียอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนอีกเพลงของจอร์จไปโผล่ที่หน้าสอง I Want To Tell You

ฝีมือการแต่งเพลงของพอล แมคคาร์ทนีย์รุดหน้าเข้าขั้นเทพเจ้า แต่ละเพลงในอัลบั้ม Revolver ของพอลเหมือนจะพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง Eleanor Rigby ที่เล่นกับเครื่องสายและเนื้อหาอย่างกล้าหาญ Here, There And Everywhere เป็นคลาสสิกป๊อบที่ทั้งจอห์นและพอลก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเพลงที่ดีที่สุดของพอล Yellow Submarine เพลงsing-along ที่ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ ฟังครั้งเดียวก็ต้องร้องตามได้ ริงโก้รับบทร้องนำ กลางเพลงพวกเต่าทองเล่นกับซาวนด์เอ็ฟเฟ็คกันสนุก Good Day Sunshine เพลงง่ายๆของพอลที่แต่งและบันทึกเสียงกันอย่างรวดเร็วเป็นเพลงเปิดหน้าสอง For No One บัลลาดคลาสสิกแสนเศร้า โดยเฉพาะเสียงเฟรนช์ฮอร์นหม่นหมองนั่น (อลัน ซีวิลเป็นคนเป่า ปกติเขาเป็นนักดนตรีคลาสสิกวง Philharmonia พอมาเป่าเพลงนี้เขาก็ดังไม่รู้เรื่องไปเลย) พอลเล่นกับเครื่องเป่าอีกครั้งในเพลงที่ออกจะฟังกี้หน่อยๆ Got To Get You Into My Life ซึ่งพอลอุทิศให้ที่รัก...กัญชา พอลเริ่มต้นเครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิตกับทรัมเป็ต นั่นอาจจะทำให้เขากลับมาเล่นกับพวกเครื่องเป่าอยู่หลายครั้งในดนตรีของ Beatles

จอห์น เลนนอน เพลงของเขาอาจจะมีคุณค่าหรือความงดงามทางดนตรีสู้พอลไม่ได้ แต่หลายเพลงใน Revolver เขาก็ขโมยซีนไปไม่น้อย ตั้งแต่เพลงยานคางที่มีกีต้าร์ย้วยยอกย้อน I'm Only Sleeping ร็อคดิบๆเจือกีต้าร์โทนอินเดีย She Said She Said (ริงโก้ฟาดกลองได้ราวกับ Elvin Jones) ป๊อบไร้สาระแต่ทำนองสุกสว่างอย่าง And Your Bird Can Sing (เพลงนี้ตัวจอห์นเองเกลียดมาก) หรือจะเป็นเพลงอุทิศให้พ่อค้ายาอย่าง Dr. Robert อันมีเสียงประสานหลอนโคตร

และเพลงสุดท้าย Tomorrow Never Knows ก็คือมหากาพย์แห่งการทดลองทางกการบันทึกเสียงแห่งยุค พวกเขาประเคนความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีล่าสุด ณ ตอนนั้นลงไปในเพลงนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำดับเบิลแทร็คเสียงร้องแบบเทียม การส่งผ่านเสียงร้องผ่านลำโพงของออร์แกนเพื่อให้ฟังดูเหมือนองค์ดาไลลามะส่งเสียงเทศน์ลงมาจากยอดเขาตามที่จอห์นปรารถนา การเล่นกับเทปลูปอย่างเมามัน แถมเนื้อหาฟังแล้วอยากจะฉีดเอฟรีดินเข้าปากคนร้องให้ตายๆไปซะ!

ถ้า Revolver เป็นงานทดลอง ผลการทดลองที่ได้ก็คงเป็นไปตามสมมุติฐานครับ พวกเขาก้าวข้ามพรมแดนไปได้ทั้งหมด มันเป็นอัลบั้มที่แสดงให้โลกรู้ว่า จงกล้าที่จะทำตามจินตนาการอันเพริดแพร้วนั้นเถิด แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำ หรือแม้แต่เคยคิดมาก่อน

#5 The Beatles :: Rubber Soul (1965)



(หมายเหตุ : เพิ่งไปค้นเจอรีวิวเก่าๆนี้ที่เขียนไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ สบายไปเลยผม)

The Beatles
Rubber Soul (Parlophone)
7.8/10
หลายๆเพลงในอัลบั้ม Help! ชี้ให้เห็นว่า The Beatles กำลังก้าวไปในทิศทางใด (และนั่นคือทิศทางของวงการดนตรีปัจจุบัน) เพลงร็อคแอนด์โรลสนุกๆลดน้อยลง ที่เพิ่มเข้ามาคือป๊อบ บัลลาด และ โฟล์คที่ละเมียดละไม มุมมองใหม่ๆในการเขียนเพลงเช่นใน Help! และ You’ve Got To Hide Your Love Away เค้าที่เห็นรางๆใน Help! ปรากฏชัดใน Rubber Soul อัลบั้มชุดที่หกในรอบสองปีของพวกเขา ซึ่งออกมาพร้อมกับซิงเกิ้ลดับเบิ้ลเอ-ไซด์ Day Tripper / We Can Work It Out (ซึ่งทั้งสองเพลงไม่อยู่ใน Rubber Soul) Day Tripper เป็นร็อคแบบ rave-up ที่มีท่อนริฟฟ์โดดเด่น น่าจะเป็นเพลงที่เหมาะสำหรับการเล่นแสดงสด ตรงข้ามกับ We Can Work It Out จอห์นกับพอลร้องสลับกันคนละท่อน เนื้อหากล่าวถึงการแก้ปัญหาด้วยการรับฟังกันและกัน จังหวะ-ดนตรีทำได้น่าสนใจมาก เพลงนี้สามารถนำไปใส่ไว้ใน Rubber Soul ได้สบายๆ

เมื่อเทียบกับเพลงในซาวด์แทร็ค Help! (ที่ออกเมื่อต้นปี-และไม่ต้องพูดถึงตัวหนังที่ออกจะเลอะ) แล้ว Beatles มีพัฒนาการขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ พวกเขาบันทึกเสียง Rubber Soul กันในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน และอัลบั้มก็ออกมาอย่างรวดเร็วในเดือนธันวาคมนี้เอง แต่ความเนี้ยบของงานในแต่ละเพลงนั้นมันเหมือนกับการประดิดประดอยนานนับปี ความเอาใจใส่ในการบันทึกเสียง การเรียบเรียงเสียงร้องและการวางเสียงเครื่องดนตรีทำได้อย่างน่าชื่นชม ที่สุดของความเยี่ยมต้องยกให้การแต่งเพลงของเลนนอน-แมคคาร์ทนีย์ที่ยังมีจุดเด่นที่เมโลดี้อันงดงามแต่คราวนี้พวกเขาเพิ่มความลึกซึ้งและวิธีการคิดที่แปลกใหม่ในการเขียนเนื้อหาซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เชื่อว่าหลายต่อหลายเพลงใน Rubber Soul ต้องกลายเป็นเพลงคลาสสิกของวงการในอนาคต

Drive My Car เป็นเรื่องปกติที่ Beatles จะเปิดอัลบั้มด้วยเพลงจังหวะคึกคัก เพลงนี้เด่นด้วยจังหวะกระตุกๆจาก cowbell จอห์นและพอลประสานเสียงกันแบบแปร่งๆแต่ก็มีเสน่ห์ดี เนื้อหายอกย้อนกว่าที่คิดและมีลูกฮาตอนจบ จอร์จกีต้าร์ได้อารมณ์

Norwegian Wood เนื้อหาออกอีโรติกแต่ทำนองออกไปทางอราบิค ดนตรีเน้นอคูสติก จอห์นร้องนำ จอร์จโซโลเครื่องดนตรีอินเดีย “ซีต้าร์” ให้อารมณ์ที่ลึกลับวังเวง (น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีคนนำเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาใช้ในเพลงป๊อบ)

Nowhere Man จอห์นพอลจอร์จร้องร่วมกัน เนื้อหาฟังดูกวนๆและวกวน ‘Nowhere man making his nowhere plans for nobody’ ทำนองยังเยี่ยม

จอร์จ แฮริสันแต่งสองเพลงในแผ่นนี้คือ Think For Yourself ที่พอลเล่นฟัซซ์เบสได้น่าฟังและ If I needed someone น่าจะเป็นเพลงที่ดีที่สุดของจอร์จที่เขาเคยแต่งมา กีต้าร์พริ้วเด่นมาก (บางคนบอกว่าคล้าย The Byrds)

พอลยังคงสร้างบัลลาดชั้นเยี่ยมตาม And I Love Her และ Yesterday ออกมาอีก คราวนี้คือ Michelle ที่เขาร้องภาษาฝรั่งเศสในบางท่อนด้วย ท่อนคอรัสง่ายๆที่ร้องว่า I Love You, I Love You, I Love You นั้นจับใจได้อย่างง่ายดาย

ในหน้าสองยังมีเพลงอ้อยสร้อยเพราะๆอีกสองเพลงคือ Girl จอห์นร้องในจังหวะวอลซ์ (ท่อนสร้อยสุดสร้างสรรค์ด้วยเสียงสูดหายใจเข้าเต็มปอดหลังร้องคำว่า Ah,,, Girl…Girllll….) และ In My Life บัลลาดหวนหาอดีต จอห์นร้องเช่นกัน จอร์จ มาร์ตินเล่นเปียโนโซโลท่อนกลาง (เสียงคล้าย Harpsichord)

Rubber Soul เป็นงานที่เติบโตขึ้นของเด็กหนุ่มจากลิเวอร์พูล พวกเขาดูจะยังเต็มไปด้วยไอเดียใหม่ๆในการสร้างสรรค์บทเพลง และแฟนๆก็ไม่น่าจะผิดหวังกับมันแต่อย่างใด

น่าจับตามองต่อไปสำหรับก้าวต่อไปของพวกเขาครับ

#6 Led Zeppelin :: BBC Sessions (1997)

ถ้ามีแฟน Led Zep ผู้ใดกวาดสายตามองชื่อเพลงใน BBC Sessions แล้วรำพึงว่า อืมม์ มีเพลงที่ไม่คุ้นตาอยู่สองเพลงเอง ที่เหลือเราก็มีหมดแล้ว ไม่ซื้อดีกว่า มันผู้นั้นสมควรถูกนำไปประหาร ประหารออกจากความเป็นแฟนของ Led Zep!

เพราะแฟนของวงนี้ย่อมต้องรู้ว่า Zep เป็นหนึ่งในวงร็อคที่ improvise ได้ระเบิดระเบ้อที่สุด พวกเขาสามารถเล่นเพลงเดียวกัน ด้วยความยาวเท่ากัน แต่การเรียบเรียงแตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง และที่เรียกว่า"การเรียบเรียง"นั้น ไม่ใช่พวกเขาจะมานั่งเขียนสกอร์ แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นโดยคีตปฏิภาณสดๆบนเวที ไม่เกินเลยไปหรอก ที่จะบอกว่า แม้แต่พวกเขาเองก็ไม่รู้ ว่าการบรรเลงเพลงร็อคในคืนนี้ มันจะยืดยาวเลยเถิดกันไปขนาดไหน ดังนั้น แม้จะฟังเพลงเหล่านั้นจนปรุมาแล้วจากเวอร์ชั่นสตูดิโอ ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะไม่ได้ยินอะไรใหม่ๆจาก BBC Sessions นี้

ครับ.... บันทึกการแสดงจาก BBC Sessions นี้เป็นหลักฐานยืนยันถึงตำนานในการเล่นสดของพวกเขา หลายๆแทร็คเล่นได้"ถึงใจ"กว่าใน studio version เป็นไหนๆ ความเนี้ยบของการบันทึกเสียงอาจจะสู้ไม่ได้ แต่ความมีชีวิตชีวา,ความคิดสร้างสรรค์ และพลัง... มันทำให้ผมกลับไปฟังสองอัลบั้มแรกของ Zep แทบไม่ได้อยู่หลายปี...!!!

ซีดีแผ่นแรกเป็นบันทึกการแสดงกึ่งไลฟ์ในสตูดิโอของ BBC ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 1969 และออกอากาศในหลายๆรายการของ BBC--Top Gear ของ John Peel (สองรอบ) , Chris Grant's Tasty Pop Sundae และ One Night Stand--Playhouse Theatre มันเป็นช่วงหลังจากพวกเขาออกอัลบั้มแรก Led Zeppelin กันมาแล้ว และยังไม่ได้ออกชุดสอง Led Zeppelin II บางเพลงจึงเป็นการพรีวิวอัลบั้มใหม่ไปในตัว

สมาชิกทั้ง 4 อยู่ในฟอร์มสุดยอด โดยเฉพาะ Robert Plant ที่ต้องบอกว่าไม่มีอัลบั้มไหนที่เขาจะร้องได้สุดเสียงสังข์ขนาดนี้ Jimmy Page ก็ร้อนเร่าเหมือนมีเปลวไฟที่ปลายนิ้วตลอดเวลา ลูกโซโล่ของเขาใน Whole Lotta Love เป็นอะไรที่อร่อยหูอย่างที่สุด John Paul Jones แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นทัพหลังที่สำคัญแค่ไหน ด้วยการเดินเบสราวเครื่องจักร และเสริมด้วยออร์แกนที่เล่นราวกับมืออาชีพทางนั้นในบางแทร็ค ส่วน Bonham... เขาก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร แต่ดูเหมือนเอ็นจิเนียร์ของ BBC จะรับมือกับการกระหน่ำของบองโซ่ได้ไม่เต็มที่นัก ก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย!

ในแผ่นแรกนี้ การที่มีบางเพลงซ้ำหลายรอบ เช่น Communication Breakdown (3), You Shook Me (2), I Can't Quit You Baby (2) กลับไม่ใช่สิ่งที่แฟนเพลงควรจะบ่น ตรงข้าม มันเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ความเป็น improvisers ของพวกเขา เพราะแต่ละเพลง แตกต่าง และยอดเยี่ยม อย่างที่ผมเอ่ยมาแล้วตอนต้น

เพลงที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษคือ การนำเพลงบลูส์ของ Robert Johnson มาต่อยอด Traveling Riverside Blues (บันทึกเสียง 16 มิ.ย.1969) และออกอากาศทางรายการ Tasty Pop Sundae ของ Chris Grant ในวันที่ 22 เดือนเดียวกัน ไม่เคยได้ยินใครนำเพลงของ RJ มาเล่นใหม่ได้หนัก และ เท่อย่างนี้ โดยเฉพาะริฟฟ์สไลด์ของเพจ สุดยอดมากๆ

ซีดีแผ่นที่สอง กระโดดไปข้างหน้าอีก ๒ ปี เป็นการแสดงที่ Paris Theatre, London ในวันที่ 1 ก.ค. 1971 เป็นการแสดงแบบจัดเต็ม 10 เพลง และ Led Zeppelin ก็กำลังใกล้จุดสูงสุดของพวกเขา ความบ้าดีเดือดและพุ่งพล่านอาจจะลดน้อยกว่าแผ่นแรก แต่เติมมาด้วยความยิ่งใหญ่เต็มสเกล แค่ได้ยินการเล่น Stairway To Heaven ออกอากาศเป็นครั้งแรกก็คุ้มแล้ว นักวิจารณ์และแฟนๆหลายคน ยกให้แผ่นนี้เป็น Live Album ที่สมบูรณ์ที่สุดของ Zep อ้อ เพจคุยไว้ด้วย ว่าเป็นไอเดียเขา ที่อยากให้มี full concert แบบนี้ออกทาง BBC บ้าง ทำให้ต่อมามีงานแบบนี้อีกมากมายจากศิลปินอื่นๆ

ตอนมันออกมาในปี 1997 แฟนเพลงที่เคยฟังจาก Bootleg มาก่อน อาจจะไม่ตื่นเต้นนัก เพราะมันโด่งดังในตลาดมืดมานานแล้ว แต่ผมไม่เคยฟังหรอก และคุณคงจินตนาการไม่ถูกถึงความช็อคที่ผมเป็นเมื่อฟังมันครั้งแรก ขนาดทำใจไว้แล้วนะนั่น!

ผมเลือก Led Zeppelin ไว้ในลิสต์ 4 ชุด ว่ากันตามหลัก BBC ควรจะเป็นของแถมที่อยู่ท้ายสุด แต่เมื่อไตร่ตรองดูแล้ว ผมกลับให้มันอยู่เหนือขึ้นมากว่าทั้ง Led Zep II, IV และ Led Zeppelin และติดอันดับสูงถึง 6 เพราะในความคิดของผม นี่คือ Real Led Zeppelin ที่แสดงฝีมือของพวกเขาออกมาอย่างเต็มอัตราศึกและแท้จริงครับ

(หมายเหตุ--ไม่อ้างอิงถึง The Complete BBC Sessions (2016) เพราะไม่ชอบเสียงอันสะอาดสะอ้านของมัน!--แต่ก็ออร์เดอร์ไปแล้วล่ะ)

#7 Eagles :: Their Greatest Hits 1971-1975 (1976)



ประโยคที่ว่า "ยิ่งน้อยยิ่งมาก" (less is more) คุณคงเคยได้ยิน และหลายคนอาจนำเอาประโยคนี้มาใช้กับอัลบั้มรวมฮิตชุดนี้ของ Eagles ที่มีแค่ 10 เพลง อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเถรตรงจริงๆ มันก็คงไม่ใช่อย่างนั้น ไม่งั้นอัลบั้มนี้คงมีแค่เพลงเดียวก็พอ แต่นี่เป็นกรณีของความพอดี,ความลงตัว และความสมบูรณ์แบบเสียมากกว่า

ปี 1976 ขณะที่พวก Eagles กำลังง่วนทำอัลบั้มใหม่ (Hotel California) กันอยู่ ต้นสังกัดก็มีไอเดียจะปล่อยรวมฮิตชุดนี้ออกมา ด้วยเหตุผลง่ายๆ 2-3 ประการ คือ 1. พวกเขามีเพลงฮิตมากพอที่จะรวมแล้ว 2. เป็นการสรุปงานในยุคของ Bernie Leadon มือแบนโจและกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไป เพื่อก้าวเข้าสุ่ยุคของความเป็นร็อคเต็มตัว แต่เหตุผลที่แท้จริง ก็อาจจะเป็น..... 3. เงิน

ณ เวลานั้น Eagles แต่ละคนไม่ได้ปลื้มอะไรนักกับการรวมเพลงครั้งนี้ โดยเฉพาะ Don Henley ที่คิดว่าการเอาเพลงอย่าง Tequila Sunrise และ Desperado ที่อยู่ใน concept album มาใส่ในรวมฮิตเป็นการทำลายธรรมชาติและลดคุณค่าของบทเพลง แต่ถ้าดอนมองทะลุมาถึงยอดขายในอนาคตของ Their Greatest Hits 1971-1975 เขาคงจะไม่บ่นอะไรมากนัก! เพราะมันขายดีตั้งแต่แรกวางแผง และครั้งหนึ่งเคยเป็น LP ที่ขายดีที่สุดตลอดกาลในสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งถูก Thriller แซงไปหลังการตายของไมเคิล แจ็คสัน อย่างไรก็ตาม ดอนเล่าว่าที่พวกเขาให้ไฟเขียวต้นสังกัดในการออกรวมฮิตนี้เพื่อซื้อเวลาในการทำอัลบั้ม Hotel California และความดังกระฉูดของมันก็เหมือนเป็นการปูพรมรอรับความยิ่งใหญ่ของ Hotel อย่างเหมาะเจาะในช่วงเวลาพอดี

9 ใน 10 เพลงนี้เคยเป็นซิงเกิ้ลของ Eagles มาทั้งหมด และต้องยกย่องให้ใครก็ตามที่ fight ให้เด้ง Outlaw Man ซิงเกิ้ลที่ไม่ดังออกจากงานนี้ และเสียบ Desperado ที่ไม่ใช่ซิงเกิ้ล แต่เป็นเพลง "สำคัญ" ที่สุดเพลงหนึ่งของวงเข้ามาแทนที่ ลองจินตนาการสิครับ ว่ามันจะต่างกันแค่ไหน

มันเป็นงานรวมฮิตที่มหัศจรรย์ ทุกบทเพลงกลมกลืนต่อเนื่องกันอย่างกลมกล่อม ด้วยอารมณ์สดใสและสบายๆในแบบแคลิฟอร์เนียในจินตนาการ ดูเหมือนคนเล่าเรื่องในแต่ละเพลงจะอยู่ในโหมดเอนกายเหนื่อยล้าไม่ยี่หระต่อโลกที่เขาไม่ต้องการจะเห็น เปิดตัวแบบไม่ต้องคิดมากว่าจะเป็นเพลงอื่นไปได้ ด้วยเพลงชาติของคันทรี่ร็อค "Take It Easy" ที่พอได้ยินอินโทรขึ้นมาก็เหมือนกับเป็นการประกาศว่า เอาล่ะ.... Eagles มาแล้ว การเรียงลำดับเพลงทำได้อย่างเหนือชั้น (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ชมไว้ก่อน) เพลงจังหวะ shuffle ฟังสบายๆอย่าง Lyin' Eyes, Tequila Sunrise และ Peaceful Easy Feeling ถูกกระจายไปทั่ว LP ไม่ติดต่อกัน มีเพลงร็อคกีต้าร์แรงๆอย่าง Already Gone และ disco rock โจ๊ะๆแบบ One Of These Nights มาเสริมกำลังทำให้อารมณ์โดยรวมของอัลบั้มไม่แฉะแหมะเกินไป เปิดโอกาสให้เสียงร้องของแรนดี้หนึ่งเพลงใน Take It To The Limit ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้เพลงใดของดอนและเกลน ปิดท้ายด้วยเพลงอันดับ ๑ ที่แสนประทับใจ เพลงรักแสนหวานแสนเศร้า The Best Of My Love

ทั้งหมดนี้ทำให้ Their Greatest Hits 1971-1975 ฟังแล้วดูเหมือนเป็น concept album ของวงดนตรีที่กำลังอยู่ในช่วงพีค มากกว่าจะเป็นงานรวมเพลงเอกธรรมดาๆ

มันเป็นเทป Eagles ม้วนแรกของผมที่มิตรสหายท่านหนึ่งให้หยิบยืมมาแบบยัดใส่มือ (เพราะเธออยากให้ผมชอบวงนี้เสียเหลือเกิน) แต่เนื่องจากมันเป็นเทปพีค็อก ก็เลยมีเพลงแถมมาแทบล้นตลับ กว่าที่จะได้รู้ว่า original ของรวมฮิตนี้มีแค่ ๑๐ แทร็คก็อีกหลายปีต่อมา และผมก็ต้องไปหาซีดีมันมาจนได้ ทั้งๆที่มี ๑๐ เพลงนี้ครบอยู่แล้วจากอัลบั้มดั้งเดิมทุกชุดของพวกเขา และทั้งๆที่ Eagles มีงานรวมเพลงออกมาอีกหลายชุดที่มี ๑๐ เพลงนี้อยู่ในนั้น แต่ก็ไม่มีงานไหนขายได้ดีเท่า Their Greatest Hits 1971-1975

นี่คือ 43 นาทีที่ทรงคุณค่าในการที่จะแนะนำให้คุณรู้จักกับดนตรีคันทรี่ร็อคจากเวสต์โคสต์ และมันก็มีค่าพอที่จะอยู่กับความทรงจำของคุณตลอดไป.... มอบอันดับ ๗ ในดวงใจไว้ให้ครับ